แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.วิ.พ.มาตรา 208 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะจำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่อันเป็นเวลาก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมป.วิ.พ. (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2543 ใช้บังคับ แบ่งการขอพิจารณาใหม่เป็น สองกรณี กรณีแรกเป็นเรื่องขอพิจารณาใหม่ในกรณีปกติ ให้ยื่นคำขอต่อศาลภายในสิบห้าวันนับจากวันที่ได้ส่ง คำบังคับตามคำพิพากษา กรณีที่สองเป็นเรื่องขอพิจารณาใหม่ในกรณีมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ ให้ยื่นคำขอ
ให้พิจารณาใหม่ได้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง
จำเลยทราบฟ้องโจทก์แล้วตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2541 อันเป็นวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดทรัพย์จำเลย แต่จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2541 จึงล่วงพ้นกำหนดสิบห้าวันไปแล้ว ทั้งในกรณีปกติและกรณีที่อ้างว่ามีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ คำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 208 วรรคหนึ่ง (เดิม)
ปัญหาว่าคำขอให้พิจารณาใหม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ มาตรา 247
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ย จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและ ขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๒๒๕,๙๓๓ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑๙๗,๕๕๓ บาท นับแต่วันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๔๐ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๑,๕๐๐ บาท
จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ว่า จำเลยไม่ได้รับหมายเรียกสำเนาคำฟ้องและหมายนัดสืบพยานโจทก์ เจ้าพนักงานส่งหมายเรียกสำเนาคำฟ้องตลอดจนหมายนัดสืบพยานโจทก์ให้จำเลย ณ ภูมิลำเนาตามฟ้อง โดยจำเลย ไม่ได้อยู่ ณ ภูมิลำเนาตามฟ้องตั้งแต่วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๓๓ จำเลยเพิ่งทราบฟ้องโจทก์เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๑ ที่ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จึงไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ขอให้มีคำสั่งให้พิจารณาใหม่
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลย ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ กำหนดค่า ทนายความ ๒,๐๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นว่า คำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามคำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยและตามคำเบิกความของจำเลยในชั้นไต่สวน แม้จำเลยจะอ้างว่าจำเลยเพิ่งทราบฟ้องโจทก์เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๑ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏในสำนวนคดีร้องขัดทรัพย์ที่นางปัทมา เซียวศิริกุลหรือปัทมภูมิพัน ร้องขัดทรัพย์ในคดีนี้ว่า จำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ ขอคัดถ้อยคำสำนวนรวมทั้งคำพิพากษาของศาลคดีดังกล่าวโดยระบุในคำร้องว่า จำเลยทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการยึดทรัพย์สินต่าง ๆ ภายในบ้านเลขที่ ๙/๕๐๖ ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น และปรากฏตามหนังสือสำนักงานบังคับคดีจังหวัดขอนแก่นว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดทรัพย์ดังกล่าวเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ จึงฟังได้ว่า จำเลยทราบฟ้องโจทก์แล้วตั้งแต่วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๘ วรรคหนึ่งเดิม (ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะจำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่อันเป็นเวลาก่อนวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๔๓ ใช้บังคับ) แบ่งการขอพิจารณาใหม่เป็นสองกรณี กรณีแรกเป็นเรื่องขอพิจารณาใหม่ในกรณีปกติ ให้ยื่นคำขอต่อศาลภายในสิบห้าวันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษา กรณีที่สองเป็นเรื่องขอพิจารณาใหม่ในกรณีมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ ให้ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ดังวินิจฉัยข้างต้นว่า จำเลยทราบฟ้องโจทก์แล้วตั้งแต่วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ แต่จำเลยยื่น คำร้องขอให้พิจารณาใหม่คดีนี้ในวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๑ จึงเห็นได้ว่าเป็นเวลาล่วงพ้นกำหนดสิบห้าวันไปแล้ว ทั้งกรณีปกติและกรณีที่อ้างว่ามีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ คำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๘ วรรคหนึ่งเดิม ปัญหาว่าคำขอให้พิจารณาใหม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕) ประกอบด้วยมาตรา ๒๔๖ และมาตรา ๒๔๗ ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของจำเลย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ