แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่เอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดว่า จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจค้นบ้านพักของโจทก์ในข้อหายักยอกทรัพย์แล้วยึดวัตถุมงคลและองค์จตุคามรามเทพของโจทก์ไว้เป็นของกลาง ต่อมาคดีถึงที่สุดปรากฏว่าของกลางจำนวนหนึ่งสูญหายไป ขอให้ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย เห็นว่า มูลความแห่งคดีนี้สืบเนื่องมาจาก การใช้อำนาจยึดทรัพย์ที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีอาญาของเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๕ ดังนั้น การที่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ตรวจค้นบ้านพักพร้อมกับยึดทรัพย์ของโจทก์ เป็นการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจไว้เป็นการเฉพาะ และการที่โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยละเลยไม่ดูแลทรัพย์สินของกลางทำให้สูญหาย จนไม่สามารถคืนได้ทั้งที่เสร็จคดีแล้ว กรณีจึงเป็นคดีพิพาทที่เกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ อันเนื่องจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๐๓/๒๕๕๖
วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๖
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช
ระหว่าง
ศาลปกครองนครศรีธรรมราช
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๒ นายผ่องหรืออะผ่อง สกุลอมร โจทก์ ยื่นฟ้องสำนักงาน ตำรวจแห่งชาติ ที่ ๑ พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ที่ ๒ พันตำรวจเอก ประเสริฐ ริยาพันธ์ ที่ ๓ พันตำรวจโท เจียร ชูหนู ที่ ๔ พันตำรวจเอก สุวรรณ ขุนทองจันทร์ ที่ ๕ พันตำรวจเอก ภูดิศ นรสิงห์ ที่ ๖ จำเลย ต่อศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๓๕๓/๒๕๕๒ ความว่า เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๔ จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ได้นำหมายศาลเข้าตรวจค้นบ้านพักของโจทก์ กรณีพลตำรวจโท สรรเพชญ ธรรมาธิกุล แจ้งความต่อจำเลยที่ ๔ ให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ในข้อหายักยอกทรัพย์วัตถุมงคลประจำหลักเมืองนครศรีธรรมราช จำเลยที่ ๔ รับแจ้งความไว้เป็นคดีอาญาที่ ๒๖๗๒/๒๕๔๔ และยึดวัตถุมงคลและองค์จตุคามรามเทพซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์ไว้เป็นของกลางหลายรายการ ต่อมาพนักงานอัยการยื่นฟ้องโจทก์กับพวกต่อศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ศ.ป.ก. ๙/๒๕๔๕ แต่ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโจทก์ คดีถึงที่สุด โจทก์จึงยื่นเรื่องต่อจำเลยที่ ๖ ขอตรวจสอบของกลางในคดีดังกล่าว ปรากฏว่าของกลางจำนวนหนึ่งสูญหายไปจากการครอบครองของสถานีตำรวจภูธรเมืองนครศรีธรรมราช โดยไม่ทราบว่าสูญหายไปในช่วงเวลาใด เนื่องจากจำเลยที่ ๔ นำของกลางไปเก็บไว้ที่งานพลาธิการซึ่งมิใช่สถานที่เก็บรักษาตามระเบียบเกี่ยวกับคดีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การกระทำของจำเลยทั้งหกจึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ในการดูแลรักษาของกลางตามระเบียบดังกล่าว เป็นเหตุให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย โจทก์แจ้งความดำเนินคดีอาญาในความผิดฐานลักทรัพย์ ยักยอก และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่แล้ว และให้จำเลยทั้งหกติดตามทรัพย์ของกลางคืนแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้ราคาแทน แต่จำเลยทั้งหกเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชมีคำสั่งรับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๑ เนื่องจากจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ เป็นเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ วัตถุมงคลของกลางในคดีอาญาที่ ๒๖๗๒/๒๕๔๔ เป็นของคณะกรรมการชมรมนครศรีธรรมราช พ.ศ. ๒๕๒๘ ไม่ได้เป็นของโจทก์และโจทก์ยินยอมให้ตรวจยึดโดยไม่มีการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและฟ้องผิดศาล ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นการฟ้องคดีเนื่องจากหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการจัดเก็บรักษาและตรวจสอบทรัพย์สินของกลางอันเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครองจนทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นคดีพิพาททางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า คำฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเกี่ยวกับการดูแลของกลางอันเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวน เมื่อเป็นอำนาจที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงเป็นการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ส่วนที่กล่าวหาว่าการนำทรัพย์ของกลางไปเก็บไว้ที่งานพลาธิการ เป็นเหตุให้ของกลางสูญหายหลายรายการ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ก็เป็นการกล่าวหาว่าเจ้าพนักงานตำรวจกระทำการโดยจงใจหรือประมาทอันเป็นการกระทำทางกายภาพ การกระทำดังกล่าวมิใช่การกระทำทางปกครอง คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ทั้งนี้ ตามคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๑๗/๒๕๔๙
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินคดีอาญาตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลยุติธรรมจนคดีถึงที่สุดแล้ว และคำฟ้องของโจทก์มิได้เป็นการโต้แย้งการดำเนินการของพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๘๕ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ยึดวัตถุมงคลประจำหลักเมืองนครศรีธรรมราชและองค์จตุคามรามเทพของโจทก์ไว้เป็นของกลางในคดีอาญาเพื่อพิสูจน์ความผิดของโจทก์ แต่เป็นการฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่เก็บรักษาของกลางที่ยึดไว้ให้เป็นไปตามระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะ ๑๕ ของกลางและของส่วนตัวผู้ต้องหา กระทำละเมิดไม่ดูแลรักษาของกลาง เป็นเหตุให้ของกลางบางรายการสูญหายไป ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เมื่อการกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๒ ตามที่โจทก์กล่าวหา เกิดจากการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาของกลางตามระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีดังกล่าว อันเป็นการกระทำทางปกครอง คดีนี้จึงมิใช่ข้อพิพาทจากการกระทำละเมิดในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการละเลยของเจ้าหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) ทั้งนี้ ตามคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๓/๒๕๕๑ และที่ ๒๖/๒๕๕๑
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดว่า จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ได้นำหมายศาลเข้าตรวจค้นบ้านพักของโจทก์ในข้อหายักยอกทรัพย์วัตถุมงคลประจำหลักเมืองนครศรีธรรมราช และยึดวัตถุมงคลและองค์จตุคามรามเทพซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์ไว้เป็นของกลางหลายรายการ ต่อมาพนักงานอัยการยื่นฟ้องโจทก์กับพวก แต่ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุด โจทก์จึงยื่นเรื่องต่อจำเลยที่ ๖ ขอตรวจสอบของกลาง ปรากฏว่าของกลางจำนวนหนึ่งสูญหายไปจากการครอบครองของสถานีตำรวจ เนื่องจากจำเลยที่ ๔ นำของกลางไปเก็บไว้ที่งานพลาธิการซึ่งมิใช่สถานที่เก็บรักษาตามระเบียบเกี่ยวกับคดีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำเลยทั้งหกละเลยต่อหน้าที่ในการดูแลรักษาของกลาง ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ วัตถุมงคลของกลางเป็นของคณะกรรมการชมรมนครศรีธรรมราช พ.ศ. ๒๕๒๘ ไม่ได้เป็นของโจทก์และโจทก์ยินยอมให้ตรวจยึดโดยไม่มีการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ ดังนั้น มูลความแห่งคดีจึงสืบเนื่องมาจากการใช้อำนาจยึดทรัพย์ที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีอาญาของเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๕mวรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า เจ้าพนักงานผู้จับหรือรับตัวผู้ถูกจับไว้มีอำนาจค้นตัวผู้ต้องหา และยึดสิ่งของต่างๆ ที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ และวรรคสามบัญญัติว่า สิ่งของใดที่ยึดไว้เจ้าพนักงานมีอำนาจยึดไว้จนกว่าคดีถึงที่สุด เมื่อเสร็จคดีแล้วก็ให้คืนแก่ผู้ต้องหาหรือแก่ผู้อื่นซึ่งมีสิทธิเรียกร้องขอคืนสิ่งของนั้น เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น ดังนั้น การที่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นบ้านพักพร้อมกับยึดวัตถุมงคลและองค์จตุคามรามเทพของโจทก์ จึงเป็นการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจไว้เป็นการเฉพาะ และการที่โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยทั้งหกละเลยไม่ดูแลทรัพย์สินของโจทก์ที่เป็นของกลางทำให้ทรัพย์สินสูญหายจนไม่สามารถคืนของกลางได้ตามหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งที่เสร็จคดีแล้ว กรณีจึงเป็นคดีพิพาทที่เกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันเนื่องจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายผ่องหรืออะผ่อง สกุลอมร โจทก์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๑ พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ที่ ๒ พันตำรวจเอก ประเสริฐ ริยาพันธ์ ที่ ๓ พันตำรวจโท เจียร ชูหนู ที่ ๔ พันตำรวจเอก สุวรรณ ขุนทองจันทร์ ที่ ๕ พันตำรวจเอก ภูดิศ นรสิงห์ ที่ ๖ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(สุขสันต์ สิงหเดช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ