แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 โอนที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2โดยทั้งสองคนทราบดีว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจโอนและจำเลยที่ 2 รับโอนโดยไม่สุจริต ไม่จำเป็นต้องบรรยายว่าโอนโดยวิธีการอย่างไร ที่ไหน และเมื่อไร เพราะเป็นรายละเอียดที่ต้องนำสืบในชั้นพิจารณา ทั้งโจทก์ได้ยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์โดยโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความยกที่พิพาทให้แก่โจทก์คนเดียวกับมีคำขอบังคับให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยทั้งสองกระทำลงโดยมิชอบ จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แล้ว
โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำหนังสือหย่าและตกลงแบ่งทรัพย์สินกันโดยชอบ แต่ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกันแล้ว เพราะยังไม่ได้จดทะเบียนหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1515 แต่ข้อตกลงเรื่องการหย่าและข้อตกลงเรื่องแบ่งทรัพย์สินเช่นนี้เป็นข้อตกลงที่แยกจากกันไม่ได้เมื่อยังไม่มีการหย่า ทรัพย์สินนั้นคงเป็นสินสมรสอยู่ตามเดิม โจทก์อ้างไม่ได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของทรัพย์พิพาทแต่ผู้เดียว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาแต่โดยที่โจทก์มีสิทธิในทรัพย์สินอยู่ด้วยครึ่งหนึ่ง ทั้งคำฟ้องบรรยายว่าจำเลยทั้งสองลักลอบโอนกรรมสิทธิ์ต่อกัน และแจ้งเท็จว่าจำเลยที่ 1 เป็นม่าย เท่ากับกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองสมคบกันโอนที่พิพาทโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรสโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480วรรคสอง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงหย่าและทำสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งทรัพย์สินกัน โดยยกที่พิพาทให้แก่โจทก์ด้วย ต่อมาจำเลยที่ 1 ไม่ยอมจดทะเบียนหย่าและไม่ยอมมอบทรัพย์สินตามข้อตกลงให้โจทก์ แล้วได้ลักลอบโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ทราบดีว่าเป็นของโจทก์เป็นการรับโอนโดยไม่สุจริต ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่พิพาท แล้วโอนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติ ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน หากกระทำดังกล่าวไม่ได้ก็ให้ใช้ค่าที่ดิน
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่ได้ฟ้องหย่าภายใน 1 ปี ข้อตกลงหย่าจึงไม่มีผลบังคับ ทั้งข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่สามีภริยาทำไว้ระหว่างเป็นสามีภริยา จำเลยที่ 1ได้บอกล้างแล้ว สัญญาจึงสิ้นผล โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ซื้อที่พิพาทโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ทั้งฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาบังคับให้ตามฟ้อง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เห็นว่าตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายว่า จำเลยที่ 1 โอนที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยทั้งสองคนทราบดีว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจโอนและจำเลยที่ 2 รับโอนโดยไม่สุจริตคำฟ้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องทางแพ่งไม่จำเป็นต้องบรรยายว่าโอน(ลักลอบโอน) โดยวิธีการอย่างไร ที่ไหนและเมื่อไร ดังที่จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ เพราะเป็นรายละเอียดที่จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา โจทก์ได้ยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์โดยโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความยกที่พิพาทให้แก่โจทก์คนเดียว และคำฟ้องดังกล่าวมีคำขอบังคับให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยทั้งสองกระทำลงโดยมิชอบ จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172
ปัญหาว่า ข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ใช้บังคับได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 4กันยายน 2520 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงหย่า ได้ทำหนังสือหย่าและตกลงแบ่งทรัพย์สินพิพาทให้แก่โจทก์ตามรายละเอียดเอกสารหมาย จ.2 หลังจากทำเอกสารดังกล่าวแล้วจนกระทั่งถึง พ.ศ. 2524โจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้จดทะเบียนการหย่าและไม่ได้แบ่งทรัพย์สินตามข้อตกลง ปัญหานี้จำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่าเมื่อไม่มีการหย่า ข้อตกลงเรื่องแบ่งทรัพย์สินไม่อาจบังคับได้เห็นว่าตามเอกสารหมาย จ.2 แม้จะเป็นเอกสารที่ชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับการหย่าโดยตกลงกันเอง ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกันแล้ว เพราะยังไม่ได้จดทะเบียนการหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1515 แต่ข้อตกลงเรื่องการหย่าและข้อตกลงเรื่องแบ่งทรัพย์สินเป็นข้อตกลงที่แยกจากกันไม่ได้ เมื่อยังไม่มีการหย่า ข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาก็ใช้บังคับไม่ได้ จำเลยที่ 1 ไม่จำต้องบอกล้างอีก ทรัพย์คงเป็นสินสมรสอยู่ตามเดิม และโจทก์ก็อ้างไม่ได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของทรัพย์พิพาทแต่ผู้เดียว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามสัญญา แม้โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์แต่เพียงผู้เดียว ทรัพย์ดังกล่าวก็เป็นสินสมรส โจทก์มีสิทธิอยู่ด้วยครึ่งหนึ่ง ทั้งคำฟ้องบรรยายว่า จำเลยทั้งสองลักลอบโอนกรรมสิทธิ์ต่อกัน และแจ้งเท็จว่าจำเลยที่ 1 เป็นม่าย เท่ากับกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองสมคบกันโอนที่พิพาทโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรสโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 วรรคสอง
ปัญหาว่าจำเลยที่ 2 รับโอนที่พิพาทโดยสุจริตหรือไม่ เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นน้องเขยของจำเลยที่ 1 เดิมที่พิพาทจำเลยที่ 2เป็นผู้เช่าซื้อ แล้วโอนสิทธิให้แก่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อต่อในขณะที่จำเลยที่ 1 เป็นคู่สมรสกับโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 2 อีก แสดงว่าจำเลยทั้งสองเป็นญาติที่ติดต่อใกล้ชิดกันเป็นพิเศษ ความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นอย่างไรจำเลยที่ 2 น่าจะทราบดีตลอดมาโจทก์ได้มีหนังสือถึงกรมที่ดิน แจ้งรายละเอียดว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์แต่เพียงผู้เดียว มีคดีอยู่ที่ศาลหลายคดีขออายัด แม้เจ้าพนักงานที่ดินไม่ยอมรับการอายัด แต่ก็ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบตามหนังสือดังกล่าวแล้วจำเลยทั้งสองก็ยืนยันให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนนิติกรรมให้ ยอมรับผิดชอบในความเสียหายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ทั้งจำเลยที่ 1 เบิกความว่าขณะที่จะโอนสิทธิการเช่าซื้อให้จำเลยที่ 2 ได้บอกจำเลยที่2 ว่า จำเลยที่ 1 มีเรื่องกับโจทก์แต่ยังไม่ได้หย่าขาดจากกัน หลักฐานการหย่าที่แสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นใบหย่าระหว่างจำเลยที่ 1 กับนางสนามซึ่งเป็นการปิดบังความจริงข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 รับโอนที่พิพาทซึ่งเป็นสินสมรสโดยไม่สุจริต และไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์มีอำนาจขอให้เพิกถอนนิติกรรมได้ แต่ไม่มีอำนาจขอให้โอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทเป็นของโจทก์ ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 48750 เลขที่ดิน 4086 แขวงสายไหม (ดอนเมือง) เขตบางเขนกรุงเทพมหานครที่จำเลยที่ 1 โอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ 2,000 บาท.