คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3772-3775/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินที่ประกาศให้เป็นที่หวงห้ามสำหรับประชาชนใช้เลี้ยงสัตว์สาธารณประโยชน์ จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันการที่โจทก์ออกโฉนดที่ดินโดยอาศัยสิทธิจากการแจ้งการครอบครองภายหลังประกาศดังกล่าว แม้โจทก์จะซื้อมาโดยสุจริตและโฉนดที่ดินยังไม่ถูกเพิกถอนก็ตาม ก็หาทำให้โจทก์มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท เมื่อโจทก์มิได้ครอบครองอยู่ก่อนแล้วจำเลยเข้าแย่งจากโจทก์ จำเลยจึงมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสี่อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยทั้งสี่ต่อสู้คดีว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงเป็นกรณีที่ราษฎรฟ้องกันเองว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ เป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และฎีกาสำนวนละ200 บาท

ย่อยาว

คดีทั้งสี่สำนวนนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกนายไสว หนูคูขุด เป็นจำเลยที่ 1 นายบุญสม รัตนสาร เป็นจำเลยที่ 2 นายสุทัศน์ แสงแก้ว เป็นจำเลยที่ 3 นายพานิช คงศิริ เป็นจำเลยที่ 4

โจทก์ฟ้องทั้งสี่สำนวนในทำนองเดียวกันว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินจำเลยทั้งสี่พร้อมบริวารได้บุกรุกเข้ามาปลูกขนำเพื่ออยู่อาศัยในที่ดินดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาต และได้รื้อถอนทำลายหลักหมุดแสดงอาณาเขตที่ดินดังกล่าวของโจทก์ ขอให้จำเลยทั้งสี่พร้อมบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์และทำให้ที่ดินโจทก์อยู่ในสภาพเดิม ห้ามจำเลยทั้งสี่พร้อมบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องในที่ดินดังกล่าวของโจทก์อีกต่อไป

จำเลยทั้งสี่สำนวนให้การในทำนองเดียวกันว่า ที่ดินทั้งเก้าแปลงที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องนั้นเป็นที่ดินสาธารณะที่จำเลยทั้งสี่กับประชาชนได้ใช้ร่วมกันมาเป็นเวลาประมาณ50 ปี โดยสงบ เปิดเผย มีเจตนาเป็นเจ้าของโดยโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้าน หากที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยทั้งสี่ก็ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้วขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์มีนายทวีศักดิ์ ประทีปอุษานนท์ ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เบิกความเป็นพยานว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 21570 ถึง 21578 ตำบลพะวง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา รวมเนื้อที่ 251 ไร่ 27 8/10 ตารางวา และนายเกษม ศรีคงคา เบิกความว่า เดิมพยานอยู่ที่ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ทางราชการจะให้พยานและชาวบ้านซึ่งอยู่บริเวณดังกล่าวย้ายไปอยู่หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 2 ตำบลพะวง พยานในฐานะตัวแทนชาวบ้านได้ยื่นฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อขอพระราชทานที่ดิน ต่อมาวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2527 ราชเลขาธิการได้มีหนังสือถึงกองทัพภาคที่ 4 ให้จัดที่ดินแก่ราษฎรกองทัพภาคที่ 4 ได้จัดให้พยานและชาวบ้านเข้าอยู่หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 2 ตำบลพะวง รวมประมาณ 700 ครัวเรือน ครัวเรือนละประมาณ 2 ไร่ เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า ไม่มีผู้ใดอาศัยอยู่ใกล้เคียงเป็นที่ดินโจทก์เนื้อที่ 250 ไร่เศษ ซึ่งมีรั้วลวดหนามเสาคอนกรีตล้อมรอบ ส่วนจำเลยทั้งสี่มีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เบิกความเป็นพยานว่า เมื่อปี 2524 จำเลยทั้งสี่เข้ามาอยู่ในที่ดินพิพาทซึ่งทราบว่าเป็นที่สาธารณะ และทางราชการกำลังจะจัดสรรให้ผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยเข้าอยู่ได้คนละ 2 ไร่ ต่อมา จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และผู้ที่อาศัยในที่ดินพิพาทได้ขอให้ทางราชการออกเอกสารสิทธิให้โดยติดต่อที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลาแต่เจ้าพนักงานที่ดินไม่ยอมออกเอกสารสิทธิให้อ้างว่าเป็นที่สาธารณะโดยให้ดูแผนที่ เกี่ยวกับที่สาธารณะนี้นายจ้วน มรรคคา กับพวก ได้เป็นโจทก์ฟ้องจังหวัดสงขลาเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 362 – 368/2532 ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณะ เมื่อประมาณปี 2536 โจทก์แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจกล่าวหาว่า จำเลยที่ 2 และนายวิเชษฐ์ แสงแก้ว บุกรุก จำเลยที่ 2 ให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณะ พนักงานอัยการจังหวัดสงขลามีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยที่ 2 และนายวิเชษฐ์ นอกจากนั้นจำเลยทั้งสี่ยังมีนายชัยรัตน์ เสถียร ปลัดจังหวัดสงขลา ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมืองสงขลาเมื่อปี 2534 ถึงปี 2538 เบิกความเป็นพยานว่าเดิมที่ดินพิพาทเป็นที่สงวนหวงห้ามตามประกาศลงวันที่ 21 มกราคม 2476 ต่อมาได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณประโยชน์ เนื้อที่ 4,600 ไร่ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2483 ต่อมาปี 2518 ได้มีพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ในท้องที่ตำบลพะวง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา พ.ศ. 2518ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา ซึ่งตรงกับแผนที่ระวางเพื่อใช้ออกโฉนดที่ดิน ทั้งนี้เพื่อจะนำที่ดินดังกล่าวมาจัดสรรให้แก่ราษฎร ที่ประกอบอาชีพทำโพงพางและมีปัญหาด้านทำกินอยู่ในขณะนั้น โดยมอบให้กรมส่งเสริมสหกรณ์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้ามาจัดสรรที่ทำกินให้แก่ผู้มีอาชีพทำโพงพาง แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากพื้นที่บริเวณนั้นไม่อำนวยให้ทำอาชีพทำโพงพาง กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงยกเลิกโครงการจัดสรรที่ดินดังกล่าวเมื่อปี 2523 ที่ดินดังกล่าวจึงมีสภาพเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าตามประมวลกฎหมายที่ดิน และเป็นที่ดินของรัฐอยู่ในความดูแลของกรมที่ดินที่ดินของโจทก์อยู่ในเขตที่สาธารณะ ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดินของโจทก์ คณะกรรมการพิจารณาแล้ว เห็นว่า การออกโฉนดที่ดินของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามรายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริง กระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วยกับผลการสอบสวนของคณะกรรมการจึงได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดินให้พิจารณาดำเนินการตามหน้าที่ แต่ปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยยังไม่ได้เพิกถอนโฉนดของโจทก์เพราะรอฟังผลคำพิพากษาของศาลเนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีราษฎรอื่นอีกหลายรายฟ้องจังหวัดสงขลาและหลายรายถูกจังหวัดสงขลาฟ้องให้เพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินบริเวณดังกล่าว และจำเลยทั้งสี่ยังมีนายบรรลือ หอมหวน ซึ่งเคยเป็นเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสงขลาตั้งแต่ปี 2537 ถึงปี 2538 มาเบิกความว่า ขณะที่พยานรับราชการอยู่ที่จังหวัดสงขลานั้น สภาจังหวัดสงขลาได้สอบถามมายังสำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลาเกี่ยวกับที่ดินพิพาท ระหว่างที่พยานกำลังทำหนังสือตอบไปยังสภาจังหวัดสงขลานั้นได้มีชาวบ้านร้องเรียนกับพยานว่าโจทก์ได้ออกโฉนดทับที่สาธารณะ กรมที่ดินได้ตั้งกรรมการสอบสวน ผลการสอบสวนได้ความว่าโจทก์ออกโฉนดที่ดินพิพาทโดยชอบ ต่อมาชาวบ้านร้องเรียนไปยังกระทรวงมหาดไทยอีก กระทรวงมหาดไทยตั้งคณะกรรมการสอบสวน 2 ชุด ผลสรุปจากการสอบสวนได้ความว่าโจทก์ออกโฉนดที่ดินพิพาทโดยไม่ชอบ โดยออกทับที่สาธารณประโยชน์และมีคำสั่งให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท พยานจึงได้มีหนังสือชี้แจงถึงสมาชิกสภาจังหวัดสงขลา และพยานปากนี้ได้เบิกความยืนยันว่าตามแผนที่ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่สาธารณประโยชน์ เห็นว่า นายชัยรัตน์เคยเป็นนายอำเภอเมืองสงขลาส่วนนายบรรลือเคยเป็นเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสงขลาจึงน่าจะทราบเกี่ยวกับที่ดินสาธารณะและที่ดินพิพาทดี พยานทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานของรัฐเป็นพยานคนกลางเบิกความสอดคล้องกับรายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบสวนที่กระทรวงมหาดไทยแต่งตั้ง ซึ่งสรุปผลการสอบสวนว่าโจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องกันมาจากผู้ครอบครองเดิม ซึ่งแจ้งการครอบครองไว้โดยมิชอบ และเป็นระยะเวลาภายหลังจากที่ดินบริเวณนี้เป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันมา 100 ปีเศษ การออกโฉนดที่ดินของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสี่น้ำหนักน่ารับฟังกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ คดีฟังได้ว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินที่ประกาศให้เป็นที่หวงห้ามสำหรับประชาชนใช้เลี้ยงสัตว์สาธารณประโยชน์ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2476 จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน การที่โจทก์ออกโฉนดที่ดินโดยอาศัยสิทธิจากการแจ้งการครอบครองภายหลังวันที่ 21 มกราคม 2476 นั้น แม้โจทก์จะซื้อมาโดยสุจริตและโฉนดที่ดินยังไม่ถูกเพิกถอนก็ตาม ก็หาทำให้โจทก์มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยทั้งสี่ครอบครองที่ดินพิพาท โดยโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์ครอบครองอยู่ก่อนแล้วจำเลยทั้งสี่เข้ามาแย่งการครอบครองจากโจทก์ จำเลยทั้งสี่จึงมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ ฎีกาข้ออื่นของโจทก์ แม้วินิจฉัยให้ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปจึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสี่อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยทั้งสี่ให้การต่อสู้คดีว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงเป็นกรณีที่ราษฎรฟ้องกันเองว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ เป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และฎีกาสำนวนละ 200 บาท แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และฎีกามาตามราคาที่ดินพิพาทในชั้นอุทธรณ์ 6,000 บาท และชั้นฎีกา 6,000 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เสียเกินมาให้แก่โจทก์”

พิพากษายืน แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และฎีกาส่วนที่เสียเกินมาให้แก่โจทก์

Share