แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เช่าซื้อรถยนต์มาจากบริษัทเงินทุน ก. โจทก์จึงมีเพียงสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์ในรถยนต์ เมื่อโจทก์ขายรถยนต์คันที่เช่าซื้อให้แก่ บ. โดยมีข้อตกลงให้ บ. ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อที่เหลืออันเป็นการโอนสิทธิการเช่าซื้อโดยบริษัทเงินทุน ก. ไม่ได้ตกลงด้วย ย่อมเป็นการโอนสิทธิการเช่าซื้อโดยมิชอบ และไม่มีผลผูกพันบริษัทเงินทุน ก. ผู้ให้เช่าซื้อ โจทก์จึงยังคงต้องรับผิดต่อบริษัทเงินทุน ก. ตามสัญญาเช่าซื้อเช่นเดิม และหากมีการชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว รถยนต์ที่เช่าซื้อก็ตกเป็นสิทธิของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 ทำให้โจทก์สามารถโอนรถยนต์ทางทะเบียนให้แก่ บ. ต่อไปได้ การที่ บ. ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อตามสัญญาซื้อขายจึงเป็นเพียงการครอบครองแทนโจทก์ โจทก์จึงยังเป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์ที่เช่าซื้อในขณะทำสัญญาประกันภัย สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงมีผลผูกพันตามกฎหมาย เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งโจทก์เอาประกันภัยไว้กับจำเลยสูญหายไป โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้
ขณะเกิดเหตุ บ. ติดเครื่องรถยนต์ที่เช่าซื้อไว้โดยไม่ล็อกประตูรถ แล้วเดินไปสูบบุหรี่ห่างจากตัวรถนานประมาณ 20 นาที โดยไม่เห็นจุดจอดรถยนต์ เป็นการจอดรถยนต์ไว้ในลักษณะไม่ใส่ใจ และไม่สนใจว่าจะเกิดเหตุร้ายกับรถยนต์หรือไม่ เมื่อรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้สูญหายไป พฤติการณ์ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของ บ. ซึ่งเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อแทนโจทก์ จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดในความสูญหายของรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งรับประกันไว้ต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 879 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวแก่โจทก์นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้ครบถ้วน
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวแก่โจทก์นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 14 มีนาคม 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้ครบถ้วน หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบกับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน กฉ 6343 สงขลา มาจากบริษัทเงินทุนเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) วันที่ 13 มกราคม 2547 โจทก์ขายรถยนต์คันดังกล่าวให้นายบาเฉด ในราคา 70,000 บาท โดยมีข้อตกลงให้นายบาเฉดชำระราคาส่วนที่เหลือ 44 งวด งวดละ 17,976 บาท ให้กับบริษัทเงินทุนเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) วันที่ 28 มีนาคม 2547 โจทก์นำรถยนต์คันดังกล่าวเอาประกันภัยไว้กับจำเลย มีกำหนดเวลาคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2547 ถึงวันที่ 28 มีนาคม 2548 ในวันที่ 24 ตุลาคม 2547 รถยนต์คันดังกล่าวถูกลักไปขณะอยู่ในความครอบครองของนายบาเฉด
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า แม้โจทก์จะทำสัญญาขายรถยนต์คันดังกล่าวแก่นายบาเฉดไปแล้ว แต่นายบาเฉดไม่มีเงินชำระค่ารถยนต์ทั้งหมดทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อจากโจทก์มาเป็นนายบาเฉดได้ โจทก์ไม่ได้ส่งมอบการครอบครองโดยเด็ดขาดให้นายบาเฉด โจทก์ยังมีความรับผิดตามกฎหมายในฐานะผู้ครอบครองรถยนต์คันดังกล่าวซึ่งต่อมาโจทก์ก็ถูกบริษัทเงินทุนเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ฟ้องให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์คันดังกล่าวในขณะทำสัญญาประกันภัย นั้น เห็นว่า โจทก์เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวมาจากบริษัทเงินทุนเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) โจทก์จึงมีเพียงสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อ การที่โจทก์ทำสัญญาขายรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่นายบาเฉดโดยมีข้อตกลงให้นายบาเฉดผ่อนชำระค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลืออันเป็นการโอนสิทธิการเช่าซื้อโดยบริษัทเงินทุนเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ไม่ได้ตกลงด้วย จึงเป็นการโอนสิทธิการเช่าซื้อโดยไม่ชอบและไม่มีผลผูกพันบริษัทเงินทุนเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ผู้ให้เช่าซื้อ ทำให้โจทก์ยังคงต้องรับผิดต่อบริษัทเงินทุนเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ตามสัญญาเช่าซื้อเช่นเดิม และหากมีการชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว รถยนต์ที่เช่าซื้อก็ตกเป็นสิทธิของโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 ทำให้โจทก์สามารถโอนรถยนต์ทางทะเบียนให้แก่นายบาเฉดต่อไปได้ การที่นายบาเฉดครอบครองรถยนต์ตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นเพียงการครอบครองแทนโจทก์ โจทก์จึงยังเป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์ที่เช่าซื้อในขณะทำสัญญาประกันภัย สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงมีผลผูกพันตามกฎหมาย เมื่อรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้สูญหายไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
สำหรับปัญหาที่ว่าจำเลยต้องรับผิดในความสูญหายของรถยนต์ต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ยังไม่ได้วินิจฉัย แต่เพื่อไม่ให้คดีต้องล่าช้า ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณาพิพากษาใหม่ ปัญหาดังกล่าวโจทก์และจำเลยนำสืบตรงกันว่า ขณะเกิดเหตุ นายบาเฉดจอดรถยนต์ไว้ที่ริมทะเลโดยติดเครื่องยนต์ไว้ ไม่ได้ล็อกประตูรถ แล้วเดินไปสูบบุหรี่ห่างจากตัวรถประมาณ 30 ถึง 40 เมตร เป็นเหตุให้รถยนต์สูญหายไป และโจทก์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า นายบาเฉดได้ให้ถ้อยคำต่อพนักงานของบริษัทจำเลยไว้ ซึ่งจากบันทึกถ้อยคำของนายบาเฉดได้ความว่า เหตุที่นายบาเฉดต้องติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้เนื่องจากแบตเตอรี่ไม่ดี หากดับเครื่องยนต์แล้วจะติดเครื่องยนต์ยาก นายบาเฉดเดินไปสูบบุหรี่ที่ริมทะเลประมาณ 20 นาที จึงเดินกลับมาที่รถ และได้ความจากสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีอีกว่าบริเวณชายหาดที่นายบาเฉดเดินไปสูบบุหรี่มีป่าละเมาะบังตา ทำให้มองไม่เห็นตรงจุดที่จอดรถยนต์ไว้ เช่นนี้ แสดงว่าขณะเกิดเหตุ นายบาเฉดจอดรถแล้วเดินไปสูบบุหรี่ห่างจากรถประมาณ 40 เมตร และไม่สามารถมองเห็นรถยนต์ได้เพราะมีป่าละเมาะบังสายตาโดยติดเครื่องยนต์และไม่ได้ล็อกประตูรถ พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการจอดรถยนต์ทิ้งไว้ในลักษณะที่ไม่ใส่ใจ และไม่สนใจว่าจะเกิดเหตุร้ายกับรถยนต์หรือไม่ นับเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เมื่อรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้สูญหายไปเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของนายบาเฉดซึ่งเป็นผู้ครอบครองรถยนต์แทนโจทก์ จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดในความสูญหายของรถยนต์ที่รับประกันภัยไว้ต่อโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 879 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ