คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6248/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518มาตรา 83 และมาตรา 85 การลงโทษผู้กระทำผิดวินัยที่ยังไม่ถึงขั้นเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง หากเป็นการกระทำผิดวินัยเล็กน้อยอาจลงโทษภาคทัณฑ์ก็ได้ และหากเป็นการกระทำผิดครั้งแรกจะงดลงโทษ โดยว่ากล่าวตักเตือนหรือให้ ทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือไว้ก่อนก็ได้ นอกจากนี้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2521 ได้วางระเบียบในการลงโทษผู้กระทำผิดวินัยของเจ้าหน้าที่พัสดุไว้ในข้อ 8(3) ว่า ถ้าการกระทำไม่เป็นเหตุให้ทางราชการเสียหายให้ลงโทษภาคทัณฑ์หรือว่ากล่าวตักเตือน โดยทำคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้น เมื่อกรณีของโจทก์เป็นการกระทำผิดวินัยขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่พัสดุ โดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2521โดยโจทก์กระทำผิดวินัยไม่ร้ายแรง และไม่ทำให้ทางราชการเสียหาย การลงโทษทางวินัยโจทก์จึงต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ตามข้อ 8(3) ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุพ.ศ. 2521 คือภาคทัณฑ์หรือว่ากล่าวตักเตือน โดยทำคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร การที่จำเลยที่ 2 ลงโทษตัดเงินเดือนโจทก์ร้อยละ 10 มีกำหนด 2 เดือน ซึ่งขัดต่อระเบียบดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า โจทก์ไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 มาตรา 68วรรคหนึ่ง, 73 วรรคหนึ่ง และมาตรา 74 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2521 และให้จำเลยทั้งสองมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งที่ให้ลงโทษตัดเงินเดือนโจทก์ร้อยละสิบ มีกำหนด 2 เดือน
จำเลยทั้งสองให้การว่า คำสั่งลงโทษทางวินัยถึงที่สุดแล้วและจำเลยทั้งสองมีคำสั่งลงโทษโจทก์โดยดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งได้กระทำโดยสุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกเลิกคำสั่งทบวงมหาวิทยาลัย(จำเลยที่ 2) ที่ 170/2536 เรื่อง ตัดเงินเดือนข้าราชการ ที่ให้ลงโทษตัดเงินเดือนโจทก์ ให้จำเลยที่ 2 มีคำสั่งเกี่ยวกับการลงโทษโจทก์เสียใหม่ตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 5 งานธุรการ กองอาคารและสถานที่สำนักงานอธิการบดีของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2532จำเลยที่ 1 มีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษซ่อมแซมรถยนต์ หมายเลขทะเบียน ม-0058 ขอนแก่น โดยมีนายวิเชียร ตงศิริ เป็นประธานกรรมการ และนายเสริมศักดิ์สุขสมรส เป็นกรรมการ ในเดือนพฤษภาคม 2532 โจทก์ได้ลงชื่อในบันทึกข้อความผลการจ้างซ่อมทรัพย์สินโดยวิธีพิเศษตามเอกสารหมาย จ.2 เสนอรองอธิบดีฝ่ายบริหารของจำเลยที่ 1 สรุปใจความว่าคณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษได้ดำเนินการสอบราคาจากบริษัทห้างร้านภายในจังหวัดขอนแก่นซึ่งมีอาชีพรับจ้างซ่อมรถยนต์ตรงตามที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นต้องการแล้วมีผู้สนใจเสนอราคา 3 รายโดยห้างหุ้นส่วนจำกัดขอนแก่น ช.ทวี เสนอราคาต่ำสุด และคณะกรรมการได้ต่อรองแล้ว ห้างหุ้นส่วนจำกัดขอนแก่น ช.ทวียอมลดราคาลงมาในวงเงิน 60,000 บาท จึงขออนุมัติให้จ้างซ่อมรถยนต์หมายเลขทะเบียน ม-0058 ขอนแก่น ในวงเงินดังกล่าวแต่นายวิเชียร ตงศิริ และนายเสริมศักดิ์ สุขสมรส ไม่ยอมลงชื่อในบันทึกดังกล่าวด้วย โดยนายวิเชียรได้รายงานต่ออธิการบดีจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยโจทก์ข้อเท็จจริงปรากฏว่ารถยนต์ หมายเลขทะเบียน ม-0058 ขอนแก่นได้ทำการซ่อมไปก่อนแล้ว จึงขอความเห็นชอบแจ้งซ่อมในวันที่11 เมษายน 2532 และคณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษมิได้เรียกเจ้าของบริษัทห้างร้านมาต่อรองราคาและยังมิได้ดำเนินการอย่างใดตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2521จำเลยที่ 1 จึงมีคำสั่งที่ 2044/2534 ว่าโจทก์กระทำผิดวินัยตามมาตรา 67 วรรคสอง มาตรา 68 วรรคแรก มาตรา 73 วรรคแรก และมาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 ให้ลงโทษลดขั้นเงินเดือนโจทก์ลง 1 ขั้น โจทก์อุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 มีคำสั่งที่ 170/2536 ว่าโจทก์กระทำผิดวินัยตามมาตรา 68 วรรคแรก มาตรา 73 วรรคแรก และมาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 ให้ลดโทษเป็นตัดเงินเดือนร้อยละ 10 มีกำหนด 2 เดือน คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของโจทก์ผิดวินัยตามมาตรา 68 วรรคแรก และมาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 ไม่ผิดตามมาตรา 73 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 ส่วนระดับโทษเห็นด้วยกับจำเลยที่ 2 จึงให้จำเลยที่ 2 แก้ไขคำสั่งให้ถูกต้องจำเลยที่ 2 จึงมีคำสั่งที่ 188/2536 ให้ยกเลิกความผิดโจทก์ตามมาตรา 73 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า การที่จำเลยที่ 2 ลงโทษตัดเงินเดือนโจทก์ร้อยละ 10 มีกำหนด 2 เดือน ชอบหรือไม่ เห็นว่าตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 มาตรา 83ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่โจทก์กระทำผิดวินัยบัญญัติโทษผิดวินัยไว้ 6 สถาน คือ ภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน ลดขั้นเงินเดือน ให้ออก ปลดออก และไล่ออก และในมาตรา 85 บัญญัติถึงการลงโทษผู้กระทำผิดวินัยที่ยังไม่ถึงขั้นเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงไว้ว่า
“ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทำผิดวินัยที่ยังไม่ถึงขั้นเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือนหรือลดขั้นเงินเดือนตามควรแก่กรณีให้เหมาะสมกับความผิดถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อนจะนำมาประกอบการพิจารณาลดโทษก็ได้ แต่สำหรับการลงโทษภาคทัณฑ์ ให้ใช้เฉพาะกรณีกระทำผิดวินัยเล็กน้อยหรือมีเหตุอันควรลดหย่อนซึ่งยังไม่ถึงกับจะต้องลงโทษตัดเงินเดือน
ในกรณีกระทำผิดวินัยเล็กน้อยและเป็นความผิดครั้งแรกถ้าผู้บังคับบัญชาเห็นว่ามีเหตุอันควรลดโทษ จะงดโทษให้โดยว่ากล่าวตักเตือน หรือให้ทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือไว้ก่อนก็ได้
การลงโทษตามมาตรานี้ ผู้บังคับบัญชาใดจะมีอำนาจสั่งลงโทษผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาได้เพียงใด ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ กพ.”จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การลงโทษผู้กระทำผิดวินัยที่ยังไม่ถึงขั้นเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงนั้น หากเป็นการกระทำผิดวินัยเล็กน้อยอาจลงโทษภาคทัณฑ์ก็ได้ และหากเป็นการกระทำผิดครั้งแรกจะงดลงโทษ โดยว่ากล่าวตักเตือนหรือให้ทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือไว้ก่อนก็ได้ นอกจากนี้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2521 ได้วางระเบียบในการลงโทษผู้กระทำผิดวินัยของเจ้าหน้าที่พัสดุไว้ในข้อ 8 ว่า
“เจ้าหน้าที่พัสดุ หัวหน้าส่วนราชการ หรือผู้มีอำนาจสั่งการตามระเบียบนี้ ผู้ใดกระทำการโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติตามระเบียบนี้หรือกระทำการโดยมีเจตนาทุจริต หรือปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ถือว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้นหรือตามกฎหมายเฉพาะของส่วนราชการนั้น ภายใต้หลักเกณฑ์ดังนี้
(1) ถ้าการกระทำเป็นเหตุให้ทางราชการเสียหายอย่างร้ายแรงให้ดำเนินการลงโทษอย่างต่ำให้ออกจากราชการ
(2) ถ้าการกระทำเป็นเหตุให้ทางราชการเสียหายแต่ไม่ร้ายแรงให้ลงโทษอย่างต่ำตัดเงินเดือน
(3) ถ้าการกระทำไม่เป็นเหตุให้ทางราชการเสียหายให้ลงโทษภาคทัณฑ์ หรือว่ากล่าวตักเตือน โดยทำคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร
การลงโทษทางวินัยตาม (1) หรือ (2) ไม่เป็นเหตุให้ผู้กระทำหลุดพ้นจากความรับผิดทางอาญาหรือความรับผิดในทางแพ่งตามระเบียบความรับผิดของข้าราชการในทางแพ่ง (ถ้ามี) แต่อย่างใด”
กรณีของโจทก์เป็นการกระทำผิดวินัยขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่พัสดุ โดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2521 การลงโทษโจทก์จึงต้องเป็นไปตามข้อ 8แห่งระเบียบนี้ ข้อเท็จจริงตามรายงานการสอบสวนทางวินัยของโจทก์เอกสารหมาย จ.4 ได้ความว่าโจทก์กระทำผิดวินัยไม่ร้ายแรง และไม่ทำให้ทางราชการเสียหาย ดังนั้น การลงโทษทางวินัยโจทก์จึงต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ตามข้อ 8(3) ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2521 คือภาคทัณฑ์หรือว่ากล่าวตักเตือนโดยทำคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร การที่จำเลยที่ 2 ลงโทษตัดเงินเดือนโจทก์ร้อยละ 10 มีกำหนด 2 เดือน จึงขัดต่อระเบียบดังกล่าว เป็นการไม่ชอบ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share