คำวินิจฉัยที่ 20/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการที่กระทรวงกลาโหม จำเลยที่ ๑ กับพวก กระทำละเมิดกรณีมีคำสั่งและประกาศให้โจทก์ออกจากราชการและถอดยศทหาร ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย ให้เพิกถอนคำสั่งและประกาศดังกล่าวกับให้โจทก์กลับเข้ารับราชการทันที คืนเงินเดือน เงินเพิ่ม เงินประจำตำแหน่ง คืนยศคืนตำแหน่ง คืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่โจทก์ เห็นว่า เมื่อการออกคำสั่งและประกาศของจำเลยที่ ๑ เป็นไปตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๔๑ วรรคสอง ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินเบี้ยหวัด พ.ศ. ๒๔๙๕ และข้อบังคับทหารว่าด้วยการแบ่งประเภทนายทหารสัญญาบัตร พ.ศ. ๒๔๘๒ ซึ่งเป็นข้อบังคับและระเบียบแบบแผนเกี่ยวกับวินัยทหาร ตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. ๒๕๒๑ กรณีจึงเป็นเรื่องวินัยทหารตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๖ คดีนี้จึงคดีพิพาทเกี่ยวกับการดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหารที่ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคสอง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๐/๒๕๕๖

วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๖

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคสอง (๑)

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๓ นายเศรษฐศิลป์หรือพลตรี สุริยะดิษย์หรือพลตรี สุรภูมิ โสภณณสิริ หรือพลตรี สุวรรณ สมิงแก้ว โจทก์ ยื่นฟ้องกระทรวงกลาโหม ที่ ๑ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ ๒ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ที่ ๓ พลเอก อภิชาต เพ็ญกิตติ ที่ ๔ กรมเสมียนตรากระทรวงกลาโหม ที่ ๕ พลเอก สุชีพ กิจวารี ที่ ๖ กองบัญชาการกองทัพไทย ที่ ๗ พลเอก ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ที่ ๘ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๗๙๘/๒๕๕๓ ความว่า เดิมโจทก์รับราชการตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิกองบัญชาการทหารสูงสุด (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกองบัญชาการกองทัพไทย) เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๔๘ จำเลยที่ ๑ ได้มีคำสั่งที่ ๒๓๗/๒๕๔๘ ให้พักราชการโจทก์ในระหว่างโจทก์ถูกสอบสวนคดีอาญาข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ต่อมาได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายทหารรับราชการสนองพระเดชพระคุณ โดยให้โจทก์กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิกองบัญชาการกองทัพไทยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๒ ซึ่งมีผลเป็นการลบล้างข้อหาที่ถูกสั่งพักราชการไปแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเข้ารับราชการตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๒ และเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๒ โจทก์ติดต่อจำเลยที่ ๗ เพื่อขอรายงานตัวเข้ารับราชการจึงทราบว่ามีหมายจับของศาลจังหวัดธัญบุรีที่ ๑๐๙๖/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๔๘ ให้จับโจทก์และภริยาในข้อหาสมคบกันรับเด็กหญิงไว้เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจศาลพลเรือน อันเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถกลับเข้ารับราชการได้ โจทก์เข้ามอบตัวเพื่อสู้คดีต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรคลองหลวงเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๒ เป็นผลให้หมายจับของศาลจังหวัดธัญบุรีสิ้นสภาพไปทันที ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๖๘ และได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในวันเดียวกัน ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีโจทก์และภริยา โจทก์นำหนังสืองดการสืบจับไปยื่นต่อจำเลยที่ ๕ และจำเลยที่ ๗ เพื่อดำเนินการให้โจทก์เข้ารับราชการ แต่จำเลยที่ ๕ โดยจำเลยที่ ๖ และจำเลยที่ ๗ โดยจำเลยที่ ๘ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานจำเลยที่ ๕ และจำเลยที่ ๗ เพิกเฉยไม่ดำเนินการใดๆ ต่อมาจำเลยที่ ๑ มีหนังสือกระทรวงกลาโหม ลับ ที่ ๐๒๐๑/๑๑๓ ลงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๒ ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีขอให้ดำเนินการเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้โจทก์ออกจากราชการและถอดยศทหารเพื่อลบล้างพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ที่ให้โจทก์รับราชการ และเมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๒ จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๔ ลงนามแทนจำเลยที่ ๒ ตามที่ได้รับมอบอำนาจตามระเบียบราชการ ได้มีคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ ๗๒๑/๒๕๕๒ และประกาศกระทรวงกลาโหม ให้โจทก์ออกจากราชการและถอดยศทหาร โดยอ้างเหตุต้องหาคดีอาญาแล้วหลบหนีไป ซึ่งเป็นความเท็จเพราะข้อหาต้องหาคดีอาญาแล้วหลบหนีไปไม่มีแล้ว ผลของคำสั่งและประกาศดังกล่าวทำให้โจทก์ต้องถูกออกจากราชการ โดยไม่มีเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ถูกถอดยศทหาร ถูกเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไม่ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง การกระทำของจำเลยทั้งแปดจึงเป็นละเมิดต่อโจทก์โดยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย ไม่ได้รับเงินเดือนและเงินเพิ่มอื่นๆ ตั้งแต่ถูกสั่งพักราชการเป็นต้นมา ทำให้โจทก์ไม่ได้รับยศสูงขึ้น เสื่อมเสียชื่อเสียงและถูกดูหมิ่นเหยียดหยามจากสังคม ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยที่ ๑ กับพวก ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย ให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงกลาโหม ที่ ๗๒๑/๒๕๕๒ และประกาศกระทรวงกลาโหม ลงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๒ เรื่อง ให้นายทหารสัญญาบัตรออกจากราชการและพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถอดยศทหาร กับให้ดำเนินการให้โจทก์กลับเข้ารับราชการทันที คืนเงินเดือน เงินเพิ่ม เงินประจำตำแหน่ง คืนยศคืนตำแหน่ง คืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่โจทก์
ศาลแพ่งมีคำสั่งไม่รับฟ้องจำเลยที่ ๒ ที่ ๔ ที่ ๖ และที่ ๘ เนื่องจากโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๔ ที่ ๖ และที่ ๘ กระทำในการปฏิบัติหน้าที่แทนจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๗ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐแล้วเกิดความเสียหายตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๕ วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่าให้ฟ้องหน่วยงานของรัฐโดยตรงจะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ส่วนจำเลยที่ ๕ ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เป็นเพียงหน่วยงานในสังกัดจำเลยที่ ๓ จึงไม่มีสภาพเป็นบุคคลที่โจทก์จะดำเนินคดีได้ รับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๗
จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๗ ให้การว่า ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๗ ได้ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ตามขั้นตอนและระเบียบแบบแผนของทางราชการ ความเสียหายที่โจทก์กล่าวอ้างเป็นผลจากการกระทำของโจทก์เอง มิได้เกิดจากการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๗ หรือเจ้าหน้าที่ในสังกัด โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องว่ามีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้โจทก์กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิกองบัญชาการกองทัพไทย ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องให้นายทหารรับราชการ ลงวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๒ เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนของโจทก์ แท้จริงแล้วประกาศดังกล่าวเป็นกรณีที่มีพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๕๑ เปลี่ยนชื่อกองบัญชาการทหารสูงสุดเป็นกองบัญชาการกองทัพไทย ดังนั้นจึงเป็นการเปลี่ยนชื่อตำแหน่งให้ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น มิใช่เป็นคำสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการ เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการ จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๗ ไม่เคยเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากโจทก์ ค่าเสียหายที่โจทก์กล่าวอ้างไม่ใช่ค่าเสียหายที่แท้จริง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๗ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า การปลดโจทก์ออกจากราชการมิใช่เป็นการลงโทษทางวินัยตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ. ๒๔๗๖ มิใช่คำสั่งเกี่ยวกับวินัยทหาร แต่เป็นคำสั่งทางปกครอง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) ให้อำนาจศาลปกครองพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมาตรา ๙ วรรคสอง (๑) บัญญัติให้การดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหารไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง กรณีตามคำร้องจึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยคือ คำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ ๗๒๑/๒๕๕๒ และประกาศกระทรวงกลาโหม ลงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๒ ที่ให้โจทก์ออกจากราชการนั้น เป็นผลมาจากการดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหารตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๖ หรือไม่ ซึ่งมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๖ บัญญัติว่า “วินัยทหารคือการที่ทหารต้องประพฤติตามแบบธรรมเนียมทหาร” มาตรา ๕ บัญญัติถึงตัวอย่างการกระทำผิดวินัยทหาร มาตรา ๘ กำหนดทัณฑ์ที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดต่อวินัยทหาร และมาตรา ๗ บัญญัติให้ปลดออกจากราชการหรือถูกถอดยศทหารได้นอกจากรับทัณฑ์ตามมาตรา ๘ และโดยที่ธรรมเนียมทหารหมายถึง แนวปฏิบัติที่ผู้บังคับบัญชาได้ออกไว้ให้ทหารต้องปฏิบัติ รวมถึงขนบธรรมเนียมและประเพณีของทหาร เมื่อพิจารณาประกอบกันแล้วการดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหารต้องเป็นเรื่องที่โจทก์ถูกปลดออกจากราชการเนื่องจากความประพฤติที่ไม่เป็นไปตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาหรือแนวปฏิบัติของทหาร แต่กรณีของโจทก์ปรากฏข้อเท็จจริงว่า คำสั่งให้โจทก์ออกจากราชการดังกล่าวมีมูลเหตุมาจากข้อกล่าวหาว่าโจทก์ต้องหาคดีอาญาฐานรับเด็กหญิงไว้เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้วหลบหนีไป จึงไม่ได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวด้วยการประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาหรือแนวทางปฏิบัติของทหารแต่อย่างใด และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้ถูกพิจารณาลงทัณฑ์อันเนื่องมาจากข้อกล่าวหาดังกล่าว การออกคำสั่งดังกล่าวจึงไม่เป็นการดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร แต่เป็นการออกคำสั่งทางปกครองของจำเลยที่ ๑ คดีจึงอยู่ในอำนาจศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ได้เคยยื่นฟ้องจำเลยทั้งแปดต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๖๐/๒๕๕๓ และศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องโจทก์และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากคดีพิพาทเกี่ยวกับคำสั่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (จำเลยที่ ๑ ในคดีนี้) ที่ ๗๒๑/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๒ ที่ให้ผู้ฟ้องคดี (โจทก์ในคดีนี้) เป็นนายทหารกองหนุนไม่มีเบี้ยหวัด สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมและย้ายประเภทเป็นพ้นราชการทหาร ประเภทที่ ๒ เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหารที่ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคสอง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ตามคดีหมายเลขแดงที่ ๘๑๒/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๓ โดยโจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๓ ต่อมาศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องกับศาลปกครองชั้นต้นว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหารที่ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคสอง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ ๑๖๔/๒๕๕๔ เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๔ โดยศาลปกครองชั้นต้นอ่านคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดในวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๔ คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ตามมาตรา ๗๓ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า ขณะโจทก์รับราชการตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิกองบัญชาการทหารสูงสุด (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกองบัญชาการกองทัพไทย) จำเลยที่ ๑ ได้มีคำสั่งที่ ๒๓๗/๒๕๔๘ ให้พักราชการโจทก์ในระหว่างโจทก์ถูกสอบสวนคดีอาญาข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ในปี ๒๕๔๘ โจทก์และภริยาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาในข้อหาสมคบกันรับเด็กหญิงไว้เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย โดยศาลจังหวัดธัญบุรีได้ออกหมายจับโจทก์ ในปี ๒๕๕๒ โจทก์เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง ซึ่งต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีโจทก์และภริยา ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้มีคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ ๗๒๑/๒๕๕๒ และประกาศกระทรวงกลาโหม ลงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๒ ให้โจทก์ออกจากราชการและถอดยศทหารตั้งแต่วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๔๘ ซึ่งเป็นวันที่ศาลออกหมายจับ โดยอ้างเหตุต้องหาคดีอาญาแล้วหลบหนีไป ซึ่งเป็นความเท็จเพราะข้อหาต้องหาคดีอาญาแล้วหลบหนีไปไม่มีแล้ว ผลของคำสั่งและประกาศดังกล่าวทำให้โจทก์ต้องถูกออกจากราชการ โดยไม่มีเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ถูกถอดยศทหาร ถูกเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไม่ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยที่ ๑ กับพวก ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ ๗๒๑/๒๕๕๒ และประกาศกระทรวงกลาโหม ลงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๒ กับให้ดำเนินการให้โจทก์กลับเข้ารับราชการทันที คืนเงินเดือน เงินเพิ่ม เงินประจำตำแหน่ง คืนยศคืนตำแหน่ง คืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่โจทก์ เห็นว่า เมื่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมาตรา ๙ วรรคสอง (๑) บัญญัติให้คดีพิพาทเกี่ยวกับการดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง คดีจึงมีประเด็นต้องพิจารณาว่า การฟ้องเพิกถอนคำสั่งและประกาศของจำเลยที่ ๑ ที่ให้โจทก์ออกจากราชการและถอดยศทหาร เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหารหรือไม่
พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๖ มาตรา ๔ บัญญัติว่า “วินัยทหารนั้น คือการที่ทหารต้องประพฤติตามแบบธรรมเนียมของทหาร” ซี่งแบบธรรมเนียมของทหาร ได้แก่ บรรดา กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง คำแนะนำ คำชี้แจงและหนังสือต่างๆ ที่ผู้บังคับบัญชาออกหรือวางไว้เป็นหลักฐานให้ทหารปฏิบัติ ซึ่งรวมทั้งขนบธรรมเนียมและประเพณีอันดีของทหารทั้งที่เป็นและไม่เป็นลายลักษณ์อักษร มาตรา ๗ บัญญัติว่า “ทหารผู้ใดกระทำผิดต่อวินัยทหาร จักต้องรับทัณฑ์ตามวิธีที่ปรากฏในหมวด ๓ แห่งพระราชบัญญัตินี้และอาจต้องถูกปลดจากประจำการหรือถูกถอดจากยศทหาร” และโดยที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. ๒๕๒๑ มาตรา ๑๕ บัญญัติว่า “วินัยของข้าราชการทหาร ทหารกองประจำการ และนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยทหาร ข้อบังคับและระเบียบแบบแผนที่กระทรวงกลาโหมกำหนด” เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งและประกาศของจำเลยที่ ๑ ที่ให้โจทก์ออกจากราชการและถอดยศทหาร โดยคำสั่งและประกาศดังกล่าวให้โจทก์เป็นนายทหารกองหนุนไม่มีเบี้ยหวัด สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และย้ายประเภทเป็นพ้นราชการทหารประเภทที่ ๒ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๔๑ วรรคสอง ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินเบี้ยหวัด พ.ศ. ๒๔๙๕ และข้อบังคับทหารว่าด้วยการแบ่งประเภทนายทหารสัญญาบัตร พ.ศ. ๒๔๘๒ ซึ่งเป็นข้อบังคับและระเบียบแบบแผนเกี่ยวกับวินัยทหาร ตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. ๒๕๒๑ กรณีจึงเป็นเรื่องวินัยทหารตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๖ ข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยในคดีนี้จึงคดีพิพาทเกี่ยวกับการดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหารที่ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคสอง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายเศรษฐศิลป์ หรือพลตรี สุริยะดิษย์ หรือพลตรี สุรภูมิ โสภณณสิริ หรือพลตรี สุวรรณ สมิงแก้ว โจทก์ กระทรวงกลาโหม ที่ ๑ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ ๒ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ที่ ๓ พลเอก อภิชาต เพ็ญกิตติ ที่ ๔ กรมเสมียนตรากระทรวงกลาโหม ที่ ๕ พลเอก สุชีพ กิจวารี ที่ ๖ กองบัญชาการกองทัพไทย ที่ ๗ พลเอก ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ที่ ๘ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สุขสันต์ สิงหเดช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share