คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 309/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า “สัตว์พาหนะ” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 นั้น หมายถึงสัตว์พาหนะตามพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ พ.ศ. 2482 มาตรา 4 การที่โจทก์ขายโคให้จำเลยโดยที่การซื้อขายไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อโคที่ซื้อขายกันแต่ละตัวอายุไม่ถึง 1 ปี ไม่เข้ากรณีที่จะต้องขอจดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณตามพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ มาตรา 8 (2) และ (5) และไม่ใช่โคที่ใช้ขับขี่ลากเข็นหรือใช้งานแล้วตามมาตรา 8 (3) หรือเป็นโคที่เจ้าของได้นำไปจดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณไว้แล้วอย่างนี้ โคที่โจทก์ขายให้จำเลยจึงมิใช่สัตว์พาหนะตามความหมายของกฎหมายการซื้อขายโคดังกล่าวโดยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงไม่ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 465 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซื้อโคไปจากโจทก์ ๑๐ ตัว ชำระราคาแล้วบางส่วนส่วนที่เหลือได้ทำเป็นสัญญากู้ไว้ถึงกำหนดไม่ชำระ จึงฟ้องบังคับให้ชำระเงินตามสัญญากู้พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่าซื้อโคไปและทำสัญญากู้ไว้จริง แต่ได้ชำระส่วนที่เหลือไปบ้างแล้ว และต่อสู้ว่าโคเป็นสัตว์พาหนะการซื้อขายไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตกเป็นโมฆะ สัญญากู้ที่แปลงมาจากราคาซื้อขายจึงไม่มีผลผูกพันให้จำเลยต้องชดใช้เงินให้โจทก์ตามสัญญา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่าการซื้อขายโคระหว่างโจทก์จำเลยต่างมีเจตนาซื้อขายกันอย่างธรรมดา มีผลผูกพันให้จำเลยต้องชำระเงินตามสัญญากู้ พิพากษาให้จำเลยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามที่โจทก์ฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์เป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า การซื้อขายตกเป็นโมฆะ จำเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญากู้ กับในทางพิจารณาได้ความว่าโครายนี้ไม่ใช่ของโจทก์ โจทก์มิได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของให้แปลงหนี้ และไม่ได้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า โคที่ซื้อขายอายุไม่ถึง ๑ ปี ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องทำตั๋วรูปพรรณตามพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๔ และไม่ได้ความว่าเจ้าของได้ขอจดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณไว้ การซื้อขายสมบูรณ์สัญญากู้ที่แปลงหนี้มาจากราคาซื้อขายย่อมผูกพันให้จำเลยต้องชำระตามสัญญาอุทธรณ์ข้ออื่นเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแต่ศาลชั้นต้นไม่รับวินิจฉัย พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาซื้อขายโคระหว่างโจทก์จำเลยเป็นการซื้อขายสัตว์พาหนะที่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๕๖ วรรคแรกหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้ให้ความหมายของคำว่า “สัตว์พาหนะไว้ในมาตรา ๔ ว่า “หมายความว่า ช้าง ม้า กระบือ ล่อ ลา ซึ่งได้ทำหรือต้องทำตั๋วรูปพรรณตามพระราชบัญญัตินี้” และมาตรา ๘ ก็กำหนดกรณีที่สัตว์พาหนะจะต้องจดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณไว้ว่าได้แก่ (๑) ช้างมีอายุย่างเข้าปีที่แปด (๒) สัตว์อื่นนอกจากโคเมียมีอายุย่างเข้าปีที่หก (๓) สัตว์ใดได้ใช้ขับขี่ลากเข็นหรือใช้งานแล้ว (๔) สัตว์ใดที่มีอายุย่างเข้าปีที่สี่เมื่อจะนำออกนอกราชอาณาจักร (๕) โคเมียมีอายุย่างเข้าปีที่หก เมื่อจะทำการโอนกรรมสิทธิ์เว้นแต่กรณีรับมรดก กับในวรรคสามของมาตราเดียวกันบัญญัติว่า สัตว์ที่มิได้อยู่ในบทบังคับอนุมาตรา ๑ ถึงอนุมาตรา ๕ เจ้าของจะขอจดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณก็ได้ ตามนัยของบทบัญญัติสองมาตราข้างต้นเห็นได้ว่า สัตว์ที่จะเป็นสัตว์พาหนะตามกฎหมายจะต้องเป็นสัตว์ที่ระบุ และมีอายุเข้าเกณฑ์ที่จะต้องจดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณหรือมิฉะนั้นเจ้าของก็จะต้องไปขอจดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณไว้ ส่วนปัญหาที่ว่าโคที่โจทก์ทำสัญญาขายให้จำเลยจะเป็นสัตว์พาหนะตามกฎหมายหรือไม่ การวินิจฉัยปัญหานี้ศาลฎีกาจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาจากพยานหลักฐานในสำนวนว่าโค ๑๐ ตัวนี้มีอายุตัวละไม่ถึง ๑ ปี ไม่เข้ากรณีที่จะต้องขอจดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณตามมาตรา ๘ (๒) และ (๕) ทั้งไม่ปรากฏว่าเป็นโคที่ใช้ขับขี่ลากเข็นหรือใช้งานแล้วตามมาตรา ๘ (๓) หรือเจ้าของได้นำไปขอจดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณไว้แต่อย่างใด ฉะนั้นโคที่โจทก์ขายให้จำเลยจึงมิใช่สัตว์พาหนะตามความหมายของกฎหมายถึงการซื้อขายจะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ไม่ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๕๖ วรรคแรก เมื่อสัญญาซื้อขายสมบูรณ์ การที่โจทก์จำเลยแปลงหนี้จากราคาค่าซื้อขายมาเป็นสัญญากู้ สัญญากู้จึงมีผลผูกพันให้จำเลยต้องชำระหนี้ตามสัญญา
พิพากษายืน

Share