คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1097/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของอาคารรื้อถอนอาคารที่นายช่างตรวจพบว่าไม่มั่นคงแข็งแรงหรือไม่ปลอดภัยได้ หากเจ้าของอาคารไม่ปฏิบัติตามหรือไม่อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์เกี่ยวแก่การก่อสร้างอาคารภายใน 15 วัน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นก็มีอำนาจรื้อถอนอาคารนั้นได้ ตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2479 มาตรา11 ทวิ วรรคสาม การที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นรื้อถอนอาคารจึงเป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่โดยชอบ ไม่มีมูลเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358นั้น หมายถึงการกระทำแก่ตัวทรัพย์ให้เสียหายฯ เช่นรื้อถอนตึกแถวลง ย่อมเป็นการกระทำแก่ตัวทรัพย์ ทำให้ตึกแถวถูกทำลายเสียหาย แต่เมื่อรื้อแล้ว ไม่นำวัตถุก่อสร้างไปมอบเจ้าของจนวัตถุก่อสร้างสูญหายไปนั้นหาใช่เป็นการกระทำแก่ตัวทรัพย์ไม่ จึงไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลนครกรุงเทพจำเลยที่ 2 เป็นพนักงานเทศบาลใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2506 เวลากลางวัน จำเลยที่ 2 ได้ทำการรื้อตึกแถวสองชั้นของโจทก์รวม 5 ห้อง ซึ่งมีผู้อาศัยอยู่เต็ม ตั้งอยู่ในซอยสวนหลวง ตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนครโดยอ้างว่าได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวการใช้ให้จำเลยที่ 2 กระทำผิด โดยจำเลยทั้งสองไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายโจทก์แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจปทุมวันในบ่ายวันเกิดเหตุแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ยอมสั่งระงับการกระทำของจำเลยที่ 2 และเมื่อจำเลยที่ 2 รื้อตึกแถว 5 ห้องแล้วไม่นำวัตถุก่อสร้างที่รื้อถอนไปมอบให้โจทก์หรือตำรวจ เป็นเหตุให้ถูกทำลายสูญหายและเสียหายหนักยิ่งขึ้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา83, 84, 358

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าไม่มีมูล ให้ยกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ยืน

โจทก์ฎีกาต่อมา

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อ 8 มกราคม 2506 ตึกแถวของโจทก์ 5 ห้องถูกเพลิงไหม้เสียหายบางส่วนก่อนจะมีการรื้อตึกแถวของโจทก์ โจทก์ได้รับหนังสือของเทศบาลนครกรุงเทพ ลงวันที่ 28 มกราคม 2506 สั่งให้รื้อตึกแถวของโจทก์ที่อยู่ในเขตเพลิงไหม้ภายในกำหนด 3 วัน ตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคารฯ โดยมีนายจรูญ วัฒนากร เทศมนตรีเป็นผู้ลงนามในคำสั่ง โจทก์ได้รับคำสั่งแล้วมิได้อุทธรณ์คำสั่งหรือปฏิบัติตามคำสั่งของเทศบาลดังกล่าว ครั้นวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2506 จำเลยที่ 2 จึงได้รื้อตึกแถวของโจทก์ 5 ห้องเสร็จในวันที่ 1 มีนาคม 2506 ก่อนลงมือรื้อและเมื่อรื้อเสร็จ จำเลยที่ 2 ได้แจ้งความต่อสถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ

ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะนายกเทศมนตรีสั่งให้จำเลยที่ 2 ไปรื้อถอนตึกแถวของโจทก์ก็โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 มาตรา 12 ซึ่งแก้ไขใหม่โดยพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2504 มาตรา 5 ซึ่งบัญญัติให้นายช่างมีอำนาจเข้าตรวจอาคารเพื่อดูว่าอาคารนั้นอยู่ในภาวะอันสมควร ถ้านายช่างตรวจพบว่าอาคารหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคารไม่มั่นคงแข็งแรงหรือไม่ปลอดภัย เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมีอำนาจสั่งเจ้าของหรือผู้ครอบครองให้เลิกใช้อาคารหรือส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งอาคารและหรือให้เจ้าของอาคารเปลี่ยนแปลงหรือรื้อถอนเสียภายในเวลาอันสมควรที่จะได้กำหนดให้ และให้นำความในมาตรา 11 ทวิ วรรคสามมาใช้โดยอนุโลม ซึ่งมีความว่า ผู้ปลูกสร้างอาคารซึ่งได้รับคำสั่งจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์เกี่ยวแก่การก่อสร้างอาคารภายใน 15 วันนับแต่วันได้รับคำสั่ง ในกรณีที่ไม่มีอุทธรณ์คำสั่ง และผู้ปลูกสร้างอาคารไม่ปฏิบัติตามภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็ให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมีอำนาจจัดการตามสมควรเพื่อแก้ไขตลอดจนรื้อถอนอาคารนั้นได้ คดีนี้โจทก์ได้รับคำสั่งให้รื้อตึกแถวใน 3 วัน โจทก์ก็ไม่ปฏิบัติตามและมิได้อุทธรณ์คำสั่งการที่จำเลยที่ 1 สั่งให้จำเลยที่ 2 เข้ารื้อตึกแถวของโจทก์จึงเป็นการกระทำโดยอาศัยอำนาจกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้เพื่อให้ความปลอดภัยต่อร่างกาย ชีวิตหรือทรัพย์สินของประชาชนซึ่งอยู่อาศัยในตึกแถว 5 ห้องของโจทก์ เมื่อก่อนที่จำเลยที่ 2 จะลงมือรื้อ และเมื่อรื้อแล้วก้ได้แจ้งความไว้ต่อเจ้าพนักงานตำรวจเป็นหลักฐาน แสดงว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามอำนาจและหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่มีมูลความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามโจทก์ฟ้อง

ที่โจทก์ฎีกาว่า พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2504 มาตรา 11 ทวิ บัญญัติให้ผู้ปลูกสร้างอาคารมีสิทธิอุทธรณ์ หาได้ให้อำนาจเจ้าของอาคารใช้สิทธิอุทธรณ์ไม่ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2504 มาตรา 11 ทวิ บัญญัติให้ผู้ปลูกสร้างอาคารใช้สิทธิอุทธรณ์ได้ มิได้ให้อำนาจเจ้าของอาคารก็จริง แต่พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้าง พ.ศ. 2479 มาตรา 12 ให้นำความในมาตรา 11 ทวิ วรรคสามมาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งหมายความว่า ในกรณีเจ้าของอาคารได้รับคำสั่งจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นให้กระทำการใด ๆ ตามมาตรา 12 ก็ให้เจ้าของอาคารมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้เช่นเดียวกับผู้ปลูกสร้างอาคาร โดยอนุโลมตามมาตรา 11 ทวิ วรรคสามนั่นเอง ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

โจทก์ฎีกาคัดค้านว่า การที่จำเลยไม่นำวัตถุก่อสร้างที่รื้อถอนแล้วมามอบให้โจทก์หรือตำรวจ จนวัตถุก่อสร้างสูญหายไปทั้งหมดเป็นการทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 นั้น หมายถึงการกระทำแก่ตัวทรัพย์ให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือไร้ประโยชน์ เช่น รื้อถอนตึกแถวลง ย่อมเป็นการกระทำแก่ตัวทรัพย์ ทำให้ตึกแถวถูกทำลาย แต่เมื่อรื้อแล้วจำเลยที่ 2 ไม่นำวัตถุก่อสร้างไปมอบโจทก์หรือตำรวจ จนวัตถุก่อสร้างสูญหายไป ไม่ใช่เป็นการกระทำแก่ตัวทรัพย์ จึงไม่เป็นผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share