คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4031/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1612 หมายถึงนายอำเภอตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ. 2495 หาใช่เจ้าพนักงานที่ดินไม่ การที่โจทก์ทำหนังสือไม่ขอรับมรดกไว้แก่เจ้าพนักงานที่ดินจึงไม่ใช่เป็นการสละมรดก แต่ที่โจทก์ทำหนังสือไม่ขอรับมรดกที่ดินพิพาทโดยยืนยันให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1หากมีข้อผิดพลาดหรือเสียหายประการใด โจทก์ขอรับผิดชอบเองทั้งสิ้นพร้อมทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าพยาน 2 คนเช่นนี้ เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความในการสละมรดกถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612ตอนท้ายประกอบด้วยมาตรา 850 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงระงับข้อพิพาทซึ่งจะมีขึ้นให้เสร็จไปโดยโจทก์สละมรดกในที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทอีก จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งห้า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 6125 และ 6126 ตำบลบางมด (บางขุนเทียน)อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี เป็นมรดกตกได้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1เป็นผู้รับโอนมรดกที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 และครอบครองไว้แทนโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 โดยเสน่หาเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 6125และ 6126 ตำบลบางมด (บางขุนเทียน) อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้โจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 และให้นำที่ดินทั้งสองแปลงออกขายทอดตลาดนำเงินได้จากการขายแบ่งให้โจทก์กึ่งหนึ่ง

จำเลยทั้งห้าให้การว่า โจทก์ยืนยันว่าไม่ขอรับมรดกดังกล่าว ทั้งได้ทำบันทึกเป็นหลักฐานไว้แก่เจ้าพนักงานที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินจึงจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียว จำเลยที่ 1 ไม่เคยตกลงกับโจทก์ว่าจะครอบครองที่ดินพิพาทไว้แทนโจทก์ และจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการโอน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 6125, 6126 ตำบลบางมด (บางขุนเทียน) อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร (ที่ถูกจังหวัดธนบุรี) ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 แล้วให้ใส่ชื่อโจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 หากตกลงแบ่งกันไม่ได้ให้นำออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้โจทก์กึ่งหนึ่งคำขออื่นให้ยก

จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งห้าฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบและไม่โต้เถียงในชั้นฎีการับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 6125 และ 6126 ตามเอกสารหมายล.1 และ ล.2 อันเป็นที่ดินพิพาท เป็นมรดกตกได้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน จำเลยที่ 1 รับโอนที่ดินพิพาทแต่เพียงผู้เดียว ต่อมาภายหลังจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ผู้เป็นบุตรโดยเสน่หา มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหรือไม่ ซึ่งจำเลยทั้งห้าฎีกาอ้างว่าโจทก์ได้สละมรดกในที่ดินพิพาทโดยโจทก์ได้ทำหนังสือไม่รับมรดกตามเอกสารหมาย ล.3 และ ล.5 มอบให้แก่เจ้าพนักงานที่ดินอันถือได้ว่าโจทก์ได้สละมรดกตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612 แล้ว โจทก์จึงหมดสิทธิในที่ดินพิพาทดังกล่าว ในข้อนี้โจทก์เบิกความยอมรับว่า โจทก์ได้ลงลายมือชื่อในหนังสือไม่รับมรดกตามเอกสารหมาย ล.3 และ ล.5 จริง แต่โจทก์ไม่ทราบว่าในเอกสารที่โจทก์ลงลายมือชื่อไปมีข้อความอะไรบ้าง เพราะไม่ได้อ่าน เหตุที่โจทก์ลงลายมือชื่อเนื่องจากจำเลยที่ 1อ้างว่า หากโจทก์รับมรดกด้วยจะต้องเสียเงิน 30,000 บาท โจทก์ไม่มีเงินเสีย จำเลยที่ 1จึงขอรับมรดกไปคนเดียวก่อน เมื่อโจทก์มีเงินก็จะแบ่งให้ภายหลัง จากนั้นโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าว เห็นว่า ขณะที่โจทก์ลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย ล.3 และล.5 เป็นปี 2524 โจทก์มีอายุเพียง 58 ปี เชื่อว่าสามารถมองเห็นและอ่านหนังสือได้ มรดกในส่วนที่โจทก์ได้รับถ้าหากจะต้องเสียค่าธรรมเนียมการโอนถึง 30,000 บาท ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง โจทก์ก็น่าจะตระหนักได้ว่ามรดกดังกล่าวจะต้องมีมูลค่าสูง จึงควรจะต้องระมัดระวังเกี่ยวกับการจัดการในมรดกดังกล่าว ดังนั้นก่อนที่โจทก์จะลงลายมือชื่อในเอกสารทั้งสองฉบับจึงไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์จะไม่อ่านข้อความที่ปรากฏในเอกสารนั้น ทั้งที่อ่านเข้าใจได้โดยง่ายและมีข้อความไม่มาก ข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวจึงเลื่อนลอยไม่อาจรับฟังเป็นจริงได้ และถ้าโจทก์มีเจตนาจะรับที่ดินพิพาทเป็นมรดกก็น่าจะใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมด้วย ส่วนค่าธรรมเนียมการโอนควรให้จำเลยที่ 1 จ่ายทดรองไปก่อนซึ่งเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นพี่คงไม่ปฏิเสธ นอกจากนี้ยังได้ความจากคำของโจทก์ว่า หลังจากโจทก์มีสามีก็ได้ย้ายไปอยู่กินกับสามี ส่วนมารดาได้ให้จำเลยที่ 1 เฝ้าดูแลแต่เพียงผู้เดียว และโจทก์ได้รับคำบอกกล่าวจากพี่สาวของสามีโจทก์ว่าจะแบ่งที่นาให้แก่สามีโจทก์ด้วย จึงเจือสมกับข้อนำสืบและฎีกาของจำเลยทั้งห้าว่า เหตุที่โจทก์ไม่ยอมรับมรดกของมารดา โดยยกให้จำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว เพราะต้องการจะตอบแทนจำเลยที่ 1 ที่เลี้ยงดูมารดามาตลอดโดยโจทก์หวังว่าจะได้รับส่วนแบ่งที่นาจากพี่สาวของสามีโจทก์ ดังนั้น เมื่อชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานที่จำเลยทั้งห้านำสืบมามีน้ำหนักและเหตุผลดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย ล.3 และ ล.5 โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นหนังสือที่โจทก์ไม่ขอรับที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกของมารดา มีปัญหาต่อไปว่าหนังสือดังกล่าวของโจทก์ที่มอบให้แก่เจ้าพนักงานที่ดินเป็นการสละมรดกโดยแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1612 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ว่า “การสละมรดกนั้นต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ” หรือไม่ เห็นว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่ระบุไว้ในมาตราดังกล่าว หมายถึงนายอำเภอตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ. 2495 หาใช่เจ้าพนักงานที่ดินไม่ ดังนี้ที่โจทก์ทำหนังสือไม่ขอรับมรดกตามเอกสารหมาย ล.3 และ ล.5 มอบไว้แก่เจ้าพนักงานที่ดินจึงมิใช่เป็นการสละมรดกดังที่บทกฎหมายข้างต้นกำหนดไว้ แต่การที่โจทก์ทำหนังสือไม่ขอรับมรดกที่ดินพิพาทโดยยืนยันให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 หากมีข้อผิดพลาดหรือเสียหายประการใด โจทก์ขอรับผิดชอบเองทั้งสิ้น พร้อมทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าพยาน 2 คน ตามเอกสารหมาย ล.3 และล.5 เช่นนี้ เห็นว่า ข้อความที่ระบุไว้ในเอกสารดังกล่าวเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความในการสละมรดกถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612 ตอนท้ายประกอบด้วย มาตรา 850 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว เนื่องจากโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงระงับข้อพิพาทซึ่งจะมีขึ้นให้เสร็จไป เมื่อโจทก์สละมรดกในที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทอีก จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งห้าได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 แล้วใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวร่วมกับจำเลยที่ 1 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งห้าฟังขึ้น”

พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

Share