คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6271/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยให้แก่ธนาคาร แต่ก็มิใช่เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ผู้โอนประสงค์จะโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้รับโอนเป็นการเด็ดขาดโดยผู้รับโอนเข้าเป็นเจ้าหนี้คนใหม่แทนที่ผู้โอนซึ่งหมดสิทธิเรียกร้องต่อไปแล้ว หากแต่เป็นกรณีที่โจทก์นำหนี้ค่าจ้างมาขอสินเชื่อจากธนาคาร ซึ่งเมื่อธนาคารเรียกเก็บเงินค่าจ้างจากจำเลยได้แล้ว ธนาคารจะหักหนี้ของตนไว้ ส่วนเงินที่เหลือจะคืนให้แก่โจทก์ แม้บันทึกข้อตกลงโอนสิทธิเรียกร้องจะใช้ข้อความว่าโจทก์โอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินจากลูกหนี้ของโจทก์ให้แก่ธนาคาร แต่ตามเจตนาของคู่กรณีหาใช่เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องกันไม่ เนื่องจากธนาคารผู้รับโอนไม่มีสิทธิได้รับเงินทั้งหมด คงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ของตนตามส่วนที่ตกลงกันไว้เท่านั้น ส่วนที่เหลือต้องคืนให้แก่โจทก์ กรณีจึงเป็นเพียงโจทก์มอบอำนาจให้ธนาคารรับเงินแทนโจทก์เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 21,609,023.17 บาท และให้ชำระดอกเบี้ยต่อไปอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 17,295,359.01 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยรับผิดตามใบสั่งจ้าง โดยพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าจ้างบริการ 1,913,678.42 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,495,729.46 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 พฤศจิกายน 2553) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยคืนเงินประกันตามสัญญาจ้างบริการเป็นเงิน 30,299,40 บาท และหนังสือค้ำประกันของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เลขที่ ค.30770042839000 แก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม แต่ขาดอายุความ 2 ปี พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงินประกันตามสัญญาจ้างบริการเป็นเงิน 30,299.40 บาท และหนังสือค้ำประกันของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เลขที่ ค.30770042839000 แก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนค่าจ้างที่ค้างชำระ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์มีอายุความ 5 ปี ไม่ขาดอายุความ พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยในประเด็นที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลอุทธรณ์รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10519/2557
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยรับผิดตามใบสั่งจ้าง โดยพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าจ้างเป็นเงิน 1,495,729.46 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยไม่ต้องคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เลขที่ ค.30770042839000 แก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสามศาลตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ชั้นศาลละ 10,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยตามฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการรับจ้างทำงานทั่วไปด้วย จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบกิจการขนส่งคน สิ่งของ และไปรษณีย์ภัณฑ์ทางอากาศ และกิจการที่เกี่ยวเนื่องกัน มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 เป็นรัฐวิสาหกิจ ระหว่างวันที่ 13 มกราคม 2549 ถึงวันที่ 26 เมษายน 2550 จำเลยจ้างโจทก์ให้จัดหาแรงงาน เพื่อเข้าปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานต่าง ๆ หลายหน่วยงานของจำเลยบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิตามความประสงค์ของจำเลย และจำเลยได้นำพนักงานของโจทก์เข้าปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ ตามใบสั่งจ้าง เมื่อพนักงานของโจทก์ได้ปฏิบัติงาน และถึงกำหนดระยะเวลาที่จำเลยจะต้องชำระค่าจ้าง โจทก์อ้างว่าจำเลยมิได้ชำระค่าจ้างตามใบสั่งจ้างให้ครบถ้วน ที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้ตามใบสั่งจ้าง 18 ฉบับ เป็นเงินทั้งสิ้น 21,609,023.17 บาท ตามใบสั่งจ้างทุกฉบับมีข้อความระบุไว้ด้วยสรุปว่า โจทก์ต้องส่งมอบเอกสารประกอบสัญญาตามที่จำเลยแจ้งให้ส่งทั้งหมด และเข้าทำสัญญาจ้างบริการพร้อมส่งมอบหนังสือค้ำประกันของธนาคารหรือวางหลักประกันเป็นเงินสดอัตราร้อยละ 5 ของวงเงินตามสัญญาต่อจำเลยภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับใบสั่งจ้างหากโจทก์ไม่ดำเนินการโดยไม่มีเหตุอันควรถือว่าโจทก์สละสิทธิไม่เข้ารับงานตามที่เสนอราคาไว้ หลังจากวันที่โจทก์ได้รับใบสั่งจ้างแต่ละฉบับ พนักงานของโจทก์เข้าปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมาย แต่โจทก์เข้าทำสัญญาจ้างบริการพร้อมวางเงินประกันต่อจำเลยเฉพาะตามใบสั่งจ้างบางฉบับ กับมอบหนังสือค้ำประกันของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เลขที่ ค.30770042839000 ลงวันที่ 11 เมษายน 2549 หลังจากโจทก์ได้รับใบสั่งจ้างจากจำเลยแล้ว ต่อมาวันที่ 23 มกราคม 2550 โจทก์โอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินตามใบสั่งจ้างแก่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2550 โจทก์โอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินตามใบสั่งจ้างแก่บริษัทกรุงเทพแกรนด์แปซิฟิคลีส จำกัด (มหาชน) และโจทก์กับบริษัทดังกล่าวแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องนั้นแก่จำเลยแล้ว โจทก์ได้รับชำระเงินตามใบสั่งจ้างไปแล้วบางส่วน แต่เงินประกันตามใบสั่งจ้างจำเลยยังมิได้คืนแก่โจทก์ จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 22 สิงหาคม 2550 และวันที่ 15 ตุลาคม 2550 แจ้งยกเลิกงานจ้างบริการตามใบสั่งจ้างบางฉบับไปยังโจทก์ ตามหนังสือแจ้งยกเลิกงานจ้างบริการ ปี 2550 พนักงานของโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลแรงงานกลาง (สมุทรปราการ) และศาลแรงงานกลาง (สมุทรปราการ) มีคำสั่งให้จำเลยส่งเงินค่าจ้างตามคำสั่งอายัดแก่เจ้าพนักงานบังคับคดี จำเลยก็ส่งเงินตามแคชเชียร์เช็คลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2552 จำนวน 382,982.74 บาท แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี บริษัทกรุงเทพแกรนด์แปซิฟิคลีส จำกัด (มหาชน) มีหนังสือลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551 ทวงถามให้จำเลยชำระเงินตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง และยื่นฟ้องโจทก์กับพวกและจำเลยต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ให้ชำระหนี้บางส่วน จำเลยชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้แก่บริษัทกรุงเทพแกรนด์แปซิฟิคลีส จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2552 เป็นเงิน 3,979,511.06 บาท ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยทวงถามให้โจทก์ชำระหนี้กู้ยืมและไถ่ถอนจำนอง จากนั้นธนาคารดังกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระเงินตามบันทึกข้อตกลงโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงิน วันที่ 24 กรกฎาคม 2552 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยยื่นฟ้องโจทก์ให้ชำระหนี้กู้ยืมและฟ้องจำเลยให้ชำระหนี้ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ต่อมาโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระเงินค่าจ้างค้างชำระให้เสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่จำเลยได้รับหนังสือ จำเลยได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2553 สำหรับประเด็นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การมอบอำนาจให้ฟ้องชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มีอำนาจฟ้อง จำเลยไม่อุทธรณ์ จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ประเด็นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม จำเลยไม่ฎีกา จึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และประเด็นว่า ฟ้องของโจทก์ไม่ขาดอายุความ ยุติตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10519/2557 สำหรับประเด็นที่จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ การจัดจ้าง การทำสัญญาและการเบิกจ่ายจะต้องเป็นไปตามระเบียบของจำเลย ว่าด้วยการพัสดุ ภายใต้การควบคุมของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินซึ่งตามระเบียบ การจัดหาพัสดุที่จะต้องจ่ายเงินเกินกว่าหนึ่งล้านบาท กำหนดให้ทำสัญญาต่อกันไว้เป็นหลักฐาน และผู้รับจ้างจะต้องวางหนังสือค้ำประกันของธนาคารหรือสถาบันการเงินที่จำเลยยอมรับไว้เป็นหลักประกัน จำเลยจึงจะสามารถเบิกจ่ายเงินให้แก่คู่สัญญาได้มิฉะนั้นผู้อนุมัติการเบิกจ่ายจะมีความผิดและถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบลงโทษหรือให้ชดใช้ค่าเสียหาย และตามใบสั่งจ้างตามฟ้องทุกฉบับก็ได้ระบุให้โจทก์ต้องส่งเอกสารและทำสัญญาจ้างบริการที่แผนกจัดหาว่าจ้างสัญญาบริการ พร้อมวางหลักประกันเป็นเงินสดหรือหนังสือค้ำประกันอัตราร้อยละ 5 ของวงเงินค่าจ้างตามสัญญาภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้รับใบสั่งจ้าง หากโจทก์ไม่ดำเนินการโดยไม่มีเหตุอันควร ให้ถือว่าโจทก์สละสิทธิไม่เข้ารับงานตามที่เสนอราคาไว้ แสดงว่าโจทก์ต้องเข้าทำสัญญาและวางหลักประกันต่อจำเลยก่อน จึงจะเบิกจ่ายเงินค่าจ้างแก่โจทก์กรณีมีการทำงานตามสัญญาได้ แต่โจทก์มิได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในใบสั่งจ้าง โดยโจทก์เข้าทำสัญญาและวางประกันหรือวางหนังสือค้ำประกันของธนาคารต่อจำเลยตามใบสั่งจ้างเพียงบางฉบับ ทำให้จำเลยไม่สามารถเบิกจ่ายเงินแก่โจทก์ตามใบสั่งจ้างฉบับที่โจทก์มิได้เข้าทำสัญญาและวางเงินประกันตามระเบียบของจำเลย ด้วยเหตุที่โจทก์ปฏิบัติผิดสัญญาดังกล่าว ประกอบกับการทำงานของโจทก์ไม่เป็นไปตามเงื่อนเวลาที่จำเลยกำหนด จึงไม่อาจสนองตอบประโยชน์ในทางธุรกิจของจำเลย สร้างความเสียหายแก่จำเลยในช่วงที่ทางราชการเปิดสนามบินสุวรรณภูมิ จำเลยจึงยกเลิกการจ้างตั้งแต่ประมาณเดือนมิถุนายน 2550 อันเป็นการให้การว่าจำเลยมิได้เป็นผู้ผิดสัญญาจ้างตามใบสั่งจ้างทุกฉบับนั้น ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้ผิดสัญญาจ้างตามใบสั่งจ้าง (ทุกฉบับ) จำเลยไม่ฎีกาประเด็นนี้ จึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยเป็นผู้ผิดสัญญาจ้างตามฟ้อง ส่วนที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาตามคำร้องลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2559 เมื่อพิจารณาส่วนที่ขอแก้ไขเพิ่มเติม เป็นการขอแก้ไขในส่วนที่ระบุเอกสารที่ใช้อ้างอิงประกอบฎีกาที่มีการระบุสับสนให้ถูกต้อง ไม่ได้ยกข้ออ้างเป็นประเด็นขึ้นใหม่ ไม่เป็นการแก้ไขฎีกา แม้จะล่วงพ้นกำหนดยื่นฎีกาก็สามารถยื่นขอได้ ศาลฎีกาจึงอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฎีกาได้ตามขอ
คดีมีปัญหาข้อแรกที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยและของโจทก์ว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินค่าจ้างตามใบสั่งจ้าง หรือไม่ เพียงใด ซึ่งในปัญหานี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยค้างชำระค่าจ้างตามใบสั่งจ้าง พิพากษาให้จำเลยชำระค่าจ้างเป็นเงิน 1,495,729.46 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยฎีกาว่า จำเลยชำระหนี้ตามใบสั่งจ้างเท่าที่มีใบแจ้งหนี้มาเรียกเก็บเอาจากจำเลย ส่วนหนี้สินที่ไม่มีการส่งใบแจ้งหนี้มาเรียกเก็บ จำเลยย่อมไม่อาจชำระหนี้และออกหลักฐานการชำระเงินให้ได้ ใบสรุปรายละเอียดค่าจ้างบริการเป็นเอกสารที่โจทก์ทำขึ้นฝ่ายเดียวและไม่มีรายละเอียดแห่งหนี้ ทั้งไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจากพนักงานของจำเลยว่ามีการทำงานจริงเป็นมูลค่างานเท่าใด และจะต้องหักเงินค่าปรับตามสัญญาหรือไม่ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ส่วนนี้ ส่วนโจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในหนี้ส่วนนี้นับแต่วันที่หนี้แต่ละรายการถึงกำหนด มิใช่นับแต่วันครบกำหนดตามหนังสือบอกกล่าวทวงถาม เห็นว่า โจทก์มีนางสาวศรุดา พนักงานของโจทก์ ตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป และเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ดำเนินคดีนี้ เบิกความยืนยันว่า ใบสั่งจ้างซึ่งมีกำหนดว่าจ้างตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2549 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2550 โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างตามใบสั่งจ้างฉบับนี้ตั้งแต่งวดเดือนมกราคม 2550 ถึงเดือนพฤษภาคม 2550 ส่วนใบสั่งจ้างที่มีกำหนดว่าจ้างตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2549 ถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2550 โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างตามใบสั่งจ้างฉบับนี้ตั้งแต่งวดเดือนพฤศจิกายน 2549 ถึงเดือนมิถุนายน 2550 อันเป็นเดือนที่มีการเลิกสัญญาในระหว่างเดือน สำหรับใบสั่งจ้างที่มีกำหนดว่าจ้างตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2549 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2550 โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างตามใบสั่งจ้างฉบับนี้ตั้งแต่งวดเดือนมิถุนายน 2549 ถึงเดือนมกราคม 2550 โดยโจทก์มีหลักฐานเป็นใบแจ้งหนี้ตามใบสั่งจ้างบางส่วน แม้โจทก์ไม่ได้นำใบแจ้งหนี้ทั้งหมดมาแสดง แต่เมื่อพิจารณาว่าค่าจ้างที่เรียกร้องอยู่ในช่วงระยะเวลาที่โจทก์ต้องจัดส่งพนักงานมาปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของจำเลยตามที่ระบุในใบสั่งจ้าง โดยทางนำสืบของจำเลยไม่ปรากฏว่าโจทก์ละเลยไม่จัดส่งพนักงานมาปฏิบัติหน้าที่ จำเลยคงอ้างแต่เรื่องที่โจทก์ไม่จัดส่งเอกสารที่จะใช้ประกอบการทำสัญญาและหาหลักประกันมาวางเป็นเหตุผลเพื่อปฏิเสธการจ่ายเงินค่าจ้าง นอกจากนี้ยังปรากฏจากคำให้การของจำเลยที่ยอมรับว่ายังมีใบแจ้งหนี้ฉบับอื่นอีกอันเป็นการเจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์จัดส่งพนักงานไปปฏิบัติหน้าที่ตามที่ระบุในใบสั่งจ้างเรียบร้อยแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดจ่ายค่าจ้างดังกล่าวให้แก่โจทก์ โดยที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยรับผิดในหนี้ค่าจ้างตามใบสั่งจ้าง เป็นเงิน 149,890.95 บาท ตามที่โจทก์เรียกร้องมา เนื่องจากแม้จำเลยให้การว่ามีการชำระค่าจ้างตามใบสั่งจ้างฉบับนี้ของงวดเดือนมกราคม 2550 แล้ว แต่มิได้นำพยานหลักฐานมาสืบให้เห็นจริงตามที่ให้การ และให้ชำระหนี้ค่าจ้างตามใบสั่งจ้าง เป็นเงิน 1,285,699.16 บาท ตามที่โจทก์เรียกร้องมา ส่วนหนี้ค่าจ้าง ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยรับผิดเพียง 60,139.35 บาท เนื่องจากให้หักเงินค่าจ้างที่จำเลยมีหลักฐานมาแสดงว่ามีการชำระไปแล้ว 3 งวด รวมยอดหนี้ตามใบสั่งจ้างทั้งสามฉบับนี้เป็นเงิน 1,495,729.46 บาท จึงถูกต้องแล้ว ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดนับแต่วันครบกำหนดให้ชำระเงิน คือตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไป โดยอ้างว่าโจทก์ไม่ได้นำสืบว่า โจทก์ออกใบแจ้งหนี้เรียกเก็บเงินไปยังจำเลยแล้วหรือไม่ เมื่อพิจารณาว่าโจทก์มีการอ้างส่งใบแจ้งหนี้ของงวดเดือนมีนาคม 2550 เป็นเงิน 29,978.19 บาท และงวดเดือนพฤษภาคม 2550 เป็นเงิน 29,978.19 บาท โดยใบแจ้งหนี้ทั้งสองฉบับระบุวันครบกำหนดชำระเงิน 45 วัน วันครบกำหนดของใบแจ้งหนี้ทั้งสองฉบับจึงตรงกับวันที่ออกใบแจ้งหนี้บวกระยะเวลา 45 วัน โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดของใบแจ้งหนี้สองฉบับนี้นับแต่วันถัดจากวันที่ออกใบแจ้งหนี้บวกระยะเวลา 45 วัน สำหรับหนี้ส่วนที่เหลือโจทก์ไม่ได้อ้างส่งใบแจ้งหนี้มาให้พิจารณา จึงเห็นสมควรให้คิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนด คือวันที่ 2 ตุลาคม 2553 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ปัญหาข้อแรกนี้สำหรับฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
มีปัญหาข้อต่อไปที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างตามใบสั่งจ้าง หรือไม่ เพียงใด ปัญหานี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยสรุปว่า จำเลยชำระเงินค่าจ้างตามใบสั่งจ้างให้แก่โจทก์โดยนำส่งแก่ศาลแรงงานกลาง (สมุทรปราการ) ครบถ้วนแล้ว ส่วนสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างตามใบสั่งจ้างนอกจากนี้โจทก์โอนแก่ผู้รับโอนไปแล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องนั้นสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 ทั้งผู้รับโอนได้ฟ้องให้รับผิดตามสิทธิเรียกร้องที่รับโอนมาด้วยแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในใบสั่งจ้างเหล่านี้ โจทก์ฎีกาว่า การที่โจทก์ทำบันทึกข้อตกลงโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยไปให้บริษัทกรุงเทพแกรนด์แปซิฟิคลีส จำกัด (มหาชน) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยไม่มีผลผูกพันให้โจทก์ต้องขาดสิทธิที่จะเรียกร้องค่าจ้างเอาจากจำเลย การทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเป็นวิธีการที่โจทก์ขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินทั้งสองแห่ง สถาบันการเงินจะอนุมัติสินเชื่อให้โจทก์เพียงร้อยละ 80 ของมูลค่าใบแจ้งหนี้ในแต่ละเดือนหรือจำนวนที่น้อยกว่า โดยสถาบันการเงินจะเป็นผู้เรียกเก็บเงินจากจำเลยแล้วนำมาหักชำระหนี้สินเชื่อร้อยละ 80 แล้วจึงคืนเงินส่วนต่างร้อยละ 20 ให้แก่โจทก์ อันเป็นวิธีปฏิบัติของสถาบันการเงินที่ดำเนินการทั่วไปและเป็นเจตนาของคู่สัญญาจึงมิได้เป็นการโอนสิทธิเรียกร้อง ทั้งการโอนสิทธิเรียกร้องตามใบสั่งจ้างยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากโจทก์ยังไม่ได้แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทราบ ส่วนใบสั่งจ้างที่โจทก์ไม่ได้นำใบเรียกเก็บเงินไปโอนสิทธิเรียกร้องในแต่ละคราวให้แก่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารจึงไม่ติดใจเรียกร้อง ส่วนเงินค่าจ้างที่จำเลยส่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งอายัดในคดีของศาลแรงงานกลาง (สมุทรปราการ) หมายเลขแดงที่ สป.1285 – 1330/2550 และ สป.1331 – 1384/2550 เป็นการนำไปชำระให้แก่ลูกจ้างของโจทก์ไม่ใช่ตัวโจทก์ โจทก์จึงยังคงมีสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างส่วนนี้อยู่ เห็นว่า ในส่วนของหนี้ค่าจ้างตามใบสั่งจ้างเลขที่ 1420000142 และเลขที่ 1420000252 พนักงานของโจทก์ที่โจทก์ส่งไปทำงานให้แก่จำเลยตามใบสั่งจ้างจำนวน 46 คน และ 54 คน ตามลำดับ ยื่นฟ้องโจทก์เป็นคดีแรงงานต่อศาลแรงงานกลาง (สมุทรปราการ) และมีการพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นคดีหมายเลขแดงที่ สป.1285-1330/2550 และ สป.1331-1384/2550 แต่โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ในคดีดังกล่าวจึงดำเนินการบังคับคดีโดยขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างตามใบสั่งจ้างทุกฉบับที่โจทก์มีต่อจำเลยในคดีนี้ จำเลยยื่นคำคัดค้าน ศาลในคดีดังกล่าวไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้จำเลยส่งเงินค่าจ้างเฉพาะตามใบสั่งจ้างเอกสารหมาย จ.6 และ จ.13 จำเลยจึงส่งเงินค่าจ้างให้เจ้าพนักงานบังคับคดี ดังนี้ แม้จำเลยมิได้ชำระเงินค่าจ้างตามใบสั่งจ้างทั้งสองฉบับให้แก่โจทก์โดยตรง แต่เป็นการส่งเงินค่าจ้างเนื่องจากการบังคับคดีของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีดังกล่าวโจทก์ส่งไปทำงานให้จำเลยตามใบสั่งจ้างฉบับที่มีการอายัดหรือไม่ การบังคับคดีในคดีดังกล่าวเป็นผลให้หนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ในคดีดังกล่าวได้รับการชำระหนี้อันเป็นประโยชน์แก่โจทก์แล้ว ถือว่าจำเลยชำระหนี้ค่าจ้างตามใบสั่งจ้างแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างในส่วนนี้จากจำเลยอีก ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ให้โจทก์เรียกร้องหนี้ส่วนนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ในส่วนของหนี้ตามใบสั่งจ้างที่โจทก์ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยให้แก่บริษัทกรุงเทพแกรนด์แปซิฟิคลีส จำกัด (มหาชน) ปรากฏตามคำเบิกความของนายวสันต์ พนักงานฝ่ายกฎหมายของบริษัทกรุงเทพแกรนด์แปซิฟิคลีส จำกัด (มหาชน) ว่า บริษัทดังกล่าวยื่นฟ้องโจทก์และจำเลยเพื่อบังคับให้โจทก์และจำเลยชำระหนี้ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง และให้จำเลยชำระหนี้ค่าจ้างตามใบสั่งจ้างเป็นคดีของศาลแพ่งกรุงเทพใต้หมายเลขดำที่ 2784/2551 ซึ่งศาลในคดีดังกล่าวพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 1454/2552 ให้จำเลยชำระเงินแก่บริษัทดังกล่าว 3,628,612.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงิน 3,476,306.36 บาท ซึ่งต่อมาจำเลยนำเงินไปชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่บริษัทดังกล่าว บริษัทดังกล่าวนำเงินที่ได้รับไปหักหนี้สินที่โจทก์มีต่อบริษัทดังกล่าว แล้วคืนเงินส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ตามที่มีการตกลงไว้กับโจทก์ โดยมีการระบุเรื่องดังกล่าวไว้ในหนังสือยืนยันยกเลิกการโอนสิทธิเรียกร้องและภาระหนี้ เมื่อพิจารณาคำฟ้องในคดีดังกล่าวมีการระบุถึงใบแจ้งหนี้ที่บริษัทดังกล่าวนำมาฟ้องจำเลยซึ่งเป็นจำเลยที่ 4 ในคดีดังกล่าวให้รับผิดประกอบด้วยใบแจ้งหนี้เลขที่ พีวี 0073/50 และ 0092/50 ใบแจ้งหนี้เลขที่ พีวี 0069/50 และ 0088/50 ใบแจ้งหนี้เลขที่ พีวี 0072/50 ใบแจ้งหนี้เลขที่ พีวี 0070/50 และ 0089/50 ใบแจ้งหนี้เลขที่ พีวี 0071/50 และ 0090/50 ใบแจ้งหนี้เลขที่ พีวี 0078/50 0087/50 และ 0107/50 ใบแจ้งหนี้เลขที่ พีวี 0068/50 0073/50 0086/50 และ 0109/50 และใบแจ้งหนี้เลขที่ พีวี 0011/50 ตามสำเนาคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 2784/2551 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เมื่อพิจารณาตารางในใบสรุปรายละเอียดค่าบริการ ค่าจ้างค้างชำระตามใบสั่งจ้าง มีการระบุรายละเอียดเลขที่ใบแจ้งหนี้ของใบสั่งจ้างแต่ละฉบับ ปรากฏว่าใบแจ้งหนี้ที่บริษัทกรุงเทพแกรนด์ แปซิฟิคลีส จำกัด (มหาชน) นำไปฟ้องในคดีดังกล่าวเป็นคนละชุดกับที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้ ดังนั้น ที่จำเลยชำระหนี้ให้แก่บริษัทดังกล่าวจึงไม่มีผลกระทบกับสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในการเรียกค่าจ้างตามใบสั่งจ้าง เพราะเป็นหนี้ค่าจ้างคนละส่วนกัน ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ให้โจทก์เรียกร้องหนี้ส่วนนี้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ในส่วนของหนี้ตามใบสั่งจ้างที่โจทก์ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยให้แก่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ได้ความตามคำเบิกความของนางสาวศิริวรรณ พนักงานของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ตำแหน่งผู้จัดการส่วนอาวุโส ฝ่ายควบคุมคุณภาพสินเชื่อ 3 ว่า โจทก์เป็นลูกค้าธนาคารประเภทวงเงินสินเชื่อแฟคตอริ่ง กล่าวคือ แม้โจทก์ทำบันทึกข้อตกลงโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินและหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อจำเลยตามใบสั่งจ้างให้แก่ธนาคารดังกล่าว แต่มิใช่เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีเป็นการที่โจทก์นำหนี้ค่าจ้างตามใบแจ้งหนี้ของใบสั่งจ้างแต่ละฉบับมาขอสินเชื่อจากธนาคาร ธนาคารจะให้สินเชื่อแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 80 ของค่าจ้างที่ระบุในใบแจ้งหนี้แต่ละฉบับ และให้โจทก์ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ธนาคารเต็มจำนวนค่าจ้างที่ระบุในใบแจ้งหนี้ เมื่อธนาคารเรียกเก็บเงินค่าจ้างจากจำเลยได้แล้ว ธนาคารจะหักหนี้ของตนไว้ ส่วนเงินที่เหลือซึ่งมีประมาณร้อยละ 20 จะคืนให้แก่โจทก์ จากพฤติการณ์ดังกล่าวแม้โจทก์บันทึกข้อตกลงโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงิน และหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องใช้ข้อความว่าโจทก์โอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินจากลูกหนี้ของโจทก์ให้แก่ธนาคาร แต่ตามเจตนาของคู่กรณีหาใช่เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องกันไม่ เนื่องจากธนาคารผู้รับโอนสิทธิไม่มีสิทธิได้รับเงินทั้งหมด คงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ของตนตามสัดส่วนที่ตกลงกันไว้เท่านั้น ส่วนที่เหลือต้องคืนให้แก่โจทก์ กรณีจึงเป็นเพียงโจทก์มอบอำนาจให้ธนาคารรับเงินแทนโจทก์เท่านั้น อันแตกต่างจากการโอนสิทธิเรียกร้องตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ผู้โอนประสงค์จะโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้รับโอนเป็นการเด็ดขาดโดยผู้รับโอนเข้าเป็นเจ้าหนี้คนใหม่แทนที่ผู้โอนซึ่งหมดสิทธิเรียกร้องต่อไปแล้ว ซึ่งปรากฏว่าธนาคารดังกล่าวยื่นฟ้องโจทก์และจำเลยเพื่อบังคับให้โจทก์ชำระหนี้กู้ยืมเงินเบิกเงินทุนหมุนเวียนและให้จำเลยชำระหนี้ค่าจ้างตามใบสั่งจ้างเป็นคดีของศาลจังหวัดธัญบุรี ซึ่งศาลในคดีดังกล่าวพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ ผบ.3106/2556 ให้จำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าว (เป็นโจทก์ในคดีนี้) ชำระหนี้แก่ธนาคาร แต่ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 5 ในคดีดังกล่าว (เป็นจำเลยในคดีนี้) ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในคดีดังกล่าวพิพากษายืน คดีดังกล่าวเป็นที่สุดในชั้นอุทธรณ์ การที่ธนาคารซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวไม่ยื่นฎีกา ถือได้ว่าไม่ติดใจใช้สิทธิเป็นตัวแทนเรียกเก็บเงินจากจำเลยซึ่งเป็นจำเลยที่ 5 ในคดีดังกล่าวแทนโจทก์ตามที่ได้รับมอบอำนาจมาจากโจทก์ โจทก์ในฐานะที่เป็นเจ้าของที่แท้จริงในสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ตามใบสั่งจ้างได้ เนื่องจากค่าจ้างที่จำเลยค้างชำระยังไม่มีการบังคับชำระหนี้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ให้โจทก์เรียกร้องหนี้ส่วนนี้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยเช่นกัน โดยหนี้ตามใบสั่งจ้าง โจทก์มีนางสาวศรุดาเบิกความยืนยันว่า โจทก์จัดส่งพนักงานไปทำงานให้แก่จำเลยตามใบสั่งจ้างชุดดังกล่าวแล้วโจทก์ออกใบแจ้งหนี้เรียกเก็บค่าจ้างไปยังจำเลยแล้ว ซึ่งมีรายละเอียดใบแจ้งหนี้ของใบสั่งจ้างแต่ละฉบับตามที่ปรากฏในตารางใบสรุปรายละเอียดค่าบริการ โดยโจทก์อ้างส่งสำเนาใบแจ้งหนี้บางส่วนเป็นพยานหลักฐาน ทั้งค่าจ้างที่เรียกร้องล้วนแต่เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยจะมีหนังสือแจ้งยกเลิกงานจ้างบริการต่อโจทก์ นอกจากนี้จำเลยยังอ้างส่งใบแจ้งหนี้บางส่วนที่โจทก์ออกให้เจือสมกับที่พยานโจทก์เบิกความ อย่างไรก็ตาม โจทก์เรียกค่าจ้างเต็มตามยอดที่ระบุในใบแจ้งหนี้ที่โจทก์ออกแต่ละฉบับ แต่ปรากฏจากเอกสารว่าจำเลยมีการปรับลดค่าจ้างตามใบแจ้งหนี้บางฉบับเนื่องจากการลางานของพนักงานที่โจทก์ส่งมาปฏิบัติหน้าที่ หรือพนักงานมาสายหรือกลับก่อนเวลา โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างเต็มตามจำนวนที่ระบุในใบสั่งจ้างในส่วนที่มีหลักฐานการปรับลดค่าจ้าง รวมเป็นยอดหนี้ 7,957,533.02 บาท ส่วนใบสั่งจ้างที่ไม่มีการปรับลดค่าจ้างในใบแจ้งหนี้เลย จึงเป็นไปตามจำนวนที่ระบุในใบแจ้งหนี้ รวมแล้วเป็นยอดหนี้ทั้งสิ้น 12,948,383.28 บาท ซึ่งจำเลยต้องชำระพร้อมด้วยดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยใบแจ้งหนี้แต่ละฉบับกำหนดเวลาให้ชำระหนี้ภายใน 45 วัน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในส่วนของใบแจ้งหนี้ที่มีหลักฐานมาแสดงนับแต่วันถัดจากวันที่ออกใบแจ้งหนี้บวกระยะเวลา 45 วัน สำหรับหนี้ตามใบสั่งจ้างที่ระบุว่ามาจากใบแจ้งหนี้เลขที่ พีวี 0146/50 0147/50 และ 0150/50 เป็นเงิน 33,422.52 บาท 43,977 บาท และ 49,254.24 บาท ตามลำดับ หนี้ตามใบสั่งจ้างที่ระบุว่ามาจากใบแจ้งหนี้เลขที่ พีวี 0119/50 เป็นเงิน 10,236.69 บาท หนี้ตามใบสั่งจ้างที่ระบุว่ามาจากใบแจ้งหนี้เลขที่ พีวี 0044/50 เป็นเงิน 9,523 บาท หนี้ตามใบสั่งจ้างที่ระบุว่ามาจากใบแจ้งหนี้เลขที่ พีวี 0129/50 0130/50 และ 0131/50 เป็นเงินฉบับละ 20,794.38 บาท หนี้ตามใบสั่งจ้างที่ระบุว่ามาจากใบแจ้งหนี้เลขที่ พีวี 0109/50 เป็นเงิน 103,312.46 บาท และหนี้ตามใบสั่งจ้างที่ระบุว่ามาจากใบแจ้งหนี้เลขที่ พีวี 0144/50 เป็นเงิน 222,414.48 บาท เนื่องจากไม่มีใบแจ้งหนี้มาแสดง เห็นสมควรให้คิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดสำหรับหนี้ส่วนนี้นับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดตามหนังสือบอกกล่าวทวงถาม คือวันที่ 2 ตุลาคม 2553 ปัญหาข้อนี้ที่โจทก์ฎีกามา จึงฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาข้อสุดท้ายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เลขที่ ค.30770042839000 แก่โจทก์หรือไม่ ในปัญหานี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าจ้างบางส่วนและให้คืนหนังสือค้ำประกันดังกล่าวแก่โจทก์ โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ในปัญหาอื่น ไม่ได้อุทธรณ์ปัญหาเรื่องการคืนหนังสือค้ำประกัน ทั้งศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ตั้งแต่คราวก่อนแล้วว่า ในส่วนหนังสือค้ำประกันโจทก์และจำเลยไม่อุทธรณ์ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา แล้วศาลอุทธรณ์เห็นว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ จึงยกฟ้องในส่วนที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าจ้างบางส่วนนั้นแต่ก็ยังคงพิพากษาให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกัน โจทก์ฎีกาว่าฟ้องของโจทก์ไม่ขาดอายุความจำเลยไม่ได้ฎีกา ดังนั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับหนังสือค้ำประกันเป็นอันยุติว่า จำเลยต้องคืนแก่โจทก์ และเมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์ไม่ขาดอายุความ ศาลฎีกาจึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยในประเด็นที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี อันเป็นกรณีที่ศาลฎีกากล่าวไว้ชัดแจ้งแล้วว่าให้พิจารณาปัญหาในประเด็นที่ยังไม่ได้วินิจฉัย ก็เมื่อประเด็นการคืนหนังสือค้ำประกันศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยตั้งแต่คราวก่อนให้จำเลยคืนแก่โจทก์และยุติแล้ว ไม่ใช่ประเด็นที่ยังไม่ได้วินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นพิจารณาวินิจฉัยในการพิพากษาครั้งใหม่ว่าจำเลยไม่ต้องคืนหนังสือค้ำประกันแก่โจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย โดยศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยต้องคืนหนังสือค้ำประกันแก่โจทก์ดังที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้ตั้งแต่คราวก่อน จึงต้องแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้ด้วย ฎีกาของโจทก์ในปัญหาข้อนี้ฟังขึ้น
สำหรับจำนวนเงินต้นและดอกเบี้ยที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ดังวินิจฉัยมา รวมเป็นเงินต้น 14,444,112.74 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในระหว่างผิดนัดสำหรับหนี้ที่มีใบแจ้งหนี้มาแสดงให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันที่ออกใบแจ้งหนี้บวกระยะเวลา 45 วัน โดยวันที่ออกใบแจ้งหนี้แต่ละฉบับเป็นไปตามที่ระบุในใบแจ้งหนี้ ส่วนหนี้ที่ไม่มีใบแจ้งหนี้มาแสดงให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2553
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 14,444,112.74 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในระหว่างผิดนัด สำหรับหนี้ที่มีใบแจ้งหนี้มาแสดงอันประกอบด้วยหนี้ตามใบแจ้งหนี้เลขที่ พีวี 0058/50 เป็นต้นเงิน 29,978.19 บาท และ 0060/50 เป็นต้นเงิน 29,978.19 บาท ใบแจ้งหนี้เลขที่ พีวี 0022/50 เป็นต้นเงิน 41,886.24 บาท 0023/50 เป็นต้นเงิน 37,789.40 บาท 0024/50 เป็นต้นเงิน 29,466.60 บาท 0030/50 เป็นต้นเงิน 41,696.31 บาท 0139/50 เป็นต้นเงิน 41,934.93 บาท และ 0140/50 เป็นต้นเงิน 42,695.16 บาท ใบแจ้งหนี้เลขที่ พีวี 0012/50 เป็นต้นเงิน 10,312.94 บาท 0041/50 เป็นต้นเงิน 10,998.51 บาท 0046/50 เป็นต้นเงิน 10,645.92 บาท 0055/50 เป็นต้นเงิน 13,544.89 บาท และ 0116/50 เป็นต้นเงิน 12,536.13 บาท ใบแจ้งหนี้เลขที่ พีวี 008/50 เป็นต้นเงิน 10,290.19 บาท 0031/50 เป็นต้นเงิน 10,240.19 บาท 0042/50 เป็นต้นเงิน 10,290.19 บาท 0052/50 เป็นต้นเงิน 10,290.19 บาท และ 0115/50 เป็นต้นเงิน 10,290.19 บาท ใบแจ้งหนี้เลขที่ พีวี 0011/50 เป็นต้นเงิน 10,236.69 บาท 0040/50 เป็นต้นเงิน 10,236.69 บาท 0045/50 เป็นต้นเงิน 10,236.69 บาท 0060/50 เป็นต้นเงิน 8,236.69 บาท และ 091/50 เป็นต้นเงิน 9,236.69 บาท ของใบสั่งจ้างเอกสารหมาย จ.10 ใบแจ้งหนี้เลขที่ พีวี 009/50 เป็นต้นเงิน 9,523 บาท 0038/50 เป็นต้นเงิน 9,523 บาท 0053/50 เป็นต้นเงิน 9,523 บาท และ 0117/50 เป็นต้นเงิน 9,523 บาท ใบแจ้งหนี้เลขที่ พีวี 0010/50 เป็นต้นเงิน 8,453 บาท 0039/50 เป็นต้นเงิน 8,453 บาท 0044/50 เป็นต้นเงิน 8,273 บาท 0054/50 เป็นต้นเงิน 8,103 บาท และ 0114/50 เป็นต้นเงิน 8,103 บาท ใบแจ้งหนี้เลขที่ พีวี 0048/50 เป็นต้นเงิน 20,794.38 บาท 0049/50 เป็นต้นเงิน 20,794.38 บาท และ 0050/50 เป็นต้นเงิน 20,794.38 บาท ใบแจ้งหนี้เลขที่ พีวี 0015/50 เป็นต้นเงิน 53,054.26 บาท 0016/50 เป็นต้นเงิน 52,818.80 บาท 0047/50 เป็นต้นเงิน 50,268.60 บาท 0034/50 เป็นต้นเงิน 49,958.30 บาท และ 0051/50 เป็นต้นเงิน 49,648 บาท ใบแจ้งหนี้เลขที่ พีวี 0071/49 เป็นต้นเงิน 239,790.81 บาท 001/50 เป็นต้นเงิน 228,053.43 บาท 0021/50 เป็นต้นเงิน 228,778.86 บาท 0027/50 เป็นต้นเงิน 195,615.02 บาท 0031/50 เป็นต้นเงิน 202,291 บาท 0081/50 เป็นต้นเงิน 228,987.92 บาท 0082/50 เป็นต้นเงิน 220,022.28 บาท 0137/50 เป็นต้นเงิน 177,816.14 บาท 0145/50 เป็นต้นเงิน 164,400.78 บาท และ 0138/50 เป็นต้นเงิน 180,041 บาท ใบแจ้งหนี้เลขที่ พีวี 0017/50 เป็นต้นเงิน 94,835.82 บาท 0020/50 เป็นต้นเงิน 69,725.96 บาท 0026/50 เป็นต้นเงิน 98,941.82 บาท 0058/50 เป็นต้นเงิน 110,076.21 บาท และ 0079/50 เป็นต้นเงิน 118,969.81 บาท ใบแจ้งหนี้เลขที่ พีวี 0119/50 เป็นต้นเงิน 1,189,738.35 บาท 0100/50 เป็นต้นเงิน 1,477,652.88 บาท 0097/50 เป็นต้นเงิน 1,029,713.77 บาท 0084/50 เป็นต้นเงิน 1,098,742.09 บาท 0083/50 เป็นต้นเงิน 1,059,634.44 บาท 0098/50 เป็นต้นเงิน 1,234,317.86 บาท และ 0128/50 เป็นต้นเงิน 867,733.63 บาท และใบแจ้งหนี้เลขที่ พีวี 0120/50 เป็นต้นเงิน 1,107,280.94 บาท นั้น ให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันที่ออกใบแจ้งหนี้แต่ละฉบับบวกระยะเวลา 45 วัน โดยวันที่ออกใบแจ้งหนี้แต่ละฉบับเป็นไปตามที่ระบุในใบแจ้งหนี้ ส่วนหนี้ที่ไม่มีใบแจ้งหนี้มาแสดงอันประกอบด้วยหนี้ตามใบแจ้งหนี้เลขที่ พีวี 004/50 001/50 และ 0075/50 ใบแจ้งหนี้เลขที่ พีวี 061/50 064/50 130/50 131/50 และ 0104/50 ใบแจ้งหนี้เลขที่ พีวี 0146/50 0147/50 และ 0150/50 ใบแจ้งหนี้เลขที่ พีวี 0119/50 ใบแจ้งหนี้เลขที่ พีวี 0044/50 ใบแจ้งหนี้เลขที่ พีวี 0129/50 0130/50 และ 0131/50 ใบแจ้งหนี้เลขที่ พีวี 0036/49 0037/49 0038/49 0051/49 0035/50 0076/49 0036/50 และ 0129/50 ใบแจ้งหนี้เลขที่ พีวี 0109/50 ใบแจ้งหนี้เลขที่ พีวี 0144/50 รวมเป็นต้นเงิน 1,970,296.61 บาท ให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เลขที่ ค.30770042839000 ลงวันที่ 11 เมษายน 2549 แก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกา (ชั้นฎีกาฉบับนี้) แทนโจทก์ สำหรับค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา โดยกำหนดค่าทนายความให้ 100,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยตามฟ้องฎีกาของจำเลยให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share