แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์เป็นบริษัทจำกัดที่ประกอบกิจการให้เช่าซื้อทรัพย์สินและให้กู้เงิน เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นสถาบันการเงินตามกฎหมาย การเรียกดอกเบี้ยเงินกู้ของโจทก์จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกเก็บในอัตราร้อยละ 2.5 ต่อเดือน และค่าธรรมเนียมที่โจทก์หักไว้ล่วงหน้าซึ่งคิดแล้วเกินอัตรร้อยละ 15 ต่อปี จึงฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายและตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวรวมทั้งค่าธรรมเนียมจากจำเลยทั้งสองได้ ต้องนำดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่โจทก์เรียกเก็บล่วงหน้าไปแล้วทั้งหมดหักออกจากเงินต้นตามสัญญากู้
ส่วนดอกเบี้ยซึ่งกำหนดตามสัญญาในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แต่โจทก์คิดจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 2.5 ต่อเดือน หรือร้อยละ 30 ต่อปี ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดให้เรียกดอกเบี้ยได้ ตกเป็นโมฆะ โจทก์จะกลับมาใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามกำหนดในสัญญาอีกไม่ได้ คงเรียกได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดคือวันที่ 3 พฤษภาคม 2550 อันเป็นวันถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 673,156.25 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 450,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ได้รับยกเว้นค่าขึ้นศาลบางส่วน ชำระค่าขึ้นศาล 5,000 บาท
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 82,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 16 ธันวาคม 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
จำเลยที่ 2 ฎีกาโดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้ และได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาได้รับยกเว้นค่าขึ้นศาลบางส่วน ชำระค่าขึ้นศาล 3,000 บาท
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว เห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ก่อนว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ตามสัญญากู้เงิน หรือไม่ โจทก์มีนางสำรวยผู้รับมอบอำนาจโจทก์ซึ่งเป็นผู้พิมพ์สัญญาดังกล่าวเบิกความเป็นพยานว่า ในวันทำสัญญากู้เงิน จำเลยทั้งสองอยู่ด้วยในขณะที่พยานพิมพ์สัญญา โดยจำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าวในช่องผู้กู้ และจำเลยที่ 1 ออกเช็คจำนวน 12 ฉบับ สั่งจ่ายเงินฉบับละ 25,000 บาท จำนวน 11 ฉบับ และฉบับที่ 12 สั่งจ่ายเงินจำนวน 225,000 บาท เพื่อชำระเงินต้น ส่วนจำเลยที่ 2 มอบโฉนดที่ดินให้โจทก์ยึดถือไว้ ซึ่งจำเลยที่ 2 นำสืบต่อสู้ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำสัญญากู้ดังกล่าว แต่โจทก์นำสัญญากู้ฉบับก่อนซึ่งจำเลยทั้งสองทำสัญญาแก่โจทก์และชำระหนี้หมดสิ้นแล้วมาประกอบเป็นสัญญา โดยนำเอกสารสัญญากู้แผ่นที่ 2 ซึ่งมีลายมือชื่อของคู่สัญญาในสัญญาฉบับก่อนมาประกอบกับเอกสารแผ่นที่ 1 ที่ทำขึ้นใหม่ ระบุจำนวนเงินกู้ 500,000 บาท เพื่อให้เห็นว่ามีการกู้ยืมเงินจำนวน 500,000 บาท เห็นว่า โจทก์มีนางสำรวยพยานผู้รู้เห็นในขณะทำสัญญามาเบิกความประกอบเอกสารสัญญากู้เงิน โดยมีหลักฐานการรับเงิน ซึ่งมีรายการการรับจ่ายเงินระบุยอดเงินกู้จำนวน 500,000 บาท ค่าธรรมเนียมร้อยละ 1 ของเงินกู้ดังกล่าวเป็นเงิน 5,000 บาท ค่าดอกเบี้ยเดือนแรกในอัตราร้อยละ 2.5 ของเงินกู้ดังกล่าวเป็นเงิน 12,500 บาท จำนวนเงินจ่ายงวดแรกวันที่ 30 เมษายน 2539 จำนวน 300,000 บาท และเหลือเงินที่จำเลยที่ 1 ได้รับไปจำนวน 182,500 บาท รวมเป็นเงิน 500,000 บาท สอดคล้องกับสัญญากู้เงิน โดยจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับเงิน เชื่อว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญากู้เงินกับโจทก์จริงดังที่โจทก์นำสืบ ส่วนที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 สมคบกันปลอมเอกสารโดยนำเอกสารสัญญากู้เงินฉบับก่อนในส่วนของแผ่นที่ 2 ที่มีลายมือชื่อคู่สัญญามาประกอบกับสัญญาแผ่นที่ 1 ซึ่งทำปลอมขึ้นใหม่ระบุจำนวนเงินกู้ 500,000 บาท โดยจำเลยที่ 2 มิได้รู้เห็นยินยอมด้วย นั้น เห็นว่า สัญญากู้ฉบับลงวันที่ 8 ธันวาคม 2538 เป็นแบบพิมพ์สัญญากู้ที่มีจำหน่ายทั่วไปซึ่งใช้ชื่อว่า หนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ ข้อสัญญาระบุว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้กู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 350,000 บาท และจำเลยที่ 2 นำโฉนดที่ดินเลขที่ 17113 พร้อมตึกแถว 2 ชั้น วางเป็นประกันการกู้ยืมดังกล่าว มีลายมือชื่อของจำเลยทั้งสองในช่องผู้กู้ สำหรับจำนวนเงินกู้โจทก์นำสืบว่า ในวันดังกล่าวจำเลยทั้งสองกู้เงินจากโจทก์จำนวน 200,000 บาท แต่ต่อมาวันที่ 20 ธันวาคม 2538 จำเลยทั้งสองขอกู้เพิ่มอีก 150,000 บาท จึงทำสัญญากู้เงินกันใหม่แต่ลงวันที่ในสัญญาวันที่ 8 ธันวาคม 2538 ตามเดิม ส่วนสัญญากู้ฉบับเดิมยกเลิกไป ซึ่งจำนวนเงินกู้ตามข้อนำสืบดังกล่าวสอดคล้องกับรายการจ่ายเงินในสมุดจ่ายเงินที่จ่ายเงินกู้ในวันที่ 8 และ 20 ธันวาคม 2538 จำนวน 200,000 บาท และ 150,000 บาท ตามลำดับ ข้อนำสืบของโจทก์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อ ส่วนจำเลยที่ 2 นำสืบปฏิเสธว่า ลายมือชื่อผู้กู้ในสัญญากู้เงินไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองทำสัญญากู้เงินกับโจทก์เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2538 จำนวนเงินที่กู้เพียง 150,000 บาท สัญญาดังกล่าวมี 2 แผ่น เช่นเดียวกับสัญญากู้เงิน และโจทก์กับจำเลยที่ 1 ร่วมกันนำแผ่นที่ 2 ของสัญญาฉบับดังกล่าวมาประกอบเป็นสัญญากู้เงิน แต่จำเลยที่ 2 ไม่มีสัญญากู้ฉบับลงวันที่ 7 ธันวาคม 2538 มาแสดงตามที่อ้าง ซึ่งผิดปกติของการทำสัญญาที่คู่สัญญาน่าจะต้องเก็บคู่ฉบับของสัญญาไว้เป็นหลักฐาน ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวขาดพยานหลักฐานสนับสนุนไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง จึงรับฟังไม่ได้ว่ามีสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 7 ธันวาคม 2538 ดังที่จำเลยที่ 2 อ้าง คดีรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ตามสัญญากู้เงินจริง ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยข้อต่อไปตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนางสาวสมนึกหัวหน้าแผนกการเงินของบริษัทโจทก์ว่าสัญญากู้เงินซึ่งทำขึ้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2538 แต่ลงวันทำสัญญาย้อนหลังเป็นวันที่ 8 ธันวาคม 2538 นั้น เงินกู้จำนวน 350,000 บาท ที่ระบุไว้ในสัญญาดังกล่าวเป็นยอดเงินที่มาจากการกู้รวม 2 ครั้ง โดยครั้งแรกกู้จำนวน 200,000 บาท จำเลยทั้งสองได้รับเงินจากโจทก์ 195,000 บาท เนื่องจากโจทก์หักดอกเบี้ยเดือนแรกอัตราร้อยละ 2.5 ต่อเดือน ไว้เป็นเงิน 5,000 บาท ครั้งที่สองกู้จำนวน 150,000 บาท จำเลยทั้งสองได้รับเงิน 146,250 บาท เพราะโจทก์หักดอกเบี้ยเดือนแรกอัตราร้อยละ 2.5 ต่อเดือนไว้เป็นเงิน 3,750 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2539 จำเลยทั้งสองกู้เพิ่มอีกจำนวน 150,000 บาท จึงทำสัญญากู้เงินฉบับใหม่ระบุยอดเงินกู้รวมกับเงินกู้ครั้งก่อนเป็นเงินจำนวน 500,000 บาท ตามสัญญากู้เงิน และโจทก์ออกใบเสร็จรับเงินชั่วคราวจำนวน 350,000 บาท เพื่อแสดงว่าโจทก์รับชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินฉบับเดิมเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งการกู้เพิ่มครั้งหลังสุดจำนวน 150,000 บาท นั้นโจทก์หักค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 1 ของต้นเงิน 500,000 บาท ไว้เป็นเงิน 5,000 บาท และหักดอกเบี้ยเดือนแรกอัตราร้อยละ 2.5 ต่อเดือน คิดจากต้นเงิน 500,000 บาท ไว้เป็นเงิน 12,500 บาท จำเลยทั้งสองได้รับเงินจากโจทก์ไปเพียง 132,500 บาท ส่วนที่ระบุไว้ในใบสำคัญจ่ายฉบับนี้ว่า งวดแรกจ่าย 300,000 บาท และจ่ายเงินที่ค้างจ่าย 182,500 บาท อีกรายการหนึ่งนั้น นางสาวสมนึกเบิกความว่า เป็นเพียงการลงรายการในทางบัญชีของโจทก์เท่านั้น นายปรีชาพนักงานบัญชีของโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 2 นำสืบเป็นพยานก็เบิกความทำนองเดียวกันว่า ในวันดังกล่าวจำเลยได้รับเงินกู้ไปเพียงครั้งเดียว เห็นว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัดที่ประกอบกิจการให้เช่าซื้อทรัพย์สินและให้กู้เงิน เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นสถาบันการเงินตามกฎหมาย การเรียกดอกเบี้ยเงินกู้ของโจทก์จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 และพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกเก็บในอัตราร้อยละ 2.5 ต่อเดือน และค่าธรรมเนียมที่โจทก์หักไว้ล่วงหน้าซึ่งคิดแล้วเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวและตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวรวมทั้งค่าธรรมเนียมจากจำเลยทั้งสองได้ ต้องนำดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่โจทก์เรียกเก็บล่วงหน้าไปแล้วทั้งหมดหักออกจากเงินต้นตามสัญญากู้ นอกจากนี้ได้ความจากนางสาวสมนึกพยานโจทก์ว่า หลังจากทำสัญญากู้เงิน จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ด้วยเช็คและเงินสดหลายครั้งรวมเป็นเงิน 56,875 บาท ซึ่งต้องนำไปหักออกจากเงินต้นด้วยโดยนัยเดียวกัน จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อโจทก์สำหรับหนี้เงินต้นเพียง 416,875 บาท เมื่อได้ความว่าต่อมาโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 1 ออกเพื่อชำระเงินต้นได้แล้ว 2 ฉบับ เป็นเงิน 50,000 บาท จึงคงเหลือหนี้เงินต้นที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระแก่โจทก์จำนวน 366,875 บาท ส่วนดอกเบี้ยซึ่งกำหนดตามสัญญาในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แต่โจทก์คิดจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 2.5 ต่อเดือน หรือร้อยละ 30 ต่อปี ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดให้เรียกดอกเบี้ยได้ ตกเป็นโมฆะ โจทก์จะกลับมาใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่กำหนดในสัญญาอีกไม่ได้ คงเรียกได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดคือวันที่ 3 พฤษภาคม 2540 อันเป็นวันถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงิน เป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาในเรื่องข้อบกพร่องของสัญญากู้เงิน ที่ไม่มีลายมือชื่อของจำเลยทั้งสองที่แผ่นที่ 1 หัวกระดาษของสัญญาแต่ละแผ่นรหัสไปรษณีย์แตกต่างกัน เนื้อกระดาษแตกต่างกัน ชื่อผู้กู้ที่ระบุในการ์ดลูกหนี้ระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้โดยไม่มีชื่อจำเลยที่ 2 และในเรื่องข้อพิรุธของพยานโจทก์ปากนางสำรวยผู้พิมพ์สัญญากู้เงิน ที่เห็นนางสุวรรณา กรรมการบริษัทโจทก์ลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินและรับมอบโฉนดที่ดินที่วางเป็นประกัน นั้น ล้วนแต่เป็นข้อปลีกย่อยที่ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า สัญญากู้เงิน แผ่นที่ 1 มีข้อความที่เป็นสาระสำคัญอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมระบุจำนวนเงินและการคิดดอกเบี้ยซึ่งจำเป็นต้องระบุเป็นหลักฐานไม่มีลายมือชื่อของจำเลยทั้งสองกำกับในสัญญาแผ่นดังกล่าว จึงเป็นสัญญาที่ไม่สมบูรณ์ไม่อาจรับฟังให้จำเลยทั้งสองรับผิดและไม่อาจใช้สัญญาดังกล่าวเป็นหลักฐานฟ้องร้องบังคับคดีได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่งนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญากู้เงินแก่โจทก์ตาม จริง สัญญาดังกล่าวย่อมใช้ฟ้องร้องบังคับคดีได้ สัญญากู้เงินทั้งสองแผ่นเป็นเอกสารที่รับฟังประกอบกัน แม้จำเลยทั้งสองไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้ในสัญญาแผ่นที่ 1 ก็มิได้ทำให้สัญญาแผ่นดังกล่าวไม่สมบูรณ์ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 82,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องนั้น ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ในชั้นฎีกามีทุนทรัพย์ 82,500 บาท ซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเป็นเงิน 2,062.50 บาท ค่าขึ้นศาลอนาคตอีก 100 บาท รวมเป็นเงิน 2,162.50 บาท แต่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ดำเนินคดีในชั้นฎีกาอย่างคนอนาถาโดยยกเว้นค่าขึ้นศาลบางส่วนให้ชำระ 3,000 บาท ซึ่งเกินกว่าค่าขึ้นศาลที่จำเลยที่ 2 ต้องชำระ 837.50 บาท จึงให้คืนค่าขึ้นศาลดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 366,875 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาแก่จำเลยที่ 2 จำนวน 837.50 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์