คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4111/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทนายความของคู่ความได้ทำคำแถลงการณ์ปิดคดียื่นต่อศาลอันเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลเพื่อประโยชน์แก่คดีของตนโดยมิได้มุ่งประสงค์ที่จะหมิ่นประมาทบุคคลอื่น จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 331
ฟ้องโจทก์หยิบยกเพียงแต่ข้อความส่วนน้อยในคำแถลงการณ์ของจำเลยมาแสดงเพื่อให้เห็นว่าเป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์โดยมิได้บรรยายให้เห็นอย่างละเอียดว่า คำแถลงการณ์ดังกล่าวมีข้อความอย่างไรบ้าง ทั้งมิได้แนบสำเนาคำแถลงการณ์ของจำเลยมาท้ายฟ้องด้วย เช่นนี้ จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158( 5 )

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ได้ความจากคำฟ้องของโจทก์ว่า ข้อความที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าจำเลยหมิ่นประมาทนั้นอยู่ในคำแถลงการณ์ปิดคดีในคดีแพ่งซึ่งจำเลยเรียบเรียงขึ้นในฐานะที่เป็นทนายความของโจทก์ในคดีดังกล่าว จึงเห็นได้ชัดว่าเป็นการกระทำของทนายความของคู่ความซึ่งแสดงความคิดเห็นหรือข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาล แต่การกระทำเช่นว่านี้มิใช่ว่าจะไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาททุกกรณีไป ทั้งนี้เพราะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๑ นั้น การกระทำดังกล่าวจะไม่เป็นการหมิ่นประมาทต่อเมื่อกระทำเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน แต่ถ้าได้กระทำโดยมุ่งประสงค์จะหมิ่นประมาทบุคคลอื่นแล้วก็มีความผิดฐานหมิ่นประมาทได้คำบรรยายฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ไม่ปรากฏชัดว่าจำเลยมิได้กระทำเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน ทั้งโจทก์มิได้แนบสำเนาคำแถลงการณ์ของจำเลยดังกล่าวมาท้ายฟ้องเพื่อให้ศาลพิจารณาได้ว่าจำเลยกระทำเพื่อประโยชน์แก่คดีของตนหรือไม่ หากพิจารณาฟ้องโจทก์โดยตลอดแล้ว ก็ยังไม่พอฟังว่าจำเลยมิได้กระทำเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน ซึ่งจะทำให้จำเลยไม่ได้รับยกเว้นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๑ และมีผลให้จำเลยมีความผิดตามมาตรา ๓๒๖ ที่โจทก์ฟ้อง หรืออีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า แม้จะฟังข้อเท็จจริงได้ตามฟ้อง การกระทำของจำเลยก็ยังไม่เป็นความผิดตามมาตรา ๓๒๖ นอกจากนี้การที่โจทก์ไม่แนบสำเนาคำแถลงการณ์ของจำเลยดังกล่าวมาท้ายฟ้อง ทั้งมิได้บรรยายฟ้องให้เห็นอย่างละเอียดว่า คำแถลงการณ์ดังกล่าวมีข้อความอย่างไรบ้าง โจทก์เพียงหยิบยกข้อความส่วนน้อยมาแสดงเพื่อให้เห็นว่าเป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์เท่านั้นเช่นนี้เห็นได้ว่า ฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘(๕) อีกด้วยฎีกาโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share