แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่โจทก์เป็นเอกชนฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิเดือดร้อนเสียหายจากการถูกกรมที่ดิน เจ้าหน้าที่ในสังกัด และจำเลยที่ ๖ ซึ่งเป็นเอกชนร่วมกันรังวัดออกโฉนดที่ดินทับที่ดินของโจทก์ขอให้พิพากษาว่า ระวางแผนที่ใหม่จัดทำขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้เพิกถอน โดยให้ถือระวางแผนที่เดิมเป็นแผนที่ที่ใช้ในการออกโฉนดที่ดินแก่ราษฎรทั้งตำบลในท้องที่นั้น และพิพากษาว่าโฉนดที่ดินออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้เพิกถอนหรือยกเลิก กับพิพากษาว่ารายงานการเดินสำรวจและเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการออกระวางแผนที่ใหม่ ตกเป็นโมฆะ ส่วนจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ให้การในทำนองเดียวกันว่า การเดินสำรวจที่ดินไม่มีผู้คัดค้าน ที่ดินพิพาทไม่ปรากฏอยู่ในระวางแผนที่เดิม โจทก์เป็นผู้บุกรุกที่ดิน และจำเลยที่ ๖ ให้การว่า ไม่ได้นำรังวัดออกโฉนดที่ดินทับที่ดินพิพาท โดยมีการออกโฉนดที่ดินตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ทั้งสองได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือจำเลยที่ ๖ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป คดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๓/๒๕๕๖
วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๖
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองนครศรีธรรมราช
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ นางวาสนา ดีบุกหรือบุญญสิทธิ์ ที่ ๑ นายสิทธิชัย บุญญสิทธิ์ ที่ ๒ โจทก์ ยื่นฟ้องกรมที่ดิน ที่ ๑ นายพิชิต ตันเวชกุล ที่ ๒ นายสมพงษ์ รอดเรือง ที่ ๓ นายโชติ ประกอบบุญ ที่ ๔ นายไพโรจน์ เชื่อมทอง ที่ ๕ นายสุทิน ข้อเพชร ที่ ๖ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๒๖๗/๒๕๕๓ ความว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินสองแปลงตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๓ ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา โดยซื้อมาจากนายโชติ ทองลิ่ม เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ ปรากฏอยู่ในระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศที่ ๔๖๒๖ III แผ่นที่ ๕๖ ส่วนจำเลยที่ ๖ ซื้อที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๘๖๑ ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เนื้อที่ ๘ ไร่ ๒ งาน ๔๐ ตารางวา จากนายอุดม ก่อสกุล เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๓๑ ต่อมา จำเลยที่ ๑ ประกาศออกโฉนดที่ดินให้แก่ราษฎรทั้งตำบลในปี ๒๕๔๒ และมีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เป็นเจ้าหน้าที่เดินสำรวจและกำกับการรังวัด ส่วนจำเลยที่ ๕ เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๓ เป็นตัวแทนนายอำเภอตะกั่วป่าในการชี้แนวเขตที่ดินในการกันเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ ปรากฏว่า จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ร่วมกันรังวัดออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๕๒๖ แทน น.ส. ๓ ก. ของจำเลยที่ ๖ เนื้อที่ ๑๒ ไร่ ๑ งาน ๕๐ ตารางวา ทับที่ดินของโจทก์ทั้งสองและที่ดินอีกส่วนหนึ่งของนายโชติ โดยจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ จัดทำระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศขึ้นใหม่เป็นระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศ ที่ ๔๖๒๖ III ๑๖๕๘-๑, ๒, ๓, ๔ ไม่ถือเอาระวางแผนที่ฯ เดิม ทำให้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองและที่ดินของนายโชติไม่ปรากฏอยู่ในระวางแผนที่ฯ ฉบับที่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ จัดทำขึ้นใหม่ การที่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ร่วมกันทำระวางแผนที่ฯ ใหม่ และออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๖ จึงไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายไม่สามารถเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินกับบังกาโลและถูกทางราชการดำเนินคดีอาญาฐานบุกรุกที่ดินสาธารณะ ขอให้พิพากษาว่า ระวางแผนที่ ฯ ที่ ๔๖๒๖ III ๑๖๕๘-๑, ๒, ๓, ๔ จัดทำขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เพิกถอนระวางแผนที่ ฯ ดังกล่าว โดยให้ถือระวางแผนที่ฯ เดิม เป็นแผนที่ที่ใช้ในการออกโฉนดที่ดินแก่ราษฎรในท้องที่หมู่ที่ ๓ ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และขอให้พิพากษาว่าโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๕๒๖ ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเพิกถอนหรือยกเลิกโฉนดที่ดินดังกล่าว กับขอให้พิพากษาว่ารายงานการเดินสำรวจและเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๕๒๖ และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการออกระวางแผนที่ฯ ใหม่ ตกเป็นโมฆะ
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ให้การในทำนองเดียวกันว่า การเดินสำรวจที่ดินไม่มีผู้คัดค้าน ที่ดินพิพาทที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าซื้อมาจากนายโชติ ตามแผนที่ท้ายสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับนายโชติ ซึ่งปรากฏอยู่ในระวางแผนที่ ฯ ที่ ๔๖๒๖ III แผ่นที่ ๕๖ นั้นไม่เป็นความจริงเพราะแผนที่ท้ายสัญญาซื้อขายจัดทำขึ้นเอง ไม่ได้ทำโดยเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ และนายโชติไม่มีเอกสารทางราชการใด ๆ รับรองสิทธิ ระวางแผนที่ ๔๖๒๖ III แผ่นที่ ๕๖ ทำขึ้นโดยกรมแผนที่ทหารตั้งแต่ปี ๒๕๑๙ เป็นการนำกระดาษแผ่นใสมาทับแผนที่รูปถ่ายทางอากาศจึงมีความคลาดเคลื่อน และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับ น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๘๖๑ ซึ่งทำขึ้นเมื่อปี ๒๕๒๑ กับหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงที่ ๔๒๖๑๒ ที่ระบุจากระวางแผนที่ดังกล่าว และทำขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๓ แล้วก็ไม่ปรากฏรูปที่ดินพิพาทที่โจทก์ทั้งสองอ้าง ปรากฏเฉพาะที่ดินเลขที่ ๒๗ ตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๘๖๑ ดังนั้นนายโชติจึงไม่เคยมีที่ดินพิพาทอยู่ในความครอบครอง เป็นแต่เพียงนายโชติอ้างการครอบครองในที่ดินของจำเลยที่ ๖ เท่านั้น เมื่อนายโชติโอนที่ดินพิพาทซึ่งตนไม่มีสิทธิใด ๆ แก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาทดีกว่านายโชติ โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ ๑ เพราะนายโชติมีพฤติการณ์ยอมรับสิทธิของจำเลยที่ ๖ ในที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๘๖๑ โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ ๖ ในคดีอาญาข้อหาบุกรุกที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๘๖๑ ของจำเลยที่ ๖ โดยยอมรับว่าได้บุกรุกที่ดินของจำเลยที่ ๖ ยอมสละการครอบครองและส่งมอบที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๖ และเมื่อ น.ส. ๓ ก. ได้ออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๕๒๖ นายโชติได้ฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดตะกั่วป่า ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดิน แต่ได้ถอนฟ้องโดยยอมรับว่าการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว คดีนี้ฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่ ๑๗๑/๒๕๔๙ หมายเลขแดงที่ ๑๘๑/๒๕๕๑ ของศาลจังหวัด ตะกั่วป่า เนื่องจากคดีดังกล่าว โจทก์ที่ ๑ คดีนี้ฟ้องจำเลยที่ ๖ คดีนี้ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๕๒๖ อันเป็นข้อกล่าวหาเดียวกัน และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค ๘ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ออกโฉนดตามโครงการของรัฐบาลโดยไม่เคยรู้จักโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ ๕ และที่ ๖ มาก่อน และไม่ทราบข้อพิพาทเรื่องที่ดินระหว่างนายโชติกับจำเลยที่ ๖ จึงไม่มีมูลเหตุจูงใจที่จะออกโฉนดที่ดินตามที่โจทก์ทั้งสองอ้าง เมื่อโจทก์ทั้งสองซื้อสิทธิการครอบครองที่ดินจากนายโชติซึ่งไม่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองจึงเป็นผู้บุกรุกที่ดินของจำเลยที่ ๖ และไม่ได้รับความเสียหาย หากโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ก็ชอบที่จะฟ้องนายโชติซึ่งเป็นคู่สัญญา การที่โจทก์ที่ ๒ ถูกศาลจังหวัดตะกั่วป่าพิพากษาว่ามีความผิดและลงโทษจำคุกในข้อหาบุกรุกที่ดินสาธารณะ ในคดีหมายเลขดำที่ ๕๙๔/๒๕๕๑ หมายเลขแดงที่ ๓๗๑/๒๕๕๒ มีสาเหตุมาจากการที่โจทก์ที่ ๑ ซื้อที่ดินจากผู้ที่ไม่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง มิใช่เพราะการรังวัดออกโฉนดที่ดินของจำเลยทั้งหก คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๕ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๖ ให้การว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม และฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่ ๑๗๑/๒๕๔๙ หมายเลขแดงที่ ๑๘๑/๒๕๕๑ ของศาลจังหวัดตะกั่วป่า ซึ่งคดีดังกล่าวโจทก์ที่ ๑ คดีนี้ฟ้องจำเลยที่ ๖ คดีนี้ ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๕๒๖ และคดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิฟ้องคดีนี้โดยไม่สุจริตและไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ ๖ ไม่ได้นำรังวัดออกโฉนดที่ดินทับที่ดินที่โจทก์ทั้งสองอ้าง โดยมีการออกโฉนดที่ดินตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ ส่วนโจทก์ทั้งสองอ้างว่าซื้อที่ดินจากนายโชติเมื่อปี ๒๕๔๖ นอกจากนี้ ก่อนคดีนี้ นายโชติและโจทก์เคยสมคบกันฟ้องจำเลยที่ ๖ ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ศาลจังหวัดตะกั่วป่ามาแล้ว ๒ ครั้ง โดยเมื่อปี ๒๕๔๖ นายโชติได้ฟ้องจำเลยที่ ๖ ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดิน เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๘๖/๒๕๔๖ หมายเลขแดงที่ ๒/๒๕๔๘ แต่นายโชติถอนฟ้องโดยยอมรับว่าการออกโฉนดที่ดินไม่ได้ทับที่ดินและเป็นการออกโฉนดที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมา โจทก์นำคดีเรื่องเดียวกันมาฟ้องจำเลยที่ ๖ อีก เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๗๑/๒๕๔๙ หมายเลขแดงที่ ๑๘๑/๒๕๕๑ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า โจทก์ทั้งสองขอให้ศาลเพิกถอนแผนที่ระวางโฉนดที่ดินพิพาท และพิพากษาว่ารายงานการเดินสำรวจและเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกแผนที่พิพาทตกเป็นโมฆะ แต่โจทก์ทั้งสองมิได้มีโฉนดที่ดิน หนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือเอกสารราชการอื่นใดมาประกอบในเอกสารท้ายคำฟ้อง เพื่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท คงมีเพียงสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทสองแปลงและรูปที่ดินซึ่งจัดทำขึ้นเองระหว่างนายโชติกับโจทก์ทั้งสอง คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงมิใช่กรณีการโต้แย้งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงว่า เป็นของโจทก์ทั้งสอง คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงมิใช่เรื่องโมฆะกรรมหรือการผิดสัญญาทางแพ่ง แต่ขอให้ศาลเพิกถอนแผนที่ระวางที่ดินพิพาท รวมทั้งรายงานการเดินสำรวจและเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกแผนที่ระวางที่ดินและโฉนดที่ดินที่พิพาท นอกจากนี้โจทก์ทั้งสองยังอ้างว่าจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายในการสำรวจรังวัดและออกโฉนดที่ดินที่ต้องแจ้งเจ้าของที่ดินข้างเคียงไปร่วมระวังในการนำชี้แนวเขตคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นการกล่าวอ้างว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการนั้น หรือโดยไม่สุจริต ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ทั้งสองอ้างว่าการที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๕๒๖ ให้แก่จำเลยที่ ๖ และจัดทำระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศใหม่ โดยไม่ใช้ระวางแผนที่ฯ เดิม เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะมีมูลเหตุมาจากการที่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ร่วมกันรังวัดที่ดิน โดยชี้แนวเขตที่ดินของจำเลยที่ ๖ ทับเข้าไปในที่ดินพิพาทที่โจทก์ทั้งสองซื้อมาจากนายโชติและทับเข้าไปในที่ดินของนายโชติด้วย เมื่อจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ และที่ ๖ ให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าซื้อมาจากนายโชตินั้น นายโชติไม่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิใด ๆ ในที่ดิน เป็นแต่เพียงนายโชติอ้างการครอบครองในที่ดินของจำเลยที่ ๖ การรังวัดออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๖ จึงไม่ได้รังวัดทับที่ดินที่โจทก์ ทั้งสองอ้าง การออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๖ ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ การที่จะพิจารณาว่าการออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๕๒๖ ให้แก่จำเลยที่ ๖ และการจัดทำระวางแผนที่ฯ ใหม่ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่พิพาทตามที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าซื้อมาจากนายโชตินั้น นายโชติเป็นเจ้าของมาก่อนขายให้แก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ แล้วจึงจะพิจารณาต่อไปว่าการออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๖ และการจัดทำระวางแผนที่ฯ ใหม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เมื่อการพิจารณาให้ได้ความว่านายโชติเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทมาก่อนขายให้แก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ เป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ทั้งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน คดีนี้จึงอยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมจะต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ตามนัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ ประกอบมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง จำเลยที่ ๑ มีฐานะเป็นส่วนราชการของกระทรวงมหาดไทย จึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และโดยที่พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ กำหนดให้จำเลยที่ ๑ มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งข้อ ๒ ของกฎกระทรวงฯ กำหนดให้จำเลยที่ ๑ มีอำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดิน ออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การรังวัดสอบเขต การแบ่งแยกที่ดิน การรวมที่ดิน การทำแผนที่สำหรับที่ดิน รวมทั้งจัดเก็บค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ดังนั้น การดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๖ และจัดทำระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศใหม่ที่เป็นข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นการกระทำทางปกครองประเภทหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองอ้างว่า เป็นเจ้าของที่ดินสองแปลง โดยซื้อมาจากนายโชติ เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ แต่เมื่อปี ๒๕๔๒ จำเลยที่ ๑ ได้ประกาศออกโฉนดที่ดินให้แก่ราษฎรทั้งตำบลในท้องที่นั้น และปรากฏว่าในการรังวัดออกโฉนดที่ดินให้แก่ น.ส. ๓ ก. ของจำเลยที่ ๖ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ได้ร่วมกันรังวัดที่ดินโดยชี้แนวเขตที่ดินของจำเลยที่ ๖ ทับเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ ทั้งสองได้รับความเสียหายไม่สามารถเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวได้ จึงขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนระวางแผนที่ฯ ใหม่ โดยให้ถือระวางแผนที่ฯ เดิม และขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินของจำเลยที่ ๖ รวมทั้งรายงานการเดินสำรวจและเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกโฉนดที่ดินดังกล่าว จึงเห็นได้ว่าข้อพิพาทในคดีนี้โจทก์ประสงค์ให้ศาลตรวจสอบการกระทำของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อีกทั้งเมื่อพิจารณาคำขอท้ายคำฟ้องก็เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนระวางแผนที่ฯ เพิกถอนโฉนดที่ดิน เพิกถอนรายงานการเดินสำรวจและเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกระวางแผนที่ฯ ซึ่งเป็นผลมาจากการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งสิ้น กรณีตามคำฟ้องจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับตามคำขอของโจทก์ทั้งสองได้ ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
หากข้อพิพาทในคดีนี้มีประเด็นต้องพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ประเด็นดังกล่าวก็เป็นเพียงประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงในคดีที่ใช้ประกอบการพิจารณาข้อหากระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และแม้การพิจารณาในเรื่องสิทธิในทรัพย์สินจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดิน ก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่าอยู่ในอำนาจของ ศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดี ศาลปกครองจึงสามารถนำบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดินมาใช้ในการวินิจฉัยข้อพิพาทคดีนี้ได้ นอกจากนี้ มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาวินิจฉัยข้อพิพาทระหว่างบุคคลหรือนิติบุคคลกับหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้โดยตรง เมื่อคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของของศาลปกครอง ศาลยุติธรรมจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยที่ ๑ จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม แต่ตามคำฟ้องโจทก์ทั้งสองอ้างว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินสองแปลงตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๓ ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา โดยซื้อมาจากนายโชติ ปรากฏอยู่ในระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศที่ ๔๖๒๖ III แผ่นที่ ๕๖ ส่วนจำเลยที่ ๖ ซื้อที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๘๖๑ จากนายอุดม แต่ถูกจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ร่วมกันรังวัดออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๕๒๖ แทน น.ส. ๓ ก. ของจำเลยที่ ๖ ทับที่ดินของโจทก์ทั้งสองและที่ดินอีกส่วนหนึ่งของนายโชติ โดยจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ จัดทำระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศขึ้นใหม่ไม่ถือเอาระวางแผนที่ฯ เดิม ทำให้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองและที่ดินของนายโชติไม่ปรากฏอยู่ในระวางแผนที่ฯ ใหม่ ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายไม่สามารถเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินกับบังกาโลและถูกทางราชการดำเนินคดีอาญาฐานบุกรุกที่ดินสาธารณะ ขอให้พิพากษาว่า ระวางแผนที่ ฯ ใหม่ จัดทำขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้เพิกถอน โดยให้ถือระวางแผนที่ฯ เดิมเป็นแผนที่ที่ใช้ในการออกโฉนดที่ดินแก่ราษฎรทั้งตำบลในท้องที่นั้น และพิพากษาว่าโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๕๒๖ ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้เพิกถอนหรือยกเลิก กับพิพากษาว่ารายงานการเดินสำรวจและเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการออกระวางแผนที่ฯ ใหม่ ตกเป็นโมฆะ ส่วนจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ให้การในทำนองเดียวกันว่า การเดินสำรวจที่ดินไม่มีผู้คัดค้าน ที่ดินพิพาทไม่ปรากฏอยู่ในระวางแผนที่ ฯ เดิม ตามที่โจทก์ทั้งสองอ้าง เพราะแผนที่ดังกล่าวจัดทำขึ้นเอง ไม่ได้ทำโดยเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ และนายโชติไม่มีเอกสารทางราชการใด ๆ รับรองสิทธิ ซึ่งจากการตรวจสอบไม่ปรากฏรูปที่ดินพิพาท ปรากฏเฉพาะที่ดินเลขที่ ๒๗ ตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๘๖๑ นายโชติจึงไม่เคยมีที่ดินพิพาทอยู่ในความครอบครอง เป็นแต่เพียงอ้างการครอบครองในที่ดินของจำเลยที่ ๖ เมื่อโจทก์ทั้งสองซื้อสิทธิการครอบครองที่ดินจากนายโชติซึ่งไม่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองจึงเป็นผู้บุกรุกที่ดินของจำเลยที่ ๖ และจำเลยที่ ๖ ให้การว่า คดีนี้ฟ้องซ้อนกับคดีที่โจทก์ที่ ๑ ฟ้องจำเลยที่ ๖ ต่อศาลจังหวัดตะกั่วป่า ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๕๒๖ คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ซึ่งก่อนหน้านี้นายโชติก็ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๖ ต่อศาลเดียวกัน ในประเด็นเดียวกันแต่ได้ถอนฟ้องโดยยอมรับว่า การออกโฉนดที่ดินไม่ได้ทับที่ดินและเป็นการออกโฉนดที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๖ ไม่ได้นำรังวัดออกโฉนดที่ดินทับที่ดินที่โจทก์ทั้งสองอ้าง โดยมีการออกโฉนดที่ดินตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ ส่วนโจทก์ทั้งสองอ้างว่าซื้อที่ดินจากนายโชติเมื่อปี ๒๕๔๖ ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ทั้งสองได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้าง หรือจำเลยที่ ๖ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป คดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางวาสนา ดีบุกหรือบุญญสิทธิ์ ที่ ๑ นายสิทธิชัย บุญญสิทธิ์ ที่ ๒ โจทก์ กรมที่ดิน ที่ ๑ นายพิชิต ตันเวชกุล ที่ ๒ นายสมพงษ์ รอดเรือง ที่ ๓ นายโชติ ประกอบบุญ ที่ ๔ นายไพโรจน์ เชื่อมทอง ที่ ๕ นายสุทิน ข้อเพชร ที่ ๖ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สุขสันต์ สิงหเดช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ