แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยมีอาหารปลอมหรืออาหารที่ไม่ได้มาตรฐานไว้เพื่อจำหน่าย โดยที่สินค้านั้นมีเครื่องหมายการค้าปลอมติดอยู่ ก็ด้วยเจตนาเดียวคือประสงค์จะมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งอาหารปลอม การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่การกระทำความผิดต่างกรรมกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2550 เวลากลางวัน จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าซีอิ๊วขาวและซอสปรุงรส 3,984 ขวด ที่มีตราเครื่องหมาย “” (เด็กสมบูรณ์) และ “” (ภูเขาทอง) 5,064 ขวด อันเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีผู้ทำปลอมเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของบริษัทหยั่น หว่อ หยุ่น จำกัด ผู้เสียหายที่ 1 และบริษัทไทยเทพรสผลิตภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้วในราชอาณาจักรโดยจำเลยรู้ว่าเป็นสินค้าที่มีการปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายทั้งสอง และจำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งอาหารปลอมและอาหารผิดมาตรฐาน โดยจำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งซีอิ๊วขาว 3,984 ขวด และซอสปรุงรส 5,064 ขวด ที่มีตราเครื่องหมายการค้าที่มีผู้ทำปลอมเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหายทั้งสองติดแสดงที่ขวดเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์ หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิตอาหารดังกล่าวและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งซีอิ๊วขาวและซอสปรุงรสที่ไม่ได้คุณภาพและมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 202) พ.ศ.2543 และ (ฉบับที่ 248) พ.ศ.2544 ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4, 108, 110, 115, 117 พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 4, 6, 25, 27, 28, 59, 60 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบด้วยมาตรา 108 พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 25 (2) (3), 27 (4), 59, 60 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม จำคุก 6 เดือน ฐานปลอมอาหารและฐานผลิตอาหารผิดมาตรฐาน เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานปลอมอาหารซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นควรวินิจฉัยก่อนว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม เห็นว่า ตามคำฟ้องจำเลยมีสินค้าซีอิ๊วขาวและซอสปรุงรสอันเป็นอาหารปลอมและอาหารไม่ได้มาตรฐานไว้เพื่อจำหน่าย โดยที่อาหารดังกล่าวนั้นมีเครื่องหมายการค้าปลอมอยู่ด้วย ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีเจตนาเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์ หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิต ดังนั้น การที่จำเลยมีอาหารปลอมหรืออาหารที่ไม่ได้มาตรฐานไว้เพื่อจำหน่าย โดยที่สินค้านั้นมีเครื่องหมายการค้าปลอมติดอยู่ก็ด้วยเจตนาเดียวคือประสงค์จะมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งอาหารปลอม เมื่ออาหารปลอมนั้นมีเครื่องหมายการค้าปลอมติดอยู่และกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดไว้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายบท มิใช่การกระทำความผิดต่างกรรมกันดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามา ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและปรับบทลงโทษแก่จำเลยตามที่ถูกต้องได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง…”
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายอาหารปลอมซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง