คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7405/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีตามตาราง 5 (3) ท้าย ป.วิ.พ. ค่าธรรมเนียมเมื่อยึดทรัพย์สินซึ่งมิใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย เป็นค่าบริการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเรียกเก็บจากคู่ความที่มาขอใช้บริการการยึดทรัพย์จากเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว แต่ต่อมาไม่มีการขายทรัพย์ที่ยึดนั้น อย่างไรก็ตามคู่ความจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเช่นว่านี้ก็ต่อเมื่อเหตุที่คู่ความนำยึดทรัพย์นั้นมิได้เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่โดยผิดพลาดบกพร่องของเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐที่เกี่ยวข้องด้วย คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีพิมพ์หมายเลขที่โฉนดที่ดินที่ขออายัดชั่วคราวและเจ้าพนักงานที่ดินรับรองสำเนาโฉนดที่ดินไม่ถูกต้องตรงต่อความจริง ล้วนมีส่วนทำให้ผู้แทนโจทก์เข้าใจผิดว่าขณะนำยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 43985 นั้น ที่ดินโฉนดดังกล่าวยังเป็นของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาอยู่ ดังนั้น การที่ผู้แทนโจทก์นำยึดที่ดินแล้วมีเหตุต้องถอนการยึดเพราะที่ดินที่ยึดมิใช่ทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอันจะดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้เช่นนั้น จึงหาใช่เกิดจากความผิดของโจทก์ผู้นำยึดทรัพย์ไม่ โจทก์จึงไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายตามตาราง 5 (3) ท้าย ป.วิ.พ.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากคู่ความตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และศาลพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์แต่จำเลยทั้งสามไม่ชำระ โจทก์จึงขอให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยทั้งสาม ต่อมาวันที่ 3 พฤศจิกายน 2540 ผู้แทนโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 43985 ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ของจำเลยที่ 3 แต่ต่อมาปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวโอนไปเป็นของบุคคลภายนอกแล้วตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2540 เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเรียกให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายเพื่อจะได้ดำเนินการถอนการยึดที่ดินแปลงดังกล่าวต่อไป
โจทก์ยื่นคำร้องว่า ก่อนโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 43985 ของจำเลยที่ 3 โจทก์ได้ยื่นคำแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งอายัดที่ดินแปลงดังกล่าวไปยังเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรี สาขาชะอำ โดยห้ามทำนิติกรรมชั่วคราวในระหว่างที่โจทก์สืบหาที่ตั้งของที่ดิน และวันที่ 14 ตุลาคม 2540 โจทก์แถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดที่ดินต่อไปอีก 20 วัน เนื่องจากยังหาที่ตั้งของที่ดินไม่ได้ แต่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีพิมพ์เลขโฉนดที่ขออายัดไปยังเจ้าพนักงานที่ดินผิดพลาดเป็นเลขที่ 23985 ทั้งสองครั้ง ทำให้จำเลยที่ 3 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวไปยังบุคคลภายนอกก่อนที่โจทก์จะนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินมา ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากความผิดพลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ขอให้ศาลมีคำสั่งถอนการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 43985 โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขาย
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2540 ผู้แทนโจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 43985 ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ของจำเลยที่ 3 ต่อมาปรากฏว่าที่ดินแปลงดังกล่าวได้โอนไปเป็นของบุคคลภายนอกแล้วตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2540 เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเรียกให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายเพื่อจะได้ดำเนินการถอนการยึดที่ดินแปลงดังกล่าว และข้อเท็จจริงยังฟังได้ด้วยว่าก่อนโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 43985 ของจำเลยที่ 3 นั้น โจทก์ได้ยื่นคำแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งอายัดที่ดินแปลงดังกล่าวไปยังเจ้าพนักงานที่ดินแล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2540 โดยห้ามทำนิติกรรมชั่วคราวในระหว่างที่โจทก์สืบหาที่ตั้งของที่ดิน และต่อมาวันที่ 14 ตุลาคม 2540 โจทก์ได้แถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดที่ดินต่อไปอีก 20 วัน เนื่องจากยังสืบหาที่ตั้งของที่ดินไม่ได้ แต่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีพิมพ์เลขโฉนดที่ดินที่โจทก์ขออายัดผิดพลาดจากเลขที่ 43985 เป็นเลขที่ 23985 ทั้งสองครั้ง เป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 43985 ดังกล่าวไปยังบุคคลภายนอกก่อนที่โจทก์จะนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึด คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ต้องเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีกรณียึดแล้วไม่มีการขายตามตาราง 5 (3) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หรือไม่ ตามหนังสือรายงานข้อเท็จจริงของสำนักงานบังคับคดีจังหวัดเพชรบุรี ที่ ยธ 0518.04/01/832 ฉบับลงวันที่ 28 เมษายน 2546 เอกสารในสำนวนสารบัญอันดับที่ 87 นอกจากจะปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีหนังสือแจ้งอายัดฉบับลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2540 (ที่ถูกวันที่ 3 ตุลาคม 2540) และฉบับลงวันที่ 16 ตุลาคม 2540 ไปยังเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรี ขอห้ามทำนิติกรรมชั่วคราวโดยหนังสือแจ้งอายัดทั้งสองฉบับข้างต้น เจ้าพนักงานบังคับคดีพิมพ์เลขโฉนดที่ดินผิดพลาดจากเลขที่ 43985 เป็น 23985 แล้ว ยังได้ความจากหนังสือขออนุญาตถอนการยึดทรัพย์โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมถอนการยึดของสำนักงานบังคับคดีจังหวัดเพชรบุรี ที่ ยธ 0419.04/01//5644 ฉบับลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2543 ด้วยว่าก่อนที่ผู้แทนโจทก์จะได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีออกไปยึดที่ดินในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2540 ผู้แทนโจทก์ก็ได้นำส่งสำเนาโฉนดที่ดินที่เจ้าพนักงานที่ดินรับรองสำเนาถูกต้องลงวันที่ 30 ตุลาคม 2540 (ก่อนวันยึดเพียง 4 วัน) ซึ่งในสำเนาโฉนดที่ดินดังกล่าวยังคงมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์อยู่ และนายเลิศพันธุ์ เทียนทอง หัวหน้าสำนักงานบังคับจังหวัดเพชรบุรี ผู้ทำหนังสือฉบับนี้ก็ได้เสนอความเห็นต่ออธิบดีกรมบังคับคดีด้วยว่า “…หากเจ้าพนักงานที่ดินไม่รับรองสำเนาถูกต้องก็ดีหรือหลังสำเนาโฉนดมีการเปลี่ยนผู้ถือกรรมสิทธิ์ก็ดี ทั้งผู้แทนโจทก์และเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ย่อมจะไม่ทำการยึดที่ดินแปลงดังกล่าว เมื่อต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรี สาขาชะอำ ได้ตรวจสอบคำขอของเจ้าพนักงานบังคับคดีและแจ้งตามหนังสือที่ พบ 0022.01.2/5171 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2543 ว่าที่ดินได้มีการทำนิติกรรมโอนให้บุคคลอื่นเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2540 (ก่อนวันยึด 25 วัน) การรับรองสำเนาโฉนดของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรี สาขาชะอำ ที่รับรองไว้เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2540 จึงไม่ตรงกับความจริง จึงถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดของเจ้าพนักงานที่ดินเอง เป็นเหตุให้ผู้แทนโจทก์และเจ้าพนักงานบังคับคดีออกทำการยึดที่ดินที่โอนไปแล้วนั้นโดยไม่อาจจะควรทราบว่าได้มีการโอนไปก่อนยึด…” ดังนี้ เห็นว่า ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ได้กำหนดความหมายของคำว่า “ค่าธรรมเนียม” ว่า ค่าบริการที่เรียกเก็บตามกฎหมาย ดังนั้น ค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีตามตาราง 5 (3) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ค่าธรรมเนียมเมื่อยึดทรัพย์สินซึ่งมิใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย จึงเป็นค่าบริการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเรียกเก็บจากคู่ความที่มาขอใช้บริการการยึดทรัพย์จากเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว แต่ต่อมาไม่มีการขายทรัพย์ที่ยึดนั้นอย่างไรก็ตามคู่ความจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเช่นว่านี้ก็ต่อเมื่อเหตุที่คู่ความนำยึดทรัพย์นั้น มิได้เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่โดยผิดพลาดบกพร่องของเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐที่เกี่ยวข้องด้วย คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความจากการที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นว่า ทั้งการปฏิบัติผิดพลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่พิมพ์หมายเลขที่โฉนดที่ดินที่ขออายัดชั่วคราว และเจ้าพนักงานที่ดินที่รับรองสำเนาโฉนดที่ดินไม่ถูกต้องตรงต่อความจริง ล้วนมีส่วนทำให้ผู้แทนโจทก์เข้าใจผิดว่าขณะนำยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 43985 นั้น ที่ดินโฉนดดังกล่าวยังเป็นของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์อยู่ ดังนั้น การที่ผู้แทนโจทก์นำยึดที่ดินแล้วมีเหตุต้องถอนการยึดเพราะที่ดินที่ยึดมิใช่ทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอันจะดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้เช่นนั้น จึงหาใช่เกิดจากความผิดของโจทก์ผู้นำยึดทรัพย์ไม่ โจทก์จึงไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายตามตาราง 5 (3) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า ในวันยึดหรือก่อนนำยึด 1 วัน โจทก์สามารถตรวจสอบกับเจ้าพนักงานที่ดินได้ว่าที่ดินแปลงดังกล่าวยังเป็นของจำเลยที่ 3 อยู่หรือไม่ การที่โจทก์นำยึดโดยไม่ตรวจสอบก่อนจึงเป็นความบกพร่องของโจทก์เองนั้น เห็นว่า ตามสารบัญจดทะเบียนหลังโฉนดที่ดินเลขที่ 43985 ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้โอนที่ดินแปลงนี้ให้แก่นางรสรินทร์ นิพภยะ ไปตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2540 แล้ว แต่สำเนาโฉนดที่ดินที่เจ้าพนักงานที่ดินรับรองสำเนาถูกต้องลงวันที่ 30 ตุลาคม 2540 ที่ผู้แทนโจทก์นำส่งต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีในการนำยึดยังคงแสดงว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์อยู่ ซึ่งแสดงว่าขณะนั้นสารบัญจดทะเบียนหลังสำเนาโฉนดที่เจ้าพนักงานที่ดินรับรองถูกต้องยังมิได้มีการจดแจ้งรายการจดทะเบียนที่จำเลยที่ 3 โอนที่ดินให้แก่นางรสรินทร์ อันเป็นข้อบ่งชี้ชัดแจ้งว่าเจ้าพนักงานที่ดินรับรองสำเนาโฉนดที่ดินไม่ถูกต้องครบถ้วนตรงต่อความเป็นจริง อีกทั้งโจทก์ก็มิได้เป็นเจ้าของที่ดินอันจะมีต้นฉบับหรือคู่ฉบับที่จะตรวจสอบได้ ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วยกับศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่วินิจฉัยว่าเป็นความผิดพลาดบกพร่องของโจทก์เอง ส่วนที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะพิมพ์เลขโฉนดในหนังสือแจ้งอายัดผิดพลาด เป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 โอนที่ดินไปให้แก่ผู้อื่นจะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวเอาแก่ผู้เกี่ยวข้องต่างหากนั้น เห็นว่า ตามคำแถลงของโจทก์ฉบับลงวันที่ 1 ตุลาคม 2540 โจทก์ระบุหมายเลขโฉนดที่ขออายัดชั่วคราวเพื่อสืบหาที่ตั้งของที่ดินไว้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 3 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์โฉนดที่ดินเลขที่ 43985 หากแต่เป็นความผิดพลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่มีหนังสือแจ้งอายัดชั่วคราวไปยังเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรี สาขาชะอำ เป็นหมายเลขโฉนด 23985 ซึ่งหนังสือแจ้งอายัดห้ามชั่วคราวทั้งสองฉบับที่พิมพ์เลขโฉนดผิดพลาดนั้น ก็เป็นหนังสือที่หัวหน้าสำนักงานบังคับคดีจังหวัดเพชรบุรีมีไปถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรี สาขาชะอำ โดยตรงโดยโจทก์ไม่มีโอกาสทราบข้อผิดพลาดเช่นว่านั้นเลย ดังนั้น โจทก์ย่อมเข้าใจว่าได้มีการอายัดที่ดินโฉนดเลขที่ 43985 ของจำเลยที่ 3 ตามที่ตนได้แจ้งความประสงค์ขออายัดชั่วคราวแล้ว ซึ่งหากเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่พิมพ์หมายเลขโฉนดผิดพลาดจำเลยที่ 3 ย่อมไม่อาจโอนที่ดินไปยังบุคคลอื่นได้ เหตุผิดพลาดที่ทำให้เกิดปัญหายึดแล้วไม่มีการขายอันจะทำให้โจทก์ต้องเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีตามตาราง 5 (3) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งก็จะไม่เกิดขึ้น ดังนั้น ความบกพร่องผิดพลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเอง ก็มีส่วนโดยตรงที่ทำให้โจทก์นำยึดที่ดินผิดพลาด จึงไม่ชอบที่ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยให้โจทก์ต้องเสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายก่อนแล้วค่อยไปใช้สิทธิดำเนินการเอาแก่ผู้เกี่ยวข้องต่างหากต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาต้องกันให้โจทก์ต้องเสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายตามตาราง 5 (3) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับว่า ให้ถอนการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 43985 ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยโจทก์ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายตามตาราง 5 (3) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share