คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11149/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์มีสิทธิเพียงผลิตเทปคาสเซต แผ่นเสียง และซีดีเพลง โดยทำซ้ำมาสเตอร์เทปหรือแถบบันทึกเสียงเพลงต้นฉบับซึ่งเป็นสิ่งบันทึกเสียงอันมีลิขสิทธิ์เท่านั้น โจทก์ไม่อาจดัดแปลงเนื้อร้องและทำนองเพลงซึ่งเป็นงานดนตรีกรรมที่บันทึกในสิ่งบันทึกเสียงดังกล่าว สิ่งบันทึกเสียงต่าง ๆ ที่โจทก์ผลิตขึ้นอันเป็นการทำซ้ำโดยอาศัยสิทธิตามหนังสือสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์จึงเป็นเพียงสิ่งบันทึกเสียงที่ทำซ้ำขึ้นโดยชอบมิได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ทำให้โจทก์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในเทปคาสเซต แผ่นเสียง และซีดีเพลง ซึ่งเป็นสิ่งบันทึกเสียงที่โจทก์ผลิตขึ้น แม้จะรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเปิดเพลงที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้นำมาผลิตเป็นสิ่งบันทึกเสียงให้ผู้โดยสารในเครื่องบินของจำเลยฟังโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ก็ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในสิ่งบันทึกเสียงของโจทก์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 28 (2) หรือมาตรา 31 (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,365,150 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,301,760 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระต้นเงินแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2546 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2548 เป็นรายสัปดาห์โดยคำนวณสัปดาห์ละ 96 เที่ยวบิน ในอัตราเที่ยวบินละ 120 บาท แต่รวมทั้งหมดต้องไม่เกินจำนวน 1,301,760 บาท และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันที่ 26 เมษายน 2549 อันเป็นวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน 63,390 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความจำนวน 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่าโจทก์ได้รับสิทธิในงานอันมีลิขสิทธิ์และมีอำนาจที่จะกระทำได้มากน้อยเพียงใด งานเพลงที่โจทก์ได้รับสิทธิกับชื่อเพลงที่ระบุไว้ในหนังสือ “สวัสดี” เป็นงานเพลงของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่โจทก์ได้รับสิทธิตรงกันหรือไม่ โจทก์ไม่มีเอกสารสิทธิแนบมาพร้อมกับคำฟ้อง งานเพลงอันมีลิขสิทธิ์ที่โจทก์กล่าวอ้างเป็นงานเพลงของผู้ใด จำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ในวันใดและในเที่ยวบินใด ในปัญหานี้โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2547 โจทก์ทราบว่าจำเลยได้เปิดเพลงที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์จากบริษัทอุตสาหกรรมแผ่นเสียงไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทกมลสุโกศล จำกัด บริษัทห้างแผ่นเสียงคาเธ่ย์ (1968) จำกัด นางนันทาและนายกิตติชัย ให้บริการแก่ผู้โดยสารได้รับฟังในเครื่องบินของจำเลยตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2545 เป็นต้นมา โดยเพลงที่จำเลยนำมาเปิดนั้นมีเพลงและผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลง รวมจำนวน 58 แผ่น โดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์และผู้มีลิขสิทธิ์เพลง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าลิขสิทธิ์เพลงตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2546 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2548 จำนวน 113 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 96 เที่ยว จำนวนเที่ยวละ 120 บาท เป็นเงินจำนวน 1,301,760 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เห็นว่า การบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวโจทก์ได้บรรยายให้พอเข้าใจได้ถึงสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วว่า จำเลยได้ละเมิดลิขสิทธิ์ในสิ่งบันทึกเสียงอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยโจทก์อ้างว่าได้ลิขสิทธิ์นั้นมาจากการได้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ของบริษัทอุตสาหกรรมแผ่นเสียงไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทกมลสุโกศล จำกัด บริษัทห้างแผ่นเสียงคาเธ่ย์ (1968) จำกัด นางนันทาและนายกิตติชัย โดยจำเลยเปิดเพลงในสิ่งบันทึกเสียงของโจทก์ให้บริการแก่ผู้โดยสารในเครื่องบินของจำเลยได้รับฟังอันเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ กับมีคำขอบังคับท้ายคำฟ้องให้จำเลยชดใช้ค่าใช้ลิขสิทธิ์เพลงเนื่องจากการละเมิดลิขสิทธิ์ให้พอเข้าใจได้แล้วเช่นกัน ส่วนรายละเอียดของเพลงที่โจทก์อ้างว่าจำเลยกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ก็ปรากฏตามรายชื่อเพลงในหนังสือ “SAWASDEE” (สวัสดี) ของจำเลยซึ่งโจทก์ระบุว่าเพลงแต่ละเพลงบันทึกอยู่ในซีดีแม่ไม้เพลงไทยของโจทก์หมายเลขใด โดยโจทก์ระบุว่าโจทก์ได้ลิขสิทธิ์นั้นตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ที่ทำกับผู้ใดฉบับใด พร้อมทั้งระบุว่าจำเลยกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ในเดือนและปีใดไว้ด้วย ดังปรากฏในเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 4 ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง ซึ่งก็ปรากฏว่าจำเลยสามารถให้การปฏิเสธข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์และให้เหตุผลแห่งการปฏิเสธได้เป็นอย่างดี ดังปรากฏตามคำให้การของจำเลย แสดงว่าจำเลยเข้าใจสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และคำขอบังคับตามคำฟ้องของโจทก์แล้ว คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 30 และข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ข้อ 6 วรรคหนึ่ง ไม่เป็นคำฟ้องเคลือบคลุม ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า คำฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาพอที่จะให้จำเลยเข้าใจและต่อสู้คดีได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ที่โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์เพิ่งทราบการกระทำของจำเลยเมื่อประมาณปี 2547 โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่าโจทก์ทราบได้อย่างไรโดยวิธีใด ทำให้จำเลยไม่สามารถให้การได้ว่าที่โจทก์กล่าวอ้างนั้นเท็จจริงเป็นประการใด จำเลยไม่อาจต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ จึงเป็นคำฟ้องเคลือบคลุมนั้น ปรากฏว่าข้ออุทธรณ์ดังกล่าวจำเลยมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยต่อไปว่า จำเลยได้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในสิ่งบันทึกเสียงอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ดังที่โจทก์อ้างในคำฟ้องหรือไม่ ในปัญหานี้เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องโดยเป็นผู้ได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ในซีดีแม่ไม้เพลงไทยอันเป็นสิ่งบันทึกเสียงเนื่องจากโจทก์ได้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์จากบริษัทห้างแผ่นเสียงคาเธ่ย์ (1968) จำกัด ตามหนังสือสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์จากบริษัทอุตสาหกรรมแผ่นเสียงไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทกมลสุโกศล จำกัด จากนางนันทาตามหนังสือสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และจากนายเฉลียว หรือนายมนต์ กับนายกิตติชัยตามหนังสือสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์หรือไม่ และโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าลิขสิทธิ์จากจำเลยตามคำฟ้องหรือไม่ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบริษัทห้างแผ่นเสียงคาเธ่ย์ (1968) จำกัด ปรากฏว่า บริษัทห้างแผ่นเสียงคาเธ่ย์ (1968) จำกัด ผู้มีลิขสิทธิ์ในเนื้อร้องและทำนองเพลงทุกเพลงภายใต้เครื่องหมายการค้าแผ่นเสียงตรามงกุฎได้อนุญาตให้โจทก์แต่เพียงผู้เดียวทำเทปคาสเซตบันทึกเนื้อร้องและทำนองเพลงอันมีลิขสิทธิ์เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน นับแต่วันที่ 10 มกราคม 2529 ถึงวันที่ 9 กรกฎาคม 2530 โจทก์ตกลงชำระค่าตอบแทนแก่บริษัทอย่างต่ำจำนวนเดือนละ 480,000 บาท โจทก์จะอัดเพลงลงเทปคาสเซตออกจำหน่ายจำนวนเดือนละไม่เกิน 60,000 ม้วน หากผลิตเกินจำนวนโจทก์ต้องชำระเงินค่าตอบแทนเพิ่มอีกจำนวนม้วนละ 8 บาท โจทก์สัญญาว่าจะอัดเพลงลงในม้วนเทปคาสเซตที่ออกจำหน่ายในแต่ละม้วนตามลำดับเพลงและจำนวนเพลงตามที่บริษัทห้างแผ่นเสียงคาเธ่ย์ (1968) จำกัด ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์กำหนดให้เท่านั้น ในการกำหนดเพลงและจำนวนเพลงในแต่ละม้วน เจ้าของลิขสิทธิ์จะกำหนดให้โดยการพิมพ์สลากปิดม้วนเทปหรือปกเทปให้แก่โจทก์ โดยเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการพิมพ์สลากและปกม้วนเทปพร้อมเซ็นชื่อกำกับไว้บนปกเทปเพื่อป้องกันการปลอมแปลงม้วนเทปด้วย โจทก์จะไม่ดัดแปลงบทเพลง เนื้อร้อง ทำนอง หรือมอบเพลงให้ผู้อื่นเป็นผู้ร้องหรือบันทึกเสียงใหม่นอกจากที่เป็นอยู่เดิมเท่านั้น และปรากฏตามหนังสือสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ว่า บริษัทห้างแผ่นเสียงคาเธ่ย์ (1968) จำกัด ซึ่งเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในเนื้อร้องและทำนองเพลงทุกเพลงภายใต้เครื่องหมายการค้าแผ่นเสียงและเทปตรามงกุฎตกลงอนุญาตให้โจทก์ผลิตเทปคาสเซต แผ่นเสียง และซีดีทุกขนาดบันทึกเพลงออกจำหน่ายเพื่อการค้าแต่เพียงผู้เดียวมีกำหนด 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2532 ถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2542 โจทก์ตกลงชำระค่าตอบแทนแก่บริษัทนั้นจำนวน 17,000,000 บาท บริษัทตกลงมอบม้วนมาสเตอร์เทปเพลงหรือม้วนแถบบันทึกเสียงเพลงต้นฉบับของแผ่นเสียงตรามงกุฎเพื่อใช้เป็นต้นแบบในการผลิตเทปคาสเซตนั้น โจทก์ตกลงจะไม่ดัดแปลงเนื้อร้อง ทำนองเพลง หรือนำไปบันทึกเสียงขึ้นใหม่ โจทก์ต้องใช้ตรามงกุฎเท่านั้นในการผลิตกับจำหน่ายเทปคาสเซตและแผ่นเสียง โจทก์จะไม่นำเพลงอื่นหรือตราอื่นมาใช้ร่วมกับเพลงตรามงกุฎ โจทก์ต้องระบุชื่อบริษัทห้างแผ่นเสียงคาเธ่ย์ (1968) จำกัด บนปกเทป ปกแผ่นเสียง และสติกเกอร์ต่าง ๆ ทุกแผ่น การจัดลำดับเพลงปกเทปหรือใบปิดหน้าเทป ปกแผ่นเสียงที่ผลิตเพื่อประโยชน์ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ หนังสือรายชื่อเพลงจะต้องได้รับการตรวจและอนุญาตจากบริษัทห้างแผ่นเสียงคาเธ่ย์ (1968) จำกัด ก่อน จึงจะนำไปใช้ได้ เห็นว่า จากข้อตกลงตามหนังสือสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ระหว่างบริษัทห้างแผ่นเสียงคาเธ่ย์ (1968) จำกัด ผู้อนุญาตและโจทก์ผู้รับอนุญาต เห็นได้ว่าโจทก์มีสิทธิเพียงผลิตเทปคาสเซต แผ่นเสียง และซีดีเพลง โดยทำซ้ำมาสเตอร์เทปหรือแถบบันทึกเสียงเพลงต้นฉบับของแผ่นเสียงตรามงกุฎซึ่งเป็นสิ่งบันทึกเสียงอันมีลิขสิทธิ์เท่านั้น โจทก์ไม่อาจดัดแปลงเนื้อร้องและทำนองเพลงซึ่งเป็นงานดนตรีกรรมที่บันทึกในสิ่งบันทึกเสียงโดยดัดแปลงเนื้อร้อง ทำนองเพลง หรือมอบเพลงนั้นให้ผู้อื่นเป็นผู้ร้องหรือบันทึกเสียงใหม่นอกจากที่เป็นอยู่เดิมได้ ดังนี้ เทปคาสเซต แผ่นเสียง และซีดีเพลงที่โจทก์ผลิตขึ้นอันเป็นการทำซ้ำโดยอาศัยสิทธิตามหนังสือสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ จึงเป็นเพียงสิ่งบันทึกเสียงที่ทำซ้ำขึ้นโดยชอบมิได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของบริษัทห้างแผ่นเสียงคาเธ่ย์ (1968) จำกัด เท่านั้น ไม่ทำให้โจทก์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในเทปคาสเซตแผ่นเสียงและซีดีเพลงซึ่งเป็นสิ่งบันทึกเสียงที่โจทก์ผลิตขึ้น เพราะสิ่งบันทึกเสียงนั้นมิได้เกิดขึ้นจากการดัดแปลงงานดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียงอันมีลิขสิทธิ์โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะทำหนังสือสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ (มาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ปัจจุบัน) เมื่อโจทก์มิใช่ผู้มีลิขสิทธิ์ในสิ่งบันทึกเสียงเพลงที่ผลิตขึ้น แม้จะรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเปิดเพลงที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้นำมาผลิตเป็นสิ่งบันทึกเสียงให้ผู้โดยสารในเครื่องบินของจำเลยฟังโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ก็ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในสิ่งบันทึกเสียงของโจทก์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 28 (2) หรือมาตรา 31 (2) และแม้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์แต่ผู้เดียวอาจได้รับความเสียหายจากการที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเปิดเพลงที่บันทึกในสิ่งบันทึกเสียงซึ่งโจทก์ได้รับอนุญาตให้ผลิตออกจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2546 จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2548 ให้ผู้โดยสารในเครื่องบินของจำเลยฟังก็ตาม แต่ปรากฏตามหนังสือสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ว่า โจทก์เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงระหว่างวันที่ 10 มกราคม 2529 ถึงวันที่ 9 กรกฎาคม 2530 และระหว่างวันที่ 13 ตุลาคม 2532 ถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2542 เท่านั้น มิได้เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงที่โจทก์อ้างว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ระหว่างวันที่ 21 เมษายน 2546 จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2548 ดังที่โจทก์อ้างในคำฟ้อง โจทก์จึงไม่อาจอ้างว่าเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายในช่วงเวลาดังกล่าวและเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าลิขสิทธิ์แก่โจทก์ได้ อย่างไรก็ตาม แม้ศาลฎีกาได้พิพากษาว่าหนังสือสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์มีผลใช้บังคับต่อไปโดยอนุโลมมีกำหนด 11 ปี นับแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2543 ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10711/2550 เอกสารท้ายคำแก้ฎีกาของโจทก์ก็ตาม แต่พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักและเหตุผลพอให้เชื่อว่าจำเลยได้เปิดเพลงจากซีดีที่โจทก์ผลิตหรือจากสิ่งบันทึกเสียงที่จำเลยได้บันทึกจากซีดีที่โจทก์ผลิต โจทก์จึงไม่อาจอ้างสิทธิตามหนังสือสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ว่า โจทก์ได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยเปิดเพลงให้ผู้โดยสารฟังและเรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าลิขสิทธิ์จากจำเลยได้ ในส่วนที่เกี่ยวกับบริษัทอุตสาหกรรมแผ่นเสียงไทย จำกัด และหรือบริษัทกมลสุโกศล จำกัด ปรากฏตามหนังสือสัญญาเช่าลิขสิทธิ์สิ่งบันทึกเสียงต้นแบบ (ที่ถูกหนังสือสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ในสิ่งบันทึกเสียงต้นแบบ) ระหว่างบริษัทอุตสาหกรรมแผ่นเสียงไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทกมลสุโกศล จำกัด ผู้อนุญาต กับบริษัทโจทก์โดยนายกิตติชัย กรรมการผู้จัดการและในฐานะส่วนตัวผู้รับอนุญาตว่า ผู้อนุญาตตกลงให้ผู้รับอนุญาตแต่เพียงผู้เดียวนำสิ่งบันทึกเสียงต้นแบบเพลงต่าง ๆ ที่ผู้อนุญาตเป็นผู้สร้างสรรค์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ไปผลิตเป็นเทปคาสเซต ซีดี ดีวีดี และวีซีดีคาราโอเกะทุกชนิดและทุกขนาดออกจำหน่ายเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ 21 เมษายน 2546 จนถึงวันที่ 20 เมษายน 2556 ผู้รับอนุญาตตกลงชำระค่าตอบแทนแก่ผู้อนุญาตจำนวน 4,000,000 บาท จากข้อตกลงตามหนังสือสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ เห็นได้ว่าโจทก์มีสิทธิเพียงผลิตเทปคาสเซตและซีดีซึ่งเป็นสิ่งบันทึกเสียงโดยทำซ้ำสิ่งบันทึกเสียงต้นแบบเพลงต่าง ๆ อันมีลิขสิทธิ์ของบริษัทอุตสาหกรรมแผ่นเสียงไทย จำกัด เท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิดัดแปลงเนื้อร้องและทำนองเพลงซึ่งเป็นงานดนตรีกรรมที่บันทึกในสิ่งบันทึกเสียงต้นแบบเพลงต่าง ๆ ดังกล่าว ดังนี้ เทปคาสเซตและซีดีเพลงที่โจทก์ผลิตขึ้นอันเป็นการทำซ้ำโดยอาศัยสิทธิตามหนังสือสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ จึงเป็นเพียงสิ่งบันทึกเสียงที่ทำขึ้นโดยชอบมิได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของบริษัทอุตสาหกรรมแผ่นเสียงไทย จำกัด เท่านั้น ไม่ทำให้โจทก์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในเทปคาสเซตและซีดีเพลงซึ่งเป็นสิ่งบันทึกเสียงที่โจทก์ผลิตขึ้นเพราะสิ่งบันทึกเสียงนั้นมิได้เกิดขึ้นจากการดัดแปลงงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เมื่อโจทก์มิใช่ผู้มีลิขสิทธิ์ในสิ่งบันทึกเสียงเพลงที่ผลิตขึ้นตามหนังสือสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ แม้จะรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเปิดเพลงที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้นำมาผลิตเป็นสิ่งบันทึกเสียงให้ผู้โดยสารในเครื่องบินของจำเลยฟังโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ก็ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในสิ่งบันทึกเสียงของโจทก์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 28 (2) หรือมาตรา 31 (2) และแม้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวอาจได้รับความเสียหายจากการที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเปิดเพลงที่บันทึกในสิ่งบันทึกเสียงที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ผลิตออกจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2546 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2548 ซึ่งตามหนังสือสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ โจทก์เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ระหว่างวันที่ 21 เมษายน 2546 ถึงวันที่ 20 เมษายน 2556 และในหนังสือสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ ข้อ 6 ระบุว่า การกระทำใด ๆ ที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์สิ่งบันทึกเสียงต้นแบบนับแต่วันทำสัญญานี้ให้ถือว่าผู้รับอนุญาตแต่ผู้เดียวเป็นผู้เสียหายและผู้อนุญาตให้ถือว่าหนังสือสัญญานี้เป็นหนังสือมอบอำนาจให้ผู้รับอนุญาตตามสัญญานี้เพียงผู้เดียวเป็นผู้รับมอบอำนาจให้มีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้ละเมิดลิขสิทธิ์และผู้อนุญาตยินดีให้ความร่วมมือต่อสู้หรือดำเนินคดีแก่ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ บรรดาค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของการดำเนินคดีและค่าเสียหายที่จะได้รับการชดใช้จากผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ให้ตกเป็นความรับผิดชอบของผู้รับอนุญาตแต่ผู้เดียวก็ตาม พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักและเหตุผลพอให้เชื่อว่าจำเลยได้เปิดเพลงจากซีดีที่โจทก์ผลิตหรือจากสิ่งบันทึกเสียงที่จำเลยได้บันทึกจากซีดีที่โจทก์ผลิต โจทก์จึงไม่อาจอ้างสิทธิตามหนังสือสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยเปิดเพลงให้ผู้โดยสารฟังและเรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าลิขสิทธิ์จากจำเลยได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระต้นเงินแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2546 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2548 เป็นรายสัปดาห์โดยคำนวณสัปดาห์ละ 96 เที่ยวบิน ในอัตราเที่ยวบินละ 120 บาท แต่รวมทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินจำนวน 1,301,760 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2548 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันที่ 26 เมษายน 2549 อันเป็นวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน 63,390 บาท นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share