คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11122/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้เหตุเกิดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 แต่คำฟ้องโจทก์ระบุว่า เหตุลักทรัพย์เกิดเมื่อวันที่ 31 พฤศจิกายน 2549 เห็นได้ชัดว่าเป็นการพิมพ์รายละเอียดเกี่ยวกับเวลาซึ่งเกิดการกระทำผิดผิดพลาดไป จึงมิใช่ข้อสาระสำคัญ ทั้งคำฟ้องโจทก์บรรยายด้วยว่าหลังเกิดเหตุลักทรัพย์ จำเลยที่ 1 นำทรัพย์ของผู้เสียหายที่ถูกลักไปจำหน่ายแก่ผู้มีชื่อ ครั้นวันที่ 2 มิถุนายน 2549 เจ้าพนักงานยึดทรัพย์ดังกล่าวจากผู้มีชื่อเป็นของกลาง จำเลยทั้งสามเข้าใจข้อหาได้ดีมิได้หลงต่อสู้ จึงให้การรับสารภาพและชำระหนี้แก่ผู้เสียหายเพื่อบรรเทาผลร้ายด้วย ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 357, 83 และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงิน 92,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพฐานรับของโจร ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) (11) วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ลงโทษจำคุกคนละ 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 3 ลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 1 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ และยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 ในข้อหาร่วมกันรับของโจร กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงิน 92,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) บัญญัติให้ฟ้องต้องมีการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี สำหรับคดีนี้ แม้คำฟ้องของโจทก์ระบุว่าเหตุลักทรัพย์เกิดเมื่อวันที่ 31 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งเห็นได้ชัดแจ้งว่าเป็นการฟ้องที่พิมพ์รายละเอียดเกี่ยวกับเวลาซึ่งเกิดการกระทำผิดผิดพลาดไป มิใช่ข้อสาระสำคัญ แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ยังบรรยายไว้ด้วยว่าหลังเกิดเหตุลักทรัพย์ จำเลยที่ 1 ได้นำหน่วยประมวลผลกลาง (ซีพียู) จำนวน 20 เครื่อง ของผู้เสียหายที่ถูกลักไปนั้น ไปจำหน่ายแก่ผู้มีชื่อ ครั้นวันที่ 2 มิถุนายน 2549 เจ้าพนักงานได้ยึดหน่วยประมวลผลกลาง (ซีพียู) ดังกล่าวจากผู้มีชื่อเป็นของกลาง จำเลยทั้งสามย่อมจะเข้าใจข้อหาได้ดีมิได้หลงต่อสู้ จึงให้การรับสารภาพและชำระหนี้แก่ผู้เสียหายเพื่อบรรเทาผลร้ายด้วย ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์สมบูรณ์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เป็นฟ้องที่ไม่ชอบและพิพากษากลับให้ยกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่เนื่องจากศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสาม กรณีจึงเป็นการจำเป็นที่จะต้องให้ศาลอุทธรณ์ทำการพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share