คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1120/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 4 ขับรถยนต์บรรทุกของโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างชนรถยนต์บรรทุกที่โจทก์ที่ 4 ขับ เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกของโจทก์ที่ 1 เสียหายโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ซึ่งนั่งอยู่ในรถที่โจทก์ที่ 4 ขับกับโจทก์ที่ 4 ได้รับบาดเจ็บ โจทก์ทั้งสี่ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดจากมูลละเมิดที่เกิดขึ้นในคราวเดียวกัน โจทก์ทั้งสี่ย่อมมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี จึงฟ้องร่วมกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 มูลหนี้เกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ทั้งสี่ในคราวเดียวกัน แต่ความเสียหายที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์แต่ละคนย่อมต้องแล้วแต่ผลแห่งละเมิดที่โจทก์แต่ละคนได้รับจากมูลละเมิดนั้น ดังนั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าเสียหายโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จึงมิได้เป็นเจ้าหนี้จำเลยทั้งสองร่วมกันโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ต้องบรรยายฟ้องให้ชัดเจนว่าโจทก์แต่ละคนมีสิทธิจะได้ค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเท่าใดการที่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 บรรยายฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดรวมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ถือได้ว่าเป็นการบรรยายคำขอบังคับไม่แจ้งชัด คำฟ้องของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จึงเคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 4 ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน80-9380 กรุงเทพมหานครของโจทก์ที่ 1 จากจังหวัดสมุทรปราการจะไปที่ตำบลเพ ไปตามถนนสุขุมวิท ถึงบริเวณสะพานแยกช้างช่นจำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน80-3659 ระยอง ของจำเลยที่ 2 ในทางการที่จ้างจากตำบลเพจะไปจังหวัดระยองด้วยความประมาทด้วยความเร็วสูง เมื่อข้ามสะพานลงมามีรถยนต์โดยสารเล็กแล่นนำหน้ามา ได้หยุดให้ผู้โดยสารลงจำเลยที่ 1 หักหลบรถยนต์โดยสารพุ่งเข้าชนรถยนต์ที่โจทก์ที่ 4ขับสวนทางไป เป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 เสียหาย โจทก์ที่ 2และที่ 3 ซึ่งนั่งอยู่ในรถยนต์ที่โจทก์ที่ 4 ขับและโจทก์ที่ 4ได้รับบาดเจ็บ โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหาย คือ ค่าซ่อมตัวรถยนต์ค่าเครื่องอะไหล่ ค่าซ่อมเครื่องทำความเย็น เป็นเงิน 84,265 บาทค่าเครื่องยนต์เปลี่ยนใหม่เป็นเงิน 119,790 บาท ค่ารถยกรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 มาซ่อมเป็นเงิน 4,500 บาท ระหว่างซ่อมต้องจ้างรถยนต์บรรทุกอื่นมาใช้งานแทนเสียค่าจ้างเป็นเงิน 73,750 บาทและค่ารักษาพยาบาลโจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 4 เป็นเงินรวม 48,509 บาทรวมเป็นเงินที่จำเลยทั้งสองต้องร่วมรับผิดชดใช้ 330,814 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2526ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 24,810 บาท แก่โจทก์ทั้งสี่ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันชำระเงิน 355,624 บาท แก่โจทก์ทั้งสี่พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 330,814 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เหตุเกิดจากความประมาทของคนขับรถยนต์โดยสารเล็ก จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นโจทก์ทั้งสี่ไม่มีผลประโยชน์ร่วมกันเพราะต่างเรียกร้องค่าเสียหายเป็นคนละสัดส่วน จึงไม่มีอำนาจฟ้องร่วมกัน คำฟ้องระบุว่าค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 รวมกันเป็นเงิน 48,509 บาทเท่านั้น มิได้บรรยายว่าโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 บาดเจ็บตรงไหนเพียงใด ค่ารักษาพยาบาลแต่ละคนเป็นจำนวนเงินเท่าใด คำฟ้องเกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จึงเคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 218,108 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน37,844 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 7,735 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 2,500 บาท ให้ร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากจำนวนเงินค่าเสียหายที่จะต้องชำระให้แก่โจทก์แต่ละรายนับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2526 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินแก่โจทก์แต่ละรายเสร็จสิ้น จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2526 โจทก์ที่ 4 ได้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-9380 กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1ได้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-3659 ระยองของจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นนายจ้างไปตามถนนสุขุมวิท โดยโจทก์ที่ 4 ขับมุ่งหน้าจะไปตำบลเพ จังหวัดระยอง ส่วนจำเลยที่ 1 ขับจากตำบลเพ มุ่งหน้าจะไปจังหวัดระยอง สวนทางกับรถยนต์บรรทุกที่โจทก์ที่ 4 ขับ เมื่อถึงบริเวณสะพานแยกช้างช่น จำเลยที่ 1 ขับรถหักหลบรถยนต์โดยสารเล็กที่จอดรับส่งผู้โดยสารเข้ามาชนรถยนต์บรรทุกที่โจทก์ที่ 4 ขับ เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกของโจทก์ที่ 1 เสียหาย โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ซึ่งนั่งอยู่ในรถที่โจทก์ที่ 4 ขับ กับโจทก์ที่ 4 ได้รับบาดเจ็บ ปัญหาที่จำเลยที่ 2 ฎีกามีว่า โจทก์ทั้งสี่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ร่วมกันหรือไม่ ฟ้องของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4เคลือบคลุมหรือไม่ เหตุคดีนี้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1หรือไม่ และค่าเสียหายเฉพาะค่าซ่อมตัวรถกับค่าขาดประโยชน์ว่าสูงเกินไปหรือไม่ และเครื่องยนต์เสียหายถึงขนาดต้องเปลี่ยนใหม่หรือไม่ ปัญหาว่า โจทก์ทั้งสี่ มีอำนาจฟ้องคดีนี้ร่วมกันหรือไม่นั้น ศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาในศาลชั้นต้นจึงไม่วินิจฉัยให้ ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ได้ยกปัญหานี้ขึ้นต่อสู้ในคำให้การของจำเลยที่ 2 แล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยให้ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และเห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดจากมูลละเมิดที่เกิดขึ้นในคราวเดียวกันโจทก์ทั้งสี่ย่อมมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี จึงอาจฟ้องคดีนี้ร่วมกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 ส่วนปัญหาว่าฟ้องของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เคลือบคลุมหรือไม่นั้น เห็นว่าแม้มูลหนี้จะเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ในคราวเดียวกันแต่ความเสียหายที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์แต่ละคนย่อมต้องแล้วแต่ผลแห่งละเมิดที่โจทก์แต่ละคนได้รับจากมูลละเมิดนั้น ดังนั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าเสียหายโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4จึงมิได้เป็นเจ้าหนี้จำเลยทั้งสองร่วมกัน โจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 4 ต้องบรรยายฟ้องให้ชัดเจนว่าโจทก์แต่ละคนมีสิทธิจะได้ค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเท่าใด การที่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4บรรยายฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ถือได้ว่าเป็นการบรรยายคำขอบังคับไม่แจ้งชัดคำฟ้องของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จึงเคลือบคลุม ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 4นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share