คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1217/2496

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฝ่ายชายได้ดำเนินการสู่ขอฝ่ายหญิงจนได้มีการเหยียบเรือนตามประเพณีท้องถิ่นแล้ว คือฝ่ายชายได้นำหมากพลูและผ้าขาวไปเคารพฝ่ายหญิง และได้กำหนดนัดวันทำพิธีสมรสแล้ว เช่นนี้ย่อมถือได้ว่าเป็นการตกลงโดยสมบูรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยการหมั้น และการตกลงทำการสมรสแล้วทุกประการเมื่อถึงวันกำหนดแต่งงานฝ่ายชายไม่มาตามกำหนด ฝ่ายหญิงย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนได้

ย่อยาว

ข้อเท็จจริงได้ความว่า ฝ่ายจำเลยให้นางแจ่มมาพูดสู่ขอโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 1 ให้มาฟังข่าวในวันรุ่งขึ้น ถึงวันรุ่งขึ้นโจทก์ที่ 1 ตอบตกลง และสั่งให้นางแจ่มไปบอกจำเลยให้มาเหยียบเรือนถึงวันกำหนดเหยียบเรือน นางแจ่มกับจำเลยทั้ง 2 มีหมากพลูใส่พานกับผ้าขาวห่อกระดาษ 1 ห่อมาให้เป็นของหมั้น ประเพณีท้องถิ่นเวลาไปเหยียบเรือน ฝ่ายชายเอาผ้าไปเพื่อเคารพต่อพ่อแม่ฝ่ายหญิง ในวันเหยียบเรือนได้พูดตกลงกันว่าจะทำพิธีแต่งงานกันในวันขึ้น 10 ค่ำเดือน 9 ฝ่ายโจทก์เตรียมข้าวของต่าง ๆ เป็นต้นว่า ที่นอนและหมอนเครื่องแต่งตัว และอาหารสำหรับเลี้ยงผู้ที่มาในวันงาน ถึงวันกำหนดแต่งงาน ฝ่ายจำเลยหาได้มาตามกำหนดไม่ คงมีแต่ผู้ที่มาในงานประมาณ 10-20 คน เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียหาย โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลย

ศาลชั้นต้นฟังว่า เรื่องนี้โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องว่ามีการหมั้น จะฟังว่ามีการหมั้นไม่ได้ จึงจะเรียกค่าเสียหายไม่ได้พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น คือเชื่อว่าฝ่ายจำเลยได้ดำเนินการสู่ขอฝ่ายหญิงจนได้มีการเหยียบเรือนตามประเพณีท้องถิ่นแล้ว โดยฝ่ายจำเลยได้นำหมากพลูและผ้าขาวไปเคารพฝ่ายหญิง และได้กำหนดนัดวันทำพิธีสมรสแล้ว เป็นการตกลงโดยสมบูรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยการหมั้น และการตกลงทำการสมรสแล้วทุกประการตามฟ้องโจทก์ ก็ได้บรรยายไว้ชัดแจ้งว่าได้มีการสู่ขอโดยมีการเหยียบเรือนตามประเพณีท้องถิ่น ได้กำหนดวันแต่งงานอย่างบริบูรณ์แล้วทุกประการ ฝ่ายจำเลยเป็นฝ่ายผิดจะปฏิเสธไม่รับผิดหาได้ไม่ จึงพิพากษายืน

Share