แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นวิศวกรมีหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้างอาคารของจำเลยที่ได้จ้างให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ย. ดำเนินการก่อสร้าง การที่โจทก์รับเงินจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ย. เนื่องจากห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวจ่ายเงินให้โจทก์เป็นค่าตอบแทนในการจ้างโจทก์ออกแบบงานระบบประปา ไฟฟ้า สุขาภิบาล ทำช็อปดรออิ้งขยายรายละเอียดในการก่อสร้าง และควบคุมงานก่อสร้างบ้านของเรืออากาศ อ. ซึ่งเป็นการรับเงินตามปกติของการว่าจ้างโจทก์ให้ทำงานกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ย. และแม้โจทก์มีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างอาคารของจำเลยที่จ้างให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ย. ดำเนินการก่อสร้าง แต่ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์เบียดบังเวลาการทำงานของจำเลยไปใช้ทำงานก่อสร้างบ้านของเรืออากาศ อ. ตามที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ย. จ้างให้โจทก์ทำงาน ดังนั้น การที่โจทก์ได้รับเงินจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ย. ด้วยเหตุข้างต้นจึงไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ถือไม่ได้ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่
ตามประกาศเรื่องการจ่ายเงินรางวัลพิเศษเพิ่มเติมระบุว่าจำเลยจะจ่ายเงินรางวัลพิเศษประจำปี 2548 ให้แก่ลูกจ้างจำเลย จึงแปลว่า จำเลยมีเจตนาจ่ายเงินรางวัลพิเศษและเงินรางวัลพิเศษเพิ่มเติมแก่ผู้มีสถานะเป็นลูกจ้างของจำเลยเท่านั้น
การที่โจทก์พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลยไปก่อนจำเลยจ่ายเงินรางวัลพิเศษประจำปี 2548 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินรางวัลพิเศษประจำปี 2548
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทยซึ่งจดทะเบียนแล้ว เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 7 คณะกรรมการกองทุนหรือผู้จัดการกองทุนมีหน้าที่จ่ายเงินให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง หากโจทก์มีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนตามมาตรา 23 จำเลยไม่มีอำนาจจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเพื่อให้จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นได้ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่อำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิม อัตราค่าจ้างและสวัสดิการเท่าเดิม พร้อมทั้งนับอายุงานต่อเนื่องเสมือนไม่มีการเลิกจ้าง และจ่ายค่าขาดรายได้เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 71,754 บาท นับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 31 สิงหาคม 2547) จนกว่าจำเลยจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน หากจำเลยไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ให้จำเลยชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่โจทก์จะได้รับหากทำงานกับจำเลยถึงอายุ 60 ปี เป็นเงิน 13,776,768 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 71,754 บาท ค่าชดเชย 717,540 บาท เงินรางวัลพิเศษ 645,786 บาท เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ(เงินสมทบพร้อมผลประโยชน์ของเงินสมทบ) 801,433.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยชำระเงิน เดือนละ 7,175.40 บาท (ในอัตรา 10 เปอร์เซ็นต์ ของเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบ) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันเลิกจ้างจนกว่าโจทก์มีอายุครบ 60 ปี
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิม โดยมีอัตราค่าจ้าง สวัสดิการเท่าเดิม พร้อมทั้งให้นับอายุงานต่อเนื่องเสมือนไม่มีการเลิกจ้างโจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาและตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า เมื่อเดือนมีนาคม 2534 โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลย ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการทั่วไป (ที่ถูก เป็นผู้จัดการงานบริหารทั่วไป) ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 68,145 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ห้างหุ้นส่วนจำกัดเยนเนอรัลแมคคานิคส์โดยนายกฤษณะ หุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้รับจ้างก่อสร้างอาคารอำนวยการให้แก่จำเลย โจทก์รับเงินจากห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวเป็นเงินสดและเช็ครวม 800,000 บาท ห้างหุ้นส่วนจำกัดเยนเนอรัลแมคคานิคส์โดยนายกฤษณะทำหนังสือร้องเรียนต่อจำเลยว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบข่มขืนใจหรือจูงใจทำให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดเยนเนอรัลแมคคานิคส์เกิดความเกรงกลัวจึงมอบเงินให้แก่โจทก์ จำเลยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงมีความเห็นว่าโจทก์ใช้อำนาจหน้าที่ให้ได้มาซึ่งเงิน 800,000 บาท เพื่อประโยชน์ส่วนตน จำเลยแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาความผิดทางวินัย คณะกรรมการพิจารณาความผิดทางวินัยมีความเห็นว่าโจทก์กระทำความผิดต่อข้อบังคับเกี่ยวกับพนักงาน พ.ศ.2546 ข้อ 11.2.1 ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่บริษัทฯ (จำเลย) อันเป็นการกระทำความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงซึ่งมีโทษให้ปลดออกทันที จำเลยจึงมีคำสั่งลงโทษปลดโจทก์ออกโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2547 แล้ววินิจฉัยว่า ตามที่เรืออากาศเอกเผด็จ พยานโจทก์ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์และเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลยเบิกความว่า นายกฤษณะเคยบอกพยานว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดเยนเนอรัลแมคคานิคส์ จ้างโจทก์ออกแบบด้านสุขาภิบาล ไฟฟ้า ประปา และการวางหมุดในการก่อสร้างบ้านของพยาน และพยานเคยเห็นโจทก์ควบคุมงานก่อสร้างให้ที่บ้าน เรืออากาศเอกเผด็จเป็นพยานคนกลาง ไม่มีส่วนได้เสียในคดี ไม่มีสาเหตุกับฝ่ายโจทก์ จำเลยและนายกฤษณะ เชื่อว่าเรืออากาศเอกเผด็จเบิกความตามจริง โดยนางมาลาวัลย์ ผู้จัดการบริษัทคิวบิคดีไซน์ จำกัด พยานจำเลยเบิกความสนับสนุนว่าบริษัทคิวบิคดีไซน์ จำกัด ออกแบบบ้านให้แก่เรืออากาศเอกเผด็จด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรโครงสร้างอาคารเอ บี ซี ดี รวมทั้งสระจากูซีและศาลาริมน้ำ แต่บริษัทคิวบิคดีไซน์ จำกัด ไม่ได้ดำเนินการในส่วนระบบงานประปา ไฟฟ้า สุขาภิบาล บำบัดน้ำเสีย และการทำช็อปดรออิ้งขยายแบบรายละเอียดในการก่อสร้าง ซึ่งปกติผู้รับเหมาก่อสร้างจะเป็นผู้ทำช็อปดรออิ้ง คำเบิกความของพยานทั้งสองสอดคล้องกับคำเบิกความของโจทก์ว่าการทำช็อปดรออิ้งและการออกแบบสุขาภิบาล ประปา ไฟฟ้า เป็นหน้าที่ของห้างหุ้นส่วนจำกัดเยนเนอรัลแมคคานิคส์ และเรืออากาศเอกเผด็จเบิกความยืนยันว่าเรืออากาศเอกเผด็จไม่ได้จ้างหรือสั่งการให้โจทก์ควบคุมหรือดูแลการก่อสร้างบ้าน ขณะที่พยานจำเลยมีนายสุนันท์ ประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และนางขนิษฐา ประธานคณะกรรมการพิจารณาความผิดทางวินัย ซึ่งไม่ได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ และมีเพียงคำให้การของนายกฤษณะที่เคยให้ไว้ต่อคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง จำเลยไม่ได้นำนายกฤษณะมาเบิกความยืนยันต่อศาลแรงงานกลาง พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ คดีจึงรับฟังได้ว่าเมื่อต้นปี 2540 เรืออากาศเอกเผด็จจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดเยนเนอรัลแมคคานิคส์ก่อสร้างบ้านในส่วนอาคาร เอ บี ซี ดี สระจากูซี ศาลาริมน้ำ ระบบประปา ไฟฟ้า และสุขาภิบาล โดยห้างหุ้นส่วนจำกัดเยนเนอรัลแมคคานิคส์จ้างโจทก์ออกแบบงานระบบประปา ไฟฟ้า สุขาภิบาล ทำช็อปดรออิ้งขยายแบบรายละเอียดในการก่อสร้าง และควบคุมงานก่อสร้างเพราะเมื่อมีการขยายแบบแล้วโจทก์จะเป็นผู้แก้ไขหากไม่สามารถก่อสร้างตามแบบได้ นอกจากนี้การที่โจทก์รับเงินโดยไม่เขียนรายละเอียดในสมุดรับเงินก็ไม่เป็นข้อพิรุธเพราะมีหลายรายการที่ไม่มีการเขียนรายละเอียดการรับเงินลงไว้ โจทก์รับเงินไปตั้งแต่ปี 2540 แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเยนเนอรัลแมคคานิคส์กลับทิ้งช่วงเวลา 4 ปีเศษแล้วเพิ่งยื่นหนังสือร้องเรียนเกี่ยวกับเงินดังกล่าว โจทก์กับนายกฤษณะมีสาเหตุโกรธเคืองกันในเรื่องที่โจทก์ตรวจรับงานพบว่านายกฤษณะผิดสัญญา โจทก์จึงรายงานต่อจำเลยเป็นเหตุให้จำเลยปรับนายกฤษณะเป็นเงินจำนวนมาก พยานหลักฐานของจำเลยไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ดังนี้การรับเงินของโจทก์เป็นการรับเงินในทางปกติของการว่าจ้างให้โจทก์ทำงานให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเยนเนอรัลแมคคานิคส์ ซึ่งต้องทำบันทึกไว้เป็นหลักฐาน จึงไม่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอาศัยมูลเหตุดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เมื่อโจทก์กับจำเลยสามารถทำงานร่วมกันได้ เห็นสมควรให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิม โดยอัตราค่าจ้างและสวัสดิการเท่าเดิม พร้อมทั้งให้นับอายุงานต่อเนื่องเสมือนไม่มีการเลิกจ้าง เมื่อศาลสั่งให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานแล้ว จึงไม่อาจกำหนดจำนวนเงินตามฟ้องให้แก่โจทก์อีก
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการกระทำของโจทก์เป็นการทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า ตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของโจทก์ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นวิศวกรมีหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้างอาคารของจำเลยที่ได้จ้างให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดเยนเนอรัลแมคคานิคส์ดำเนินการก่อสร้าง การที่โจทก์รับเงินจากห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวเป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของโจทก์ เป็นการกระทำโดยไม่สุจริต จึงเป็นการทุจริตต่อหน้าที่นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางและที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาว่า การที่โจทก์รับเงินจากห้างหุ้นส่วนจำกัดเยนเนอรัลแมคคานิคส์เนื่องจากห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวจ่ายเงินให้โจทก์เป็นค่าตอบแทนในการจ้างโจทก์ออกแบบงานระบบประปา ไฟฟ้า สุขาภิบาล ทำช็อปดรออิ้งขยายรายละเอียดในการก่อสร้าง และควบคุมงานก่อสร้างบ้านของเรืออากาศเอกเผด็จ ซึ่งเป็นการรับเงินตามปกติของการว่าจ้างโจทก์ให้ทำงานกับห้างหุ้นส่วนจำกัดเยนเนอรัลแมคคานิคส์ และแม้โจทก์มีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างอาคารของจำเลยที่จ้างให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดเยนเนอรัลแมคคานิคส์ดำเนินการก่อสร้าง แต่ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์เบียดบังเวลาการทำงานของจำเลยไปใช้ทำงานก่อสร้างบ้านของเรืออากาศเอกเผด็จตามที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเยนเนอรัลแมคคานิคส์จ้างให้โจทก์ทำงาน ดังนั้นการที่โจทก์ได้รับเงินจากห้างหุ้นส่วนจำกัดเยนเนอรัลแมคคานิคส์ด้วยเหตุข้างต้นจึงไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ถือไม่ได้ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในส่วนนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าจำเลยต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือต้องจ่ายเงินตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดเยนเนอรัลแมคคานิคส์เป็นคู่สัญญาก่อสร้างอาคารอำนวยการของจำเลย การที่โจทก์ซึ่งเป็นวิศวกรโครงการและลูกจ้างของจำเลย มีหน้าที่โดยตรงในการควบคุมงานก่อสร้างอาคารของจำเลยที่ได้จ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดเยนเนอรัลแมคคานิคส์ดำเนินการก่อสร้าง ได้เข้าไปทำงานและรับค่าจ้างจากการควบคุมการก่อสร้างบ้านของเรืออากาศเอกเผด็จ ซึ่งเป็นงานของห้างหุ้นส่วนจำกัดเยนเนอรัลแมคคานิคส์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยเข้าไปทำงานให้แก่คู่สัญญาของจำเลย ซึ่งแม้จะเป็นงานปกติตามทางการที่จ้างแต่เป็นการเข้าไปทำงานโดยมีผลประโยชน์ซึ่งขัดต่อการทำหน้าที่ในฐานะวิศวกรโครงการของโจทก์ จึงมีเหตุสมควรเพียงพอที่จำเลยจะไม่ไว้วางใจให้โจทก์ทำงานอยู่ต่อไป การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงาน และเมื่อโจทก์ไม่ได้กลับเข้าทำงานจึงต้องพิจารณาต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากการถูกเลิกจ้างหรือไม่ เห็นว่า ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจพ.ศ.2534 (กฎหมายที่ใช้บังคับขณะเลิกจ้าง) ข้อ 45 (3) กำหนดให้พนักงานซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปีขึ้นไป มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน และโจทก์ถูกเลิกจ้างโดยมิใช่เพราะเหตุทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่รัฐวิสาหกิจตามข้อ 46 (1) โจทก์ซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปีขึ้นไป ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 68,145 บาท จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันเป็นเงิน 408,870 บาท อย่างไรก็ตามการกระทำของโจทก์ถือได้ว่าเป็นการทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ในส่วนเงินรางวัลพิเศษประจำปี 2548 เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องขอเรียกเงินรางวัลพิเศษประจำปี 2548 และตามประกาศเรื่องการจ่ายเงินรางวัลพิเศษเพิ่มเติม ระบุว่าจำเลยจะจ่ายเงินรางวัลพิเศษประจำปี 2548 ให้แก่ลูกจ้างจำเลย จึงแปลว่าจำเลยมีเจตนาจ่ายเงินรางวัลพิเศษและเงินรางวัลพิเศษเพิ่มเติมแก่ผู้มีสถานะเป็นลูกจ้างของจำเลยเท่านั้นการที่โจทก์พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลยไปก่อนจำเลยจ่ายเงินรางวัลพิเศษประจำปี 2548 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินรางวัลพิเศษประจำปี 2548 อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าก่อนโจทก์ฟ้องคดีมีการจัดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทยซึ่งจดทะเบียนแล้ว กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 7 คณะกรรมการกองทุนหรือผู้จัดการกองทุนมีหน้าที่จ่ายเงินให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง หากโจทก์มีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนตามมาตรา 23 จำเลยไม่มีอำนาจจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเพื่อให้จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นได้ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่อำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 408,870 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้ยกฟ้องโจทก์เสียทั้งหมด