คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2581/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตยักยอกถึงที่สุดแล้วโดยศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 สำหรับจำเลยที่ 4 ให้ยกฟ้องโจทก์ เพราะข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 4 ปฏิบัติไปตามระเบียบแบบแผน เช่นนี้ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งซึ่งผู้เสียหายฟ้องจำเลยที่ 4 กับพวกให้ชดใช้เงินดังกล่าวในคดีอาญาคืนฐานละเมิด ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีอาญา โดยจำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดในจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้อง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ร่วมกันกระทำการทุจริตเบียดบังยักยอกเอาเงินค่าน้ำประปาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยทั้งสี่ อันหมายถึงว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ทำละเมิดต่อโจทก์โดยเอาเงินค่าน้ำประปาของโจทก์ไปโดยทุจริต เป็นการยึดถือเอาเงินของโจทก์ไว้โดยไม่มีสิทธิ โจทก์ผู้เป็นเจ้าของเงินมีสิทธิติดตามเอาคืนได้ตามมาตรา 1336 ประกอบด้วยมาตรา 438 ส่วนคดีสำหรับจำเลยที่ 5 และที่ 6 โจทก์ขอให้รับผิดใช้ค่าเสียหายเพราะปฏิบัติงานด้วยความประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 สมคบกันยักยอกเอาเงินไปได้ จำเลยที่ 5 ที่ 6 มิได้ยึดถือเงินของโจทก์ไว้ หากจะต้องรับผิดต่อโจทก์ก็เป็นความรับผิดในค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรค 2 ซึ่งมีอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 448
คณะกรรมการสอบสวนพิจารณาหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งได้รายงานต่ออธิบดีกรมโจทก์ว่า เห็นควรให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันชดใช้นายดำรงรองอธิบดีได้รับทราบรายงานดังกล่าวเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2506 และสั่งว่า “ปปก.พิจารณาเสนอความเห็น”ลงชื่อ “ดำรง แทน” เช่นนี้ มีความหมายว่านายดำรงสั่งแทนอธิบดีและถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2506 โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2507 ฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 5 ที่ 6 จึงพ้น 1 ปี และขาดอายุความแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งหกคนเป็นพนักงานกองประปากรุงเทพ ซึ่งเป็นหน่วยงานของโจทก์ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2504 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2505จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ร่วมกันกระทำการทุจริตเบียดบังยักยอกเอาเงินค่าประปาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยทั้งสี่ คือ เงินค่าน้ำที่เก็บได้ 99,132 บาท 65สตางค์ และบิลค่าน้ำที่พิมพ์แล้วถือเป็นตัวเงิน 129,421 บาท 50 สตางค์ รวมเป็นเงิน 228,554 บาท 15 สตางค์ เหตุที่เกิดการทุจริตขึ้นได้ เพราะจำเลยที่ 5และที่ 6 ปฏิบัติงานและควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ด้วยความประมาทเลินเล่อ ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันชดใช้เป็นเงิน228,554 บาท 15 สตางค์ ให้จำเลยที่ 6 ชดใช้ร่วมกับจำเลยอีก 5 คน ในบิลที่ขาดหายไปเป็นเงิน 129,421 บาท 50 สตางค์แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยทั้งหกคนต่างให้การปฏิเสธความรับผิดและต่อสู้ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 228,554 บาท 50 สตางค์ ซึ่งมีจำนวนเงิน 106,906 บาท 50 สตางค์ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ต้องรับผิดใช้เงินให้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีอาญารวมอยู่ด้วยให้โจทก์ พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ด้วย และคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 ที่ 6 ไม่ขาดอายุความ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันกระทำการทุจริตเบียดบังยักยอกเอาเงินค่าประปาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยทั้งสี่พนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นจำเลยต่อศาลอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ยักยอก ตามคดีดำของศาลอาญาที่ 146/2506 ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาหรือข้ออ้างของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในเงินส่วนหนึ่งที่อ้างว่าจำเลยยักยอกไปนั้น เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา คดีหมายเลขดำที่ 146/2506 ถึงที่สุดชั้นศาลอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 4 ปฏิบัติไปตามระเบียบแบบแผนไม่ต้องรับผิดในเงินจำนวน 14,070 บาท 50 สตางค์ ตามบิล 9 ฉบับ เงินนอกนั้นโจทก์นำสืบไม่ถึงว่า จำเลยที่ 4 มีส่วนหรือร่วมมือกระทำผิดด้วย จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดในจำนวนเงิน 106,906 บาท 50 สตางค์ ที่จำเลยที่ 4 ถูกฟ้องในคดีอาญาอันเป็นส่วนหนึ่งของเงินที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้ โจทก์จะอ้างว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ไปเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำตามใบเสร็จรวม 9 ฉบับ และไม่ได้นำส่งจึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อันเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาไม่ได้ สำหรับเงินจำนวนนอกจากนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยักยอก

ส่วนคดีสำหรับจำเลยที่ 5 และที่ 6 ที่โจทก์อ้างว่ายังไม่ขาดอายุความเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 นั้น ปรากฏว่าโจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ต่างกันกับของจำเลยที่ 5 และที่ 6 คือ สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 บรรยายว่าได้ร่วมกันกระทำการทุจริตเบียดบังยักยอกเอาเงินค่าน้ำประปาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยทั้งสี่อันหมายถึงว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ทำละเมิดโดยเอาเงินค่าน้ำประปาของโจทก์ไปโดยทุจริตเป็นการยึดถือเอาเงินของโจทก์ไว้โดยไม่มีสิทธิ โจทก์ผู้เป็นเจ้าของเงินมีสิทธิตามเอาคืนได้ตามอำนาจแห่งเจ้าของทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ประกอบด้วยมาตรา 438 ที่ว่าค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด ส่วนคดีสำหรับจำเลยที่ 5 และที่ 6 โจทก์บรรยายฟ้องให้รับผิดใช้ค่าเสียหายเพราะจำเลยทั้งสองนี้ปฏิบัติงานและควบคุมการปฏิบัติงานจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ด้วยความประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 สมคบกันยักยอกเอาเงินไปได้ จำเลยที่ 5 และที่ 6 มิได้ยึดถือเงินของโจทก์ไว้ หากจะต้องรับผิดต่อโจทก์ก็เป็นความผิดในค่าเสียหายซึ่งบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคสองตอนท้าย กรณีของจำเลยที่ 5 และที่ 6 จึงแตกต่างกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และต้องปรับด้วยมาตรา 448 วรรคแรก

คณะกรรมการสอบสวนพิจารณาหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งเกี่ยวกับเรื่องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ต้องหาว่ายักยอกเงิน ได้รายงานต่ออธิบดีกรมโยธาเทศบาลว่าเห็นควรให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันชดใช้ นายดำรง ชลวิจารณ์ รองอธิบดีกรมโยธาเทศบาลได้รับทราบรายงานดังกล่าวเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2506 และสั่งว่า “ปปก.พิจารณาเสนอความเห็น” ลงชื่อ “ดำรง แทน” ดังนี้ เป็นเรื่องนายดำรงรองอธิบดีสั่งแทนอธิบดีที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2506 แต่โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 7 (ที่ถูกเป็นวันที่ 10) กรกฎาคม 2507 จึงพ้นหนึ่งปีตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 แล้ว ฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 5 ที่ 6 จึงขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

พิพากษายืน

Share