คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 697/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องของโจทก์บรรยายว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกรรม คือ ชิงทรัพย์กรรมหนึ่งแล้วจึงทำร้ายร่างกายผู้เสียหายอีกกรรมหนึ่ง โจทก์หาได้บรรยายคำฟ้องว่า จำเลยชิงทรัพย์ผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจไม่ คำฟ้องของโจทก์เพียงแต่บรรยายว่าจำเลยชิงทรัพย์ของผู้เสียหายโดยมีอาวุธ อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง เท่านั้น จึงลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสาม ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสาม ประกอบมาตรา 340 ตรี และวางโทษตามมาตราดังกล่าว จึงยังไม่ถูกต้อง และปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้หยิบยกปัญหาข้อนี้ขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 278, 295, 335, 339, 340 ตรี ให้จำเลยคืนเงิน 120 บาท และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโนเกีย 1 เครื่อง ราคา 2,920 บาท แก่ผู้เสียหาย หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาทรัพย์ และเพิ่มโทษหนึ่งในสาม
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278, 295, 339 วรรคสาม, 340 ตรี เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานอนาจาร จำคุก 6 เดือน ฐานทำร้ายร่างกาย จำคุก 6 เดือน ฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จำคุก 18 ปี เพิ่มโทษจำเลยกระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 24 ปี 16 เดือน ให้จำเลยคืนเงิน120 บาท และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโนเกีย 1 เครื่อง ราคา 2,920 บาท แก่ผู้เสียหาย หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาทรัพย์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติได้ว่า ผู้เสียหายกับบุตรชายอายุ 3 ปี พักอาศัยอยู่กับบิดามารดาและหลานอีก 2 คน ที่บ้านเลขที่ 83 หมู่ที่ 6 ตำบลพะวง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา วันเกิดเหตุวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 เวลา 14 นาฬิกาเศษ ผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ออกจากบ้านกับบุตรชายเพื่อจะไปอำเภอหาดใหญ่ โดยให้บุตรชายนั่งซ้อนข้างหน้า ใช้เส้นทางถนนลูกรัง ผ่านสวนยางและหมู่บ้านบ่อระกำ เมื่อขับรถห่างจากบ้านได้ 2 กิโลเมตร ขณะขึ้นเนิน พบรถจักรยานยนต์ของคนร้ายขับสวนทางมา บุตรชายสัปหงก ผู้เสียหายจอดรถเพื่อจะถอดหมวกนิรภัยที่บุตรชายสวมใส่ คนร้ายซึ่งขับรถจักรยานยนต์รุ่นเวฟ 110 สีฟ้าดำ บังโคลนหน้าสีฟ้ากับสีดำปนกัน หัวรถและตัวรถสีฟ้า ไม่มีกระจกส่องข้างและป้ายทะเบียน ใส่กางเกงขาสั้นสีเขียวเก่า ๆ เสื้อยืดแขนสั้นสีกรมท่าเก่า ๆ สวมหมวกนิรภัยสีฟ้าไม่มีปีกด้านหน้า มีกระจกดำปิดหน้า ก็จอดห่างออกไปประมาณ 2 เมตร จ้องหน้าจนผู้เสียหายรู้สึกกลัวเมื่อผู้เสียหายขับรถต่อไป คนร้ายขับรถมาเคียงข้างและพูดขอเงิน เมื่อผู้เสียหายตอบว่าไม่มีเงินคนร้ายก็ขับรถขวางหน้าจนผู้เสียหายต้องจอดรถ คนร้ายหยิบมีดที่ตะกร้าหน้ารถเดินมาบอกผู้เสียหายให้ส่งกระเป๋า และบิดเอากุญแจรถของผู้เสียหายไปใส่กระเป๋าคนร้ายจากนั้นหยิบกระเป๋าของผู้เสียหายไปเปิดดู พบโทรศัพท์และเงิน 140 บาท แล้วพูดว่า”ผมขอนะ” ผู้เสียหายยกมือไหว้บอกว่าเอาอะไรก็เอาไปแต่อย่าทำอะไรและขอเงิน 20 บาท คืนเพราะต้องเดินทางไปอำเภอหาดใหญ่ คนร้ายยอมให้เงิน 20 บาท และส่งกระเป๋าคืนบอกให้ผู้เสียหายลงจากรถแต่ผู้เสียหายไม่ยอมลง คนร้ายถามว่าในกระเป๋ามีโทรศัพท์หรือไม่ผู้เสียหายตอบว่ามี และส่งกระเป๋าให้อีกครั้ง คนร้ายเปิดกระเป๋าดูแล้วเอาทั้งกระเป๋าและโทรศัพท์ไป ถามผู้เสียหายว่าเป็นคนที่ไหน พอผู้เสียหายบอกว่าเป็นคนที่นี่ พร้อมกับติดเครื่องยนต์จะขับหนี คนร้ายก็ดึงท้ายรถไว้แล้วผลักไปชนกับรถของคนร้ายที่จอดอยู่ล้มลง ผู้เสียหายพยายามใช้เท้ายันและประคองบุตรชายไว้ไม่ให้ได้รับอันตรายและบอกให้บุตรชายหยุดร้องไห้เพราะเกรงว่าจะถูกทำร้าย คนร้ายตั้งรถของตนที่ล้มและก้มลงเก็บมีดแล้วเดินไปมา กอดและจับหน้าอกผู้เสียหายซึ่งกำลังอุ้มบุตรชายอยู่ ผู้เสียหายกลัวและยอมให้จับ แต่เมื่อคนร้ายขอจับอวัยวะเพศผู้เสียหายไม่ยอม จึงถูกคนร้ายกระชากไปข้างทางและขอข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอ้อนวอนว่าอย่าทำ จากนั้นคนร้ายพาผู้เสียหายซึ่งอุ้มบุตรชายอยู่ไปนั่งที่ข้างถนนอีกด้านหนึ่ง แล้วเดินไปที่รถจักรยานยนต์ของตนก่อนจะเดินไปหาผู้เสียหาย ขณะนั้นผู้เสียหายเห็นมีดที่เหน็บอยู่ข้างหลังคนร้ายและจะเข้าไปหยิบก็ถูกคนร้ายผลักมือและต่อยจมูก 2 ครั้ง แล้วคนร้ายก็ขับรถกลับย้อนไปทางเดิมที่ขับตามผู้เสียหายมา หลังเกิดเหตุผู้เสียหายยังเจ็บใบหน้าและจมูกมีเลือดไหล กำนันประจำตำบลนำตัวผู้เสียหายส่งโรงพยาบาล นอนรักษาตัว 5 วัน กลับถึงบ้าน ผู้เสียหายจึงแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนดำเนินคดีนี้
สำหรับข้อหาความผิดฐานอนาจารและฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยกระทงละ 8 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังไม่พอรับฟังว่าผู้เสียหายจดจำใบหน้าจำเลยได้ เป็นการฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 9 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในความผิดทั้งสองฐานตามบทกฎหมายดังกล่าว เมื่อจำเลยไม่ได้รับอนุญาตหรือรับรองให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยในความผิดทั้งสองฐานนี้มานั้นเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า จำเลยเป็นคนร้ายกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ โดยใช้ยานพาหนะตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 หรือไม่ เห็นว่า คำเบิกความของจำเลยเรื่องฐานที่อยู่ในวันเกิดเหตุขัดแย้งกับที่จำเลยเคยให้การในชั้นสอบสวน ว่า วันเวลาเกิดเหตุ จำเลยอยู่ที่บ้านซึ่งพักอาศัยในปัจจุบันทำนองมิได้ออกจากบ้านไปที่อื่นใด ข้อต่อสู้คดีอ้างฐานที่อยู่ของจำเลยย่อมไม่มีน้ำหนัก พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ จึงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเป็นคนร้ายกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องจริง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ฟังว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่กระทำผิดคดีนี้ ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม ประกอบมาตรา 340 ตรี และวางโทษตามมาตราดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะคำฟ้องของโจทก์บรรยายว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน คือ ชิงทรัพย์กรรมหนึ่ง แล้วจึงทำร้ายร่างกายผู้เสียหายอีกกรรมหนึ่ง โจทก์หาได้บรรยายคำฟ้องว่าจำเลยชิงทรัพย์ผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจไม่ คำฟ้องของโจทก์เพียงแต่บรรยายว่าจำเลยชิงทรัพย์ของผู้เสียหายโดยมีอาวุธมีด อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง เท่านั้น จึงลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสาม ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้หยิบยกปัญหาข้อนี้ขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานชิงทรัพย์โดยมีอาวุธและโดยใช้ยานพาหนะ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี จำคุก 16 ปี เพิ่มโทษหนึ่งในสามเป็นจำคุก 21 ปี 4 เดือน เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว เป็นจำคุก 21 ปี 20 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share