แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงประเด็นเดียวว่า การที่จำเลยนำทรัพย์จำนองตามฟ้องออกขายทอดตลาดชอบด้วย พ.ร.ก. บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 หรือไม่ และจำเลยไม่ได้โต้แย้งว่า ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบอย่างไร คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบ ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.ก. บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 5 มีวัตถุประสงค์ในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์ พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินที่ให้อำนาจแก่จำเลยเป็นพิเศษที่จะดำเนินการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่รับโอนมาตามวิธีการที่กำหนดไว้ เพื่อประโยชน์แก่การฟื้นฟูเศรษฐกิจหรือความมั่นคงของประเทศ อันเป็นวัตถุประสงค์ที่ให้มีการจัดตั้งจำเลยขึ้น และจำเลยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้น หากจำเลยดำเนินการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. อาจไม่เสร็จทันเวลาตามที่กฎหมายกำหนด การที่จำเลยดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองที่ดินพิพาทที่เป็นหลักประกัน แล้วขอให้จดทะเบียนระงับจำนอง กับจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยแทนการจำหน่าย จึงชอบด้วย พ.ร.ก. บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมของจำเลยเกี่ยวกับการขายทอดตลาดที่ดินที่เป็นหลักประกันของโจทก์ ฉบับลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 ให้นิติกรรมดังกล่าวตกเป็นโมฆะ และเพิกถอนการจดทะเบียนระงับจำนองและการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งหมด และให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งหมดคืนให้แก่โจทก์โดยปราศจากภาระผูกพัน ให้จำเลยรับผิดในค่าธรรมเนียมและค่าภาษีอากร ห้ามจำเลยจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินพิพาทตามฟ้อง หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และห้ามจำเลยและบริวารเข้ามารบกวนการครอบครองที่ดินพิพาท กับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นรายวัน วันละ 1,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะดำเนินการตามคำขอบังคับจนครบถ้วน
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททรัพย์จำนองรวม 78 โฉนด ตามคำขอโอนฉบับลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2551 และให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์จำนองรวม 78 โฉนด กลับมาเป็นชื่อของโจทก์หรือผู้จำนองเดิมโดยมีภาระผูกพันเช่นเดิม หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา โดยจำเลยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมด คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ สำหรับค่าทนายความให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา กระทรวงการคลัง ผู้ร้อง ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนจำเลยอ้างว่า จำเลยได้ถูกยุบเลิกไปตามมาตรา 95 แห่งพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 แล้ว แต่การชำระบัญชียังไม่เสร็จสิ้นและมีการโอนสินทรัพย์คงเหลือซึ่งรวมทั้งหนี้สินและภารกิจคงค้าง ได้แก่ การสวมสิทธิทางคดีให้แก่ผู้ร้อง ซึ่งผู้ร้องจะต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังได้ว่า เดิมธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ฟ้อง โจทก์กับพวกเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้น ให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินและจำนองตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ธ.13904/2543 หมายเลขแดงที่ ธ.3875/2545 ระหว่างพิจารณาได้มีพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ออกใช้บังคับ จำเลยเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกำหนดดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์ต่าง ๆ โดยการรับโอนมาปรับโครงสร้างหนี้และปรับโครงสร้างกิจการ ซึ่งรวมถึงสินทรัพย์ที่มีการฟ้องคดีอยู่ในศาล จำเลยจึงรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) รวมทั้งสินทรัพย์ที่ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ฟ้องโจทก์ และจำเลยได้ยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยเข้าสวมสิทธิเป็นโจทก์แทนธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) และต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์กับพวกรวม 9 คน ที่เป็นจำเลยในคดีดังกล่าวชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่เข้าเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวเป็นเงิน 224,289,906.02 บาท หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินพิพาทที่เป็นหลักประกันออกขายทอดตลาด และมีการออกคำบังคับให้โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวกับพวกปฏิบัติตามคำพิพากษา แต่จำเลยในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ได้ขอให้ศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี และได้นำทรัพย์จำนองที่ดินพิพาทที่เป็นหลักประกันออกขายทอดตลาดเอง โจทก์มอบอำนาจให้บริษัทโซลิด ซอร์ส คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด คัดค้านการขายทอดตลาด จำเลยมีคำสั่งยกคำคัดค้าน จำเลยขายทอดตลาดโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 74 ถึง 78 แต่การขายทอดตลาดไม่มีผู้เข้าเสนอราคา จำเลยจึงงดการขายทอดตลาดต่อมาจำเลยมีหนังสือขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรีจดทะเบียนระงับจำนองและจดทะเบียนโอนทรัพย์จำนองที่ดินพิพาทที่เป็นหลักประกันแทนการจำหน่ายให้แก่จำเลยและเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรีได้จดทะเบียนให้ โจทก์จึงฟ้องเป็นคดีนี้ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนดังกล่าว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะถูกนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2551 จึงสิ้นสภาพนิติบุคคลก่อนฟ้องคดีวันที่ 29 กันยายน 2551 นั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นทำการชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงประเด็นเดียวว่า การที่จำเลยนำทรัพย์จำนองตามฟ้องโจทก์ออกขายทอดตลาดนั้นเป็นไปโดยชอบด้วยพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 หรือไม่ และจำเลยไม่ได้โต้แย้งว่า ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทให้ถูกต้องหรือไม่ชอบอย่างไร คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบ ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า การที่จำเลยนำทรัพย์จำนองที่ดินที่เป็นหลักประกันออกขายทอดตลาดเองชอบด้วยพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 5 บัญญัติให้จัดตั้งจำเลยขึ้นเป็นนิติบุคคลมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น และมาตรา 7 บัญญัติให้จำเลยมีวัตถุประสงค์ในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์ ปรับโครงสร้างหนี้ และปรับโครงสร้างกิจการ โดยการรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพซึ่งรวมถึงสินทรัพย์ที่มีการฟ้องคดีอยู่ในศาล โดยศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาตามมาตรา 30 วรรคหก โดยบัญญัติให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เว้นแต่จำเลยจะยื่นคำร้องขอเป็นอย่างอื่น ซึ่งคดีดังกล่าวจำเลยเข้าสวมสิทธิเป็นโจทก์แทนธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) และขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ศาลจึงไม่สั่งจำหน่ายคดี แต่พิจารณาคดีต่อไปจนมีคำพิพากษาให้โจทก์กับพวกที่เป็นจำเลยในคดีดังกล่าวชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่เข้าเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าว หากไม่ชำระให้บังคับทรัพย์จำนองที่เป็นหลักประกัน และมีการออกคำบังคับให้โจทก์กับพวกปฏิบัติแล้ว การดำเนินการของจำเลยจึงเป็นไปตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ และตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ก็ไม่มีบทบัญญัติมาตราใด ห้ามไม่ให้จำเลยซึ่งเข้าสวมสิทธิเป็นโจทก์แทนคู่ความเดิมในอันที่จะจำหน่ายหรือบังคับจำนองทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันสำหรับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามวิธีการที่พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 บัญญัติไว้ในหมวด 4 การบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ส่วนที่ 3 การจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน มาตรา 74 ถึง 76 ว่า ในกรณีที่จำเลยประสงค์จะบังคับจำนองกับทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันสำหรับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวให้ลูกหนี้และผู้จำนองชำระหนี้ภายในเวลาหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว โดยจะต้องระบุด้วยว่าหากไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด จำเลยจะบังคับชำระหนี้ในสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามบทบัญญัติแห่งพระราชกำหนดนี้ ซึ่งหากลูกหนี้หรือผู้จำนอง ไม่ชำระหนี้ภายในเวลาตามที่กำหนด จำเลยมีอำนาจดำเนินการจำหน่ายโดยวิธีการขายทอดตลาด แต่ถ้าจำเลยเห็นว่าการจำหน่ายโดยวิธีอื่นจะเป็นประโยชน์กับจำเลยและลูกหนี้มากกว่าก็ให้จำหน่ายโดยวิธีอื่นได้ หรือจะรับโอนทรัพย์สินนั้นไว้ในราคาไม่น้อยกว่าราคาที่จะพึงได้รับจากการขายทอดตลาดแทนการจำหน่ายก็ได้ ซึ่งจำเลยก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว ทั้งพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินที่ให้อำนาจแก่จำเลยเป็นพิเศษที่จะดำเนินการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่รับโอนมาตามวิธีการที่กำหนดไว้ เพื่อประโยชน์แก่การฟื้นฟูเศรษฐกิจหรือความมั่นคงของประเทศอันเป็นวัตถุประสงค์ที่ให้มีการจัดตั้งจำเลยขึ้น ดังที่บัญญัติไว้ในตอนท้ายของมาตรา 7 และจำเลยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในเวลาอันรวดเร็วเพราะเมื่อครบเจ็ดปีนับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ จำเลยต้องเตรียมการเพื่อเลิกดำเนินกิจการโดยจำเลยจะถูกยุบเลิกเมื่อสิ้นปีที่สิบ และต้องชำระบัญชีให้แล้วเสร็จในเวลาไม่ช้ากว่าปีที่สิบสองนับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ และพระราชกำหนดนี้เป็นอันยกเลิกเมื่อครบสิบสองปีนับแต่ที่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 95 ดังนั้น หากจำเลยดำเนินการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง การดำเนินงานของจำเลยอาจไม่แล้วเสร็จทันเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ที่จำเลยดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองที่ดินพิพาทที่เป็นหลักประกันแล้วขอให้จดทะเบียนระงับจำนองกับจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยแทนการจำหน่าย จึงชอบด้วยพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยอีกต่อไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ