คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4835/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ว่า ป. จะเรียงคำฟ้องและลงลายมือชื่อเป็นโจทก์ในคำฟ้องในขณะที่ขาดจากการเป็นทนายความตามพระราชบัญญัติทนายความฯ แล้วก็ตาม แต่โจทก์ก็แต่ง ว. เป็นทนายความคนใหม่เข้ามาดำเนินคดีแทนโจทก์หลังจากฟ้องเพียง 1 เดือนเศษ และว. ดำเนินคดีแทนโจทก์ตลอดมาโดยที่ ป. ไม่ได้เข้ายุ่งเกี่ยวกับคดีโจทก์ทั้งสิ้น ป. จึงทำหน้าที่เป็นทนายความให้เพียงร่างคำฟ้องและลงชื่อในคำฟ้องเท่านั้น จำเลยมีโอกาสต่อสู้คดีตามคำฟ้องได้เต็มที่ เมื่อศาลชั้นต้นสั่งให้แก้ไขคำฟ้องโดยให้โจทก์ทำคำฟ้องขึ้นใหม่และให้โจทก์ลงชื่อในคำฟ้องโดยมีเงื่อนไขให้คำฟ้องใหม่มีข้อความเช่นเดียวกับคำฟ้องเดิม โจทก์ก็ไม่ได้โต้แย้งว่าข้อความในคำฟ้องเดิมไม่ถูกต้องหรือไม่ตรงตามความประสงค์ของโจทก์ซึ่ง พระราชบัญญัติทนายความฯ มุ่งให้ความคุ้มครอง คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงไม่ก่อให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้เปรียบหรือเสียเปรียบทางเชิงคดีอันจะทำให้ความยุติธรรมเสื่อมเสียไปเนื่องจากจำเลยซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนได้สืบพยานเสร็จสิ้นแล้วส่วนโจทก์ก็สืบพยานจนเหลือพยานอีกเพียง 2 ปากเท่านั้น คดีก็จะเสร็จการพิจารณาหากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของโจทก์ตั้งแต่การยื่นคำฟ้องจะส่งผลให้โจทก์ต้องทำคำฟ้องใหม่ จำเลยทำคำให้การใหม่และสืบพยานกันใหม่ ซึ่งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่บังคับให้จำเลยต้องทำคำให้การและสืบพยานเหมือนเดิมจำเลยย่อมมีโอกาสแก้ไขปรับปรุงรูปคดีที่อาจเสียเปรียบให้กลับได้เปรียบอันจะทำให้จำเลยได้เปรียบทางเชิงคดี ซึ่งหาชอบด้วยความยุติธรรมไม่ ที่ศาลชั้นต้นไม่สั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาและให้แก้ไขคำฟ้องใหม่ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยความยุติธรรมตามเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27
คำสั่งรับคำฟ้องใหม่ของศาลชั้นต้นเป็นคำสั่งเกี่ยวกับคดีที่เสนอคำฟ้องนั้นและไม่ใช่คำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 227 และ 228 จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านไว้ จำเลยจึงอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226เท่ากับว่าฎีกาของจำเลยในข้อนี้เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครองเมื่อโจทก์เป็นผู้ครอบครองอยู่ในขณะยื่นฟ้อง ภาระการพิสูจน์ว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทจึงตกอยู่แก่จำเลย เมื่อจำเลยนำสืบไม่ได้ จำเลยก็ต้องตกเป็นฝ่ายแพ้คดีในประเด็นข้อพิพาทนี้ โดยไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยถึงพยานหลักฐานโจทก์ว่ามีน้ำหนักรับฟังเพียงใด

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนคำขอโอนมรดกของนายผุย เฉิดฉายตามใบจอง (น.ส.2) เลขที่ 107 ตำบลแจนแลน อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์และให้ที่ดินตามใบจองดังกล่าวเป็นของโจทก์ทั้งสอง ห้ามจำเลยทั้งเก้าเข้าเกี่ยวข้องด้วยหากจำเลยทั้งเก้าไม่ดำเนินการ โจทก์ทั้งสองขอเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งเก้า

จำเลยทั้งเก้าให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องโจทก์และพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งเก้า กับสั่งห้ามไม่ให้โจทก์ทั้งสองเข้าเกี่ยวข้อง

โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งเก้า

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามใบจอง(น.ส.2) เลขที่ 107 เล่ม 17 หน้า 72 ตำบลแจนแลน อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์เฉพาะส่วนจำนวนเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ มีอาณาเขตทิศเหนือจดที่ดินโฉนดเลขที่ 5439ตำบลแจนแลน อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ (เดิมเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 400/311) ของโจทก์ที่ 2 ทิศใต้จดที่ดินของนายสุข ศรีโพนทอง ทิศตะวันตกจดถนนสาธารณประโยชน์ และทิศตะวันออกจดที่ดินของนายสนิท วิชัยโยตามแผนที่สังเขปที่ดินพิพาทและที่ดินข้างเคียงเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 และตามที่ดินบริเวณ (ค) และ (ง) ตามแผนที่สังเขปที่พิพาทเอกสารท้ายคำให้การและฟ้องแย้งหมายเลข 1 (แผนที่สังเขปที่พิพาทเอกสารหมาย ล.1)กับห้ามจำเลยทั้งเก้าเข้าเกี่ยวข้องให้เพิกถอนคำขอของจำเลยทั้งเก้าที่ขอรับโอนมรดกที่ดินพิพาทต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2539 ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งเก้า

จำเลยทั้งเก้าอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษา

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน

จำเลยทั้งเก้าฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์ที่ 2 กับนายผุย เฉิดฉาย บิดาจำเลยทั้งเก้าเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ที่ดินพิพาทและที่ดินตามแผนที่สังเขปที่พิพาท ส่วน (ก) และ (ข) คือที่ดินแปลงใบจอง (น.ส.2) เลขที่ 107 ตำบลแจนแลน อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ โจทก์ทั้งสองแต่งนายประมาณ มานะบุตร เป็นทนายความฟ้องจำเลยทั้งเก้า ตามใบแต่งทนายความฉบับลงวันที่ 17 เมษายน 2539 นายประมาณทำหน้าที่เป็นทนายโจทก์โดยลงชื่อเป็นโจทก์ในคำฟ้องเท่านั้น แต่ปรากฏว่านายประมาณถูกสภาทนายความลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2539 ต่อมาเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2539 โจทก์ทั้งสองแต่งนายวิชชุกร สงวนชาติ เป็นทนายความดำเนินกระบวนพิจารณาแทนโจทก์ทั้งสองตลอดมาโดยที่นายประมาณไม่ได้เข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไปปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งเก้าในประการแรกมีว่า คำฟ้องโจทก์ทั้งสองที่นายประมาณลงชื่อเป็นโจทก์ตามลำพังในขณะที่นายประมาณไม่มีฐานะเป็นทนายความแล้วต่อมาศาลชั้นต้นสั่งให้แก้ไขโดยให้โจทก์ทั้งสองทำคำฟ้องขึ้นใหม่ มีข้อความเช่นเดียวกับคำฟ้องเดิม จะมีผลทำให้คำฟ้องโจทก์ทั้งสองชอบหรือไม่ เห็นว่าแม้นายประมาณจะเรียงคำฟ้องและลงลายมือชื่อเป็นโจทก์ในคำฟ้องในขณะที่ขาดจากการเป็นทนายความตามพระราชบัญญัติทนายความพ.ศ. 2528 แล้วก็ตามแต่โจทก์ทั้งสองก็แต่งนายวิชชุกร สงวนชาติ เป็นทนายความคนใหม่เข้ามาดำเนินคดีแทนโจทก์ทั้งสองหลังจากฟ้องเพียง 1 เดือนเศษ และนายวิชชุกรดำเนินคดีแทนโจทก์ตลอดมาโดยที่นายประมาณไม่ได้เข้ายุ่งเกี่ยวกับคดีโจทก์ทั้งสิ้น นายประมาณจึงทำหน้าที่เป็นทนายความให้โจทก์ทั้งสองเพียงร่างคำฟ้องและลงชื่อในคำฟ้องเท่านั้นจำเลยทั้งเก้าก็มีโอกาสต่อสู้คดีตามคำฟ้องได้เต็มที่ เมื่อศาลชั้นต้นสั่งให้แก้ไขคำฟ้องโดยให้โจทก์ทั้งสองทำคำฟ้องขึ้นใหม่ และให้โจทก์ทั้งสองลงชื่อในคำฟ้องโดยมีเงื่อนไขให้คำฟ้องใหม่มีข้อความเช่นเดียวกับคำฟ้องเดิม โจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้โต้แย้งว่าข้อความในคำฟ้องเดิมไม่ถูกต้องหรือไม่ตรงตามความประสงค์ของโจทก์ทั้งสองซึ่งพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 มุ่งให้ความคุ้มครอง คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงไม่ก่อให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้เปรียบหรือเสียเปรียบทางเชิงคดีอันจะทำให้ความยุติธรรมเสื่อมเสียไป เนื่องจากจำเลยทั้งเก้าซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนได้สืบพยานเสร็จสิ้นแล้วส่วนโจทก์ทั้งสองก็สืบพยานโจทก์ทั้งสองจนเหลือพยานโจทก์ทั้งสองอีกเพียง 2 ปากเท่านั้นคดีก็จะเสร็จสิ้นการพิจารณา ตรงกันข้ามหากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของโจทก์ตั้งแต่การยื่นคำฟ้องอันจะส่งผลให้โจทก์ต้องทำคำฟ้องใหม่จำเลยทั้งเก้าทำคำให้การใหม่ และสืบพยานกันใหม่ซึ่งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่บังคับให้จำเลยทั้งเก้าต้องทำคำให้การและสืบพยานเหมือนเดิม จำเลยทั้งเก้าย่อมมีโอกาสแก้ไขปรับปรุงรูปคดีที่อาจเสียเปรียบให้กลับได้เปรียบได้ อันจะทำให้จำเลยทั้งเก้าได้เปรียบทางเชิงคดี ซึ่งหาชอบด้วยความยุติธรรมไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นชอบด้วยคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่สั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาตามคำร้องของจำเลยที่ 7 และที่ 8 และให้แก้ไขคำฟ้องใหม่ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยความยุติธรรมตามเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 แล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งเก้าในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งเก้าในประการที่สองมีว่า คำฟ้องใหม่ของโจทก์ทั้งสองไม่ได้แนบแผนที่สังเขปที่พิพาทเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ตามคำบรรยายฟ้อง ศาลชั้นต้นสั่งรับคำฟ้องดังกล่าวไว้ คำสั่งรับฟ้องของศาลชั้นต้นชอบหรือไม่เห็นว่า คำสั่งรับคำฟ้องใหม่ของศาลชั้นต้นเป็นคำสั่งเกี่ยวกับคดีที่เสนอคำฟ้องนั้นและไม่ใช่คำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 227 และมาตรา 228 จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งเก้าไม่ได้โต้แย้งคัดค้านไว้ จำเลยทั้งเก้าจึงอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 กรณีนี้จึงเท่ากับว่าฎีกาของจำเลยทั้งเก้าในข้อนี้เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งเก้าในประการที่สามมีว่า บัญชีระบุพยานโจทก์ชอบหรือไม่ เห็นว่า ปัญหาข้อนี้จำเลยทั้งเก้ามิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งเก้าในประการสุดท้ายมีว่า โจทก์หรือจำเลยทั้งเก้าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยทั้งเก้ามีจำเลยที่ 1 ที่ 2ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 และนางกา ศรีโพนทอง เบิกความเป็นพยานว่าจำเลยที่ 2เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ก่อนนายผุยถึงแก่กรรมจนถึงบัดนี้โจทก์ทั้งสองเพิ่งเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทเมื่อปี 2537 ส่วนโจทก์ทั้งสองมีโจทก์ทั้งสอง นายสุข เฉิดฉาย และนายใคร ใจอ่อน เบิกความเป็นพยานว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากนายผุย บิดาจำเลยทั้งเก้าตั้งแต่ปี 2515 แล้วนายผุยส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองเข้าครอบครองและถือประโยชน์ตลอดมา เห็นว่า จำเลยทั้งเก้าให้การว่า ก่อนนายผุยถึงแก่กรรม นายผุยฝากที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสองครอบครองแทนหลังจากนายผุยถึงแก่กรรม จำเลยทั้งเก้าก็ฝากที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทต่อไปอีก ดังนั้น ข้อนำสืบของจำเลยทั้งเก้าที่นำสืบว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมาจึงเป็นการนำสืบโต้แย้งกับคำให้การและเป็นการนำสืบนอกคำให้การไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง และคดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำฟ้องและคำให้การว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทในขณะฟ้อง ภาระการพิสูจน์ว่าโจทก์ทั้งสองหรือจำเลยทั้งเก้าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทจึงตกอยู่แก่จำเลยทั้งเก้า เมื่อจำเลยทั้งเก้านำสืบไม่ได้ จำเลยทั้งเก้าก็ต้องตกเป็นฝ่ายแพ้คดีในประเด็นพิพาทข้อนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ศาลฎีกาก็ไม่จำต้องวินิจฉัยถึงพยานหลักฐานโจทก์ว่ามีน้ำหนักรับฟังได้เพียงใดตามฎีกาของจำเลยทั้งเก้าอีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งเก้าในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share