คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5742/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้ร่วมกันว่าจ้างโจทก์จัดการโฆษณาสินค้าโดยระบุรายการสินค้าที่โฆษณาเป็นภาษาอังกฤษว่าMEOBATH ซึ่งโจทก์แปลเป็นภาษาไทยว่าแชมพูมีโอ และโจทก์นำสืบว่าจำเลยว่าจ้างโจทก์โฆษณาสินค้าคือแชมพูยี่ห้อมีโอ โดยแปลภาษาอังกฤษคำว่าMEOBATHเป็นภาษาไทยว่าแชมพูมีโอ จำเลยนำสืบโดยอ้างใบเรียกเก็บเงินซึ่งระบุว่าสินค้าที่ให้โจทก์โฆษณานั้นมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่าMEOBATH แต่จำเลยแปลเป็นภาษาไทยว่ามีโอกาช ซึ่งแปลว่าสบู่เหลวดังนี้ถือได้ว่าจำเลยนำสืบรับว่าสินค้าที่โจทก์รับโฆษณาคือสินค้าที่มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่าMEOBATH แม้โจทก์และจำเลยจะแปลเป็นภาษาไทยต่างกันแต่ก็เป็นสินค้าอย่างเดียวกันนั้นเองจึงฟังได้ว่าจำเลยว่าจ้างโจทก์โฆษณาสินค้าตามฟ้องหาใช่เป็นการนำสืบข้อเท็จจริงต่างจากฟ้องไม่ วันเดือนปีใดตรงกับวันอะไรนั้นเป็นข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปคู่ความไม่ต้องนำสืบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา84(1)ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยเองว่าวันสุดท้ายของกำหนดอายุความ2ปีตรงกับวันอาทิตย์หยุดราชการจึงชอบแล้ว ที่จำเลยที่2และที่3ฎีกาว่าจำเลยที่3เป็นเพียงกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่2จำเลยที่3จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวนั้นจำเลยที่2และที่3มิได้ให้การต่อสู้ไว้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณกลางปี 2529 จำเลยที่ 2 และที่ 3ซึ่งเป็นผู้ผลิตแชมพูยี่ห้อมีโอ (MEO) และจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายแต่ผู้เดียวในประเทศไทย ได้ว่าจ้างโจทก์ให้โฆษณาสินค้าดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ 1,315,235.28 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 1,169,098.03 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องใบแจ้งหนี้ตามฟ้องเป็นใบแจ้งหนี้ที่ไปถึงจำเลยที่ 2 ไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด งานที่จำเลยที่ 1 เคยว่าจ้างโจทก์นั้นจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าสินจ้างให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว คดีโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 2 มีสภาพเป็นบริษัทร้างและนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครได้ขีดออกจากทะเบียนแล้วโจทก์มิได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายจึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าเป็นเจ้าของผู้ผลิต แต่ไม่เคยว่าจ้างโจทก์ให้โฆษณาสินค้าแชมพูยี่ห้อมีโอ (MEO) ของจำเลยที่ 2และที่ 3 แต่อย่างใดและไม่เคยตกลงให้เคยตกลงให้โจทก์เสนองานโฆษณาตามฟ้องต่อจำเลยที่ 1 ทั้งไม่เคยอนุมัติงานโฆษณาดังกล่าวของโจทก์โจทก์ไม่เคยดำเนินการโฆษณาแชมพูยี่ห้อมีโอ (MEO) ตามสื่อโฆษณาต่าง ๆ โจทก์จึงไม่มีสิทธิออกใบแจ้งหนี้ไปยังจำเลยที่ 2 และที่ 3ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 504,695.53 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทน
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3ร่วมกันชำระหนี้จำนวน 1,151,452.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2530เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อแรกว่า โจทก์บรรยายฟ้องไว้โดยแจ้งชัดว่าจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันว่าจ้างโจทก์ให้จัดการทำโฆษณาแชมพูยี่ห้อมีโอแต่พยานโจทก์เบิกความว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันว่าจ้างโจทก์ให้จัดการทำโฆษณาสบู่เหลวยี่ห้อมีโอเป็นการนำสืบข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากฟ้อง จึงไม่อาจรับฟังได้นั้น เห็นว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกันว่าจ้างโจทก์จัดการโฆษณาสินค้าในกิจการค้าแชมพูยี่ห้อมีโอ ปรากฎตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4, 5, 7, 8, 9,10, 11 ซึ่งระบุรายการสินค้าที่โฆษณาเป็นภาษาอังกฤษว่า MEO BATHซึ่งโจทก์แปลเป็นภาษาไทยว่า แซมพู มีโอ โจทก์นำสืบว่าจำเลยทั้งสามว่าจ้างโจทก์โฆษณาสินค้า คือแซมพู ยี่ห้อมีโอ ปรากฎตามเอกสารหมายจ.1 ถึง จ.6 ตามเอกสารดังกล่าวแปลภาษาอังกฤษคำว่า MEO BATHเป็นภาษาไทยว่า แชมพูมีโอ จำเลยทั้งสามนำสืบโดยอ้างใบเรียกเก็บเงินเอกสารหมาย ล.1 (30 แผ่น) เป็นพยานซึ่งตามเอกสารดังกล่าวก็ระบุว่าสินค้าที่ให้โจทก์โฆษณานั้นมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่าMEO BATH แต่จำเลยทั้งสามแปลเป็นภาษาไทยว่า มีโอบาชและจำเลยที่ 3 เบิกความว่า แปลว่าสบู่เหลว เห็นว่า จำเลยทั้งสามนำสืบรับว่าสินค้าที่โจทก์รับโฆษณา คือสินค้าที่มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า MEO BATH แม้โจทก์และจำเลยทั้งสามจะแปลเป็นภาษาไทยต่างกัน แต่ก็เป็นสินค้าอย่างเดียวกันนั้นเอง ฉะนั้นข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่าจ้างโจทก์โฆษณาสินค้าตามฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาต่อไปว่า ใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.2แผ่นที่ 1 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2530 จำเลยที่ 2 และที่ 3ต้องชำระตามที่แจ้งภายใน 30 วัน เมื่อนับตั้งแต่วันครบกำหนดถึงวันฟ้องคือวันที่ 10 กรกฎาคม 2532 เกิน 2 ปี คดีจึงขาดอายุความในชั้นสืบพยาน ข้อเท็จจริงไม่ปรากฎว่าวันสุดท้ายของกำหนดอายุความ2 ปี ตรงกับวันอาทิตย์หยุดราชการ การที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยเองไม่ชอบ เห็นว่า วันเดือนปีใดตรงกับวันอะไรนั้นเป็นข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไป คู่ความไม่ต้องนำสืบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84(1) ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยจึงชอบแล้ว
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาข้อสุดท้ายว่า จำเลยที่ 3 เป็นเพียงกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวนั้น ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในข้อนี้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ให้การต่อสู้ไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน

Share