คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1612/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีที่ อ. ฟ้องนายกเทศมนตรีนครนนทบุรีกับพวกต่อศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนใบอนุญาตรื้อถอนใบอนุญาตรื้อถอนอาคาร เลขที่ 424/2555 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2555 เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครอง ไม่ใช่การฟ้องขอให้เพิกถอนกฎหมาย ย่อมไม่มีผลเป็นการทั่วไปและไม่ผูกพันโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ซึ่งไม่ได้เป็นคู่ความในคดีปกครองดังกล่าว
วันที่ 1 กันยายน 2535 บริษัท ป. โอนกรรมสิทธิ์รั้วกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กรอบหมู่บ้าน พ. ให้โจทก์ทั้งสองเพื่อประโยชน์เกี่ยวกับการสาธารณสุข การคมนาคม การจราจร และความปลอดภัยของผู้ซื้อบ้านในโครงการ ต่อมาวันที่ 14 ตุลาคม 2535 บริษัท ป. แบ่งหักที่ดินโฉนดเลขที่ 3331 ออกเป็นทางสาธารณประโยชน์ แสดงว่าการโอนกรรมสิทธิ์รั้วกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กเกิดขึ้นก่อนการแบ่งหักที่ดินเป็นทางสาธารณประโยชน์ ดังนั้น ขณะบริษัท ป. แบ่งหักที่ดินเป็นทางสาธารณประโยชน์ บริษัทดังกล่าวไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รั้วกำแพงรอบหมู่บ้าน ซึ่งมีรั้วกำแพงพิพาทเป็นส่วนหนึ่งด้วยรั้วกำแพงรอบหมู่บ้านมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์แก่การคมนาคมและการจราจรเท่านั้น แต่มีไว้เพื่อความปลอดภัยของผู้ซื้อบ้านในโครงการด้วยอันเป็นสาธารณูปโภคตามข้อ 1 ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น โดยผลของประกาศคณะปฏิวัติดังกล่าวตามข้อ 30 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 ทำให้รั้วกำแพงรอบหมู่บ้านรวมทั้งรั้วกำแพงพิพาทตกเป็นภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ผู้ซื้อบ้านในโครงการทั้งหมด ไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินที่รั้วกำแพงตั้งอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 เมื่อบริษัท ป. ผู้โอนมีเจตนาแยกรั้วกำแพงพิพาทเป็นคนละส่วนกับที่ดินที่ตั้งรั้วกำแพงและรั้วกำแพงไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน ไม่ถือเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ตกติดไปกับที่ดิน รั้วกำแพงพิพาทจึงไม่เป็นส่วนหนึ่งของทางสาธารณประโยชน์ แต่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสอง ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจเทศบาลนนทบุรีก้าวล่วงกรรมสิทธิ์ส่วนเอกชนอนุญาตให้ผู้ใดพรากกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่น แม้จำเลยทั้งสามเป็นเจ้าของและผู้พักอาศัยที่ดินแปลงที่ 29 และ 30 ในโครงการมีสิทธิใช้รั้วกำแพงรอบหมู่บ้านอันเป็นภารยทรัพย์ แต่จำเลยทั้งสามไม่มีสิทธิทำการเปลี่ยนแปลงในภารยทรัพย์ซึ่งทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้น ยิ่งกว่านั้นที่ดินโฉนดเลขที่ 229966 และ 229967 ซึ่งจำเลยทั้งสามซื้อมาภายหลังและอยู่นอกโครงการจึงไม่เป็นสามยทรัพย์ที่จำเลยทั้งสามจะยกขึ้นอ้างสิทธิใด ๆ เหนือกำแพงรั้วพิพาทได้ การกระทำของจำเลยทั้งสามที่ทุบทำลายรั้วกำแพงพิพาทจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง
โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รั้วกำแพงพิพาท แม้เป็นภารยทรัพย์ แต่เมื่อถูกทำลายไปโดยผู้ไม่มีสิทธิ โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธินำแท่งปูนวางแทนรั้วกำแพงพิพาทเพื่อยังประโยชน์การใช้รั้วกำแพงพิพาทให้คงอยู่ดังเดิม การกระทำของโจทก์ทั้งสองส่วนนี้จึงไม่เป็นการละเมิดต่อจำเลยทั้งสาม อย่างไรก็ดี พื้นที่ส่วนที่เป็นทางสาธารณประโยชน์ ผู้ซื้อบ้านในโครงการรวมทั้งจำเลยทั้งสามมีสิทธิใช้สัญจร โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธินำรถบรรทุกและแท่งปูนมาปิดกั้น การกระทำของโจทก์ทั้งสองเฉพาะส่วนนี้เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดทุบทำลายกำแพงรั้วพิพาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสอง จึงต้องคืนทรัพย์สินอันโจทก์ทั้งสองต้องเสียไปเพราะละเมิดนั้น หรือชดใช้ราคาทรัพย์สิน โจทก์ทั้งสองชอบที่จะขอให้บังคับจำเลยทั้งสามก่อสร้างรั้วกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กส่วนที่ถูกทุบทำลายไปให้กลับคืนสู่สภาพเดิม หากจำเลยทั้งสามไม่ดำเนินการก็จะต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าก่อสร้างรั้วกำแพงดังกล่าว
แม้โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธินำรถบรรทุกและแท่งปูนมาปิดกั้นถนนอันเป็นทางสาธารณประโยชน์ ซึ่งจำเลยทั้งสามอ้างว่าทำให้ไม่สามารถนำรถบรรทุกวัสดุอุปกรณ์เข้าไปยังที่ดินของจำเลยทั้งสามส่วนที่อยู่นอกโครงการได้ อย่างไรก็ดี จำเลยทั้งสามไม่มีสิทธิทุบทำลายกำแพงรั้วพิพาท หากรั้วกำแพงพิพาทไม่ถูกทุบทำลาย จำเลยทั้งสามก็ไม่สามารถนำวัสดุอุปกรณ์ผ่านรั้วกำแพงพิพาทนั่นเอง การกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสามไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ อันจะอ้างต่อโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยทั้งสามไม่สามารถนำรถบรรทุกวัสดุอุปกรณ์เข้าไปยังที่ดินของจำเลยทั้งสาม จึงไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของโจทก์ทั้งสอง
คำฟ้องโจทก์ทั้งสองมีคำขอด้วยว่า ห้ามจำเลยทั้งสามและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวในที่ดินโฉนดเลขที่ 3368 คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่พิพากษาห้ามจำเลยทั้งสามใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 3368 เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 229966 และ 229967 ของจำเลยทั้งสาม จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามก่อสร้างรั้วกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กให้กลับคืนสภาพเดิม หากไม่ดำเนินการขอให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าก่อสร้างรั้วกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นเงิน 60,000 บาท และชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าก่อสร้างพื้นถนนที่ทรุดตัวแตกร้าวเป็นเงิน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินทั้งสองจำนวนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวในที่ดินโฉนดเลขที่ 3368 เลขที่ 151623 เลขที่ 151625 และเลขที่ 151627
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งให้โจทก์ทั้งสองนำแท่งปูนที่ขวางหน้าที่ดินของจำเลยทั้งสามและแท่งปูนพร้อมรถบรรทุกที่ขวางหน้าหมู่บ้านพิบูลย์การ์เด้นวิลล์ออกไป และให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 1,000,000 บาท และอีกวันละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าโจทก์ทั้งสองจะนำแท่งปูนที่ขวางหน้าที่ดินของจำเลยทั้งสามและแท่งปูนพร้อมรถบรรทุกที่ขวางช่องทางเข้าออกบริเวณหมู่บ้านพิบูลย์การ์เด้นวิลล์ออกไป และห้ามมิให้โจทก์ทั้งสองพร้อมบริวารเข้ามายุ่งเกี่ยวกับที่ดินที่อยู่ในการจัดสรรที่ดินของบริษัทประชาราษฎร์ ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ให้โจทก์ทั้งสองชำระเงิน 50,000 บาท แก่จำเลยทั้งสาม กับให้โจทก์ทั้งสองชำระเงินวันละ 500 บาท ให้แก่จำเลยทั้งสาม นับแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ทั้งสองจะนำแท่งปูนออกจากหน้าที่ดินโฉนดเลขที่ 229966 คำขออื่นตามฟ้องแย้งนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสามให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 15,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 กันยายน 2556) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ห้ามจำเลยทั้งสามใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 3368 เลขที่ 151623 เลขที่ 151625 และเลขที่ 151627 เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 229966 และเลขที่ 229967 ของจำเลยทั้งสาม ให้โจทก์ทั้งสองรื้อขนย้ายแท่งปูนเฉพาะที่ขวางกั้นทางสาธารณะกับที่ดินโฉนดเลขที่ 229966 ออก คำขออื่นของโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้โจทก์ทั้งสอง 8,980 บาท และจำเลยทั้งสาม 1,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งในศาลชั้นต้นและค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องและฟ้องแย้งนอกจากที่สั่งคืนในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านรับฟังได้เบื้องต้นว่า เมื่อปี 2534 บริษัทประชาราษฎร์ ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินให้ดำเนินการก่อสร้างหมู่บ้านพิบูลย์การ์เด้นวิลล์จนแล้วเสร็จ จากนั้น เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2534 โจทก์ที่ 2 ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 151623 เลขที่ดิน 229 โฉนดเลขที่ 151625 เลขที่ดิน 227 และโฉนดเลขที่ 151627 เลขที่ดิน 224 จากเจ้าของเดิม และเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2534 บริษัทประชาราษฎร์ ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3368 เลขที่ดิน 205 ให้โจทก์ที่ 2 ที่ดินทั้งสี่แปลงมีลักษณะติดต่อกัน เป็นทางยาวจากถนนพิบูลสงครามซึ่งเป็นถนนสาธารณประโยชน์เพื่อเข้าหมู่บ้านพิบูลย์การ์เด้นวิลล์ และเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2534 โจทก์ที่ 2 จดทะเบียนภาระจำยอมที่ดินโฉนดเลขที่ 151623 เลขที่ดิน 229 โฉนดเลขที่ 151625 เลขที่ดิน 227 และโฉนดเลขที่ 151627 เลขที่ดิน 224 เป็นภารยทรัพย์ตกอยู่ในบังคับภาระจำยอมเรื่องทางเดิน ทางรถ ท่อระบายนํ้า ไฟฟ้า ประปา และสาธารณูปโภคต่าง ๆ แก่บรรดาเจ้าของที่ดินในหมู่บ้านพิบูลย์การ์เด้นวิลล์ ต่อมาวันที่ 12 กรกฎาคม 2534 โจทก์ที่ 2 จดทะเบียนภาระจำยอมที่ดินโฉนดเลขที่ 3368 เลขที่ดิน 205 ตกเป็นภารยทรัพย์เป็นกรณีเดียวกันกับที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าว และเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2535 บริษัทประชาราษฎร์ ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด ทำบันทึกข้อตกลงโอนกรรมสิทธิ์รั้วกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กพิพาทรอบหมู่บ้านพิบูลย์การ์เด้นวิลล์ ให้โจทก์ทั้งสองเพื่อประโยชน์เกี่ยวกับการสาธารณสุข การคมนาคม การจราจร ความปลอดภัยของผู้ซื้อบ้านในโครงการ เนื่องจากโจทก์ที่ 1 เป็นกรรมการบริษัทประชาราษฎร์ ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด ในขณะนั้นด้วย และเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2535 บริษัทประชาราษฎร์ ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด แบ่งหักที่ดินโฉนดเลขที่ 3331 เลขที่ดิน 295 ออกเป็นทางสาธารณประโยชน์เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ โดยมีลักษณะเป็นทางสาธารณะภายในหมู่บ้านพิบูลย์การ์เด้นวิลล์ และเชื่อมต่อกับที่ดินทั้งสี่แปลงของโจทก์ที่ 2 ที่เป็นภารยทรัพย์ โดยมีแนวรั้วกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กพิพาทกั้นโดยตลอด ครั้นวันที่ 22 พฤศจิกายน 2550 จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้พักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านพิบูลย์การ์เด้นวิลล์ ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 229966 เลขที่ดิน 790 และโฉนดเลขที่ 229967 เลขที่ดิน 791 จากนายนันธนะ ซึ่งเป็นที่ดินนอกโครงการหมู่บ้านพิบูลย์การ์เด้นวิลล์ แต่ด้านหลังของที่ดินติดต่อกับด้านหลังของที่ดินหมายเลข 29 และ 30 ของจำเลยทั้งสาม ซึ่งที่ดินทั้งสองแปลงของจำเลยทั้งสามถูกปิดกั้นด้านหน้าที่ดินด้วยรั้วกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กพิพาท หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2550 โจทก์ที่ 1 เข้าเป็นเจ้าของรวมกับโจทก์ที่ 2 ในที่ดินทั้งสี่แปลงที่เป็นภารยทรัพย์ จนกระทั่งในเดือนตุลาคม 2555 จำเลยทั้งสามทุบทำลายรั้วกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กพิพาทกั้นที่ดินโฉนดเลขที่ 229966 เลขที่ดิน 790 ของจำเลยทั้งสามเพื่อออกสู่ทางสาธารณะภายในหมู่บ้านพิบูลย์การ์เด้นวิลล์ โดยได้รับอนุญาตให้ทุบทำลายจากเทศบาลนครนนทบุรี โจทก์ทั้งสองจึงนำแท่งปูนวางขวางกั้นที่ดินโฉนดเลขที่ 229966 เลขที่ดิน 790 กับทางสาธารณะทดแทนรั้วกำแพง และนำแท่งปูนวางขวางกั้นแนวติดต่อระหว่างทางสาธารณะกับภารยทรัพย์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 3368 เลขที่ดิน 205 โดยเปิดช่องทางกว้างพอให้รถยนต์ผ่านเข้าออกเท่านั้น เนื่องจากจำเลยทั้งสามนำรถบรรทุกดินพร้อมทั้งรถเครื่องมือเครื่องจักรในการไถเกลี่ยดินเข้าสู่พื้นที่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 229966 เลขที่ดิน 790 และโฉนดเลขที่ 229967 เลขที่ดิน 791 ของจำเลยทั้งสาม
ประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามมีว่า จำเลยทั้งสามทำละเมิดตามคำฟ้องหรือโจทก์ทั้งสองทำละเมิดตามฟ้องแย้ง ประเด็นนี้ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองยืนยันข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2555 จำเลยทั้งสามกับพวกทุบทำลายรั้วกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กพิพาทและเข้ามาในที่ดินโฉนดเลขที่ 3368 เลขที่ 151623 เลขที่ 151625 และเลขที่ 151627 ของโจทก์ทั้งสองโดยนำรถบรรทุกผ่านเข้าออกเพื่อขนดินไปถมในที่ดินโฉนดเลขที่ 229966 และเลขที่ 229967 ของจำเลยทั้งสาม เป็นเหตุให้พื้นถนนที่ก่อสร้างบนที่ดินดังกล่าวทรุดตัวแตกร้าวและเกิดความเสียหาย จำเลยทั้งสามทุบทำลายรั้วกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กพิพาทซึ่งกั้นที่ดินโฉนดเลขที่ 229966 เลขที่ดิน 790 ของจำเลยทั้งสามเพื่อออกสู่ทางสาธารณะภายในหมู่บ้านพิบูลย์การ์เด้นวิลล์ โดยได้รับอนุญาตให้ทุบทำลายจากเทศบาลนครนนทบุรี ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2555 และเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2556 จำเลยทั้งสามได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารในที่ดินโฉนดเลขที่ 229966 และเลขที่ 229967 ของจำเลยทั้งสาม นอกจากนี้ นายอุดม ประธานหมู่บ้านพิบูลย์การ์เด้นวิลล์ ยื่นฟ้องเทศบาลนครนนทบุรีและจำเลยที่ 1 ต่อศาลปกครองกลางขอให้เพิกถอนใบอนุญาตรื้อถอนอาคาร พร้อมทั้งห้ามมิให้มีการรื้อถอนรั้วกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กพิพาทเพื่อเป็นทางสัญจร ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2555 ว่า คำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนรั้วกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กพิพาทของเทศบาลนครนนทบุรีไม่ปรากฏเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ประการใด และการอนุญาตของเทศบาลนครนนทบุรีย่อมมีผลให้จำเลยที่ 1 สามารถใช้ถนนสาธารณประโยชน์รวมทั้งการนำรถบรรทุกดินเข้าทำการปรับถมดินบริเวณที่ได้รับอนุญาตได้โดยถูกต้องตามสำเนาคำพิพากษาเอกสารแนบท้ายอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสาม เห็นว่า คดีที่นายอุดม ฟ้องนายกเทศมนตรีนครนนทบุรี กับพวกต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนใบอนุญาตรื้อถอนอาคาร เลขที่ 424/2555 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2555 เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครอง ไม่ใช่การฟ้องขอให้เพิกถอนกฎหมาย ย่อมไม่มีผลเป็นการทั่วไปและไม่ผูกพันโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ซึ่งไม่ได้เป็นคู่ความในคดีปกครองดังกล่าว วันที่ 1 กันยายน 2535 บริษัทประชาราษฎร์ ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด โอนกรรมสิทธิ์รั้วกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กรอบหมู่บ้านพิบูลย์การ์เด้นวิลล์ให้โจทก์ทั้งสองเพื่อประโยชน์เกี่ยวกับการสาธารณสุข การคมนาคม การจราจร และความปลอดภัยของผู้ซื้อบ้านในโครงการ ต่อมาวันที่ 14 ตุลาคม 2535 บริษัทประชาราษฎร์ ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด แบ่งหักที่ดินโฉนดเลขที่ 3331 เลขที่ดิน 295 ออกเป็นทางสาธารณประโยชน์ เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ แสดงว่าการโอนกรรมสิทธิ์รั้วกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กพิพาทเกิดขึ้นก่อนการแบ่งหักที่ดินเป็นทางสาธารณประโยชน์ ดังนั้น ขณะบริษัทประชาราษฎร์ ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด แบ่งหักที่ดินเป็นทางสาธารณประโยชน์ บริษัทดังกล่าวไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รั้วกำแพงรอบหมู่บ้าน ซึ่งมีรั้วกำแพงพิพาทเป็นส่วนหนึ่งด้วย รั้วกำแพงรอบหมู่บ้านมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์แก่การคมนาคมและการจราจรเท่านั้น แต่มีไว้เพื่อความปลอดภัยของผู้ซื้อบ้านในโครงการด้วยอันเป็นสาธารณูปโภคตามข้อ 1 ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น โดยผลของประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวตามข้อ 30 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 ทำให้รั้วกำแพงรอบหมู่บ้านรวมทั้งรั้วกำแพงพิพาทตกเป็นภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ผู้ซื้อบ้านในโครงการทั้งหมด ไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินที่รั้วกำแพงตั้งอยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 146 เมื่อบริษัทประชาราษฎร์ ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด ผู้โอนมีเจตนาแยกรั้วกำแพงพิพาทเป็นคนละส่วนกับที่ดินที่ตั้งรั้วกำแพง และรั้วกำแพงพิพาทไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน ไม่ถือเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ตกติดไปกับที่ดิน รั้วกำแพงพิพาทจึงไม่เป็นส่วนหนึ่งของทางสาธารณประโยชน์ แต่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสอง ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจเทศบาลนครนนทบุรีก้าวล่วงกรรมสิทธิ์ส่วนเอกชนอนุญาตให้ผู้ใดพรากกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่น แม้จำเลยทั้งสามเป็นเจ้าของและผู้พักอาศัยที่ดินแปลงที่ 29 และ 30 ในโครงการตามแผนผัง มีสิทธิใช้รั้วกำแพงรอบหมู่บ้านอันเป็นภารยทรัพย์ แต่จำเลยทั้งสามไม่มีสิทธิทำการเปลี่ยนแปลงในภารยทรัพย์ซึ่งทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้น ยิ่งกว่านั้นที่ดินโฉนดเลขที่ 229966 และ 229967 ซึ่งจำเลยทั้งสามซื้อมาภายหลังและอยู่นอกโครงการจึงไม่เป็นสามยทรัพย์ที่จำเลยทั้งสามจะยกขึ้นอ้างสิทธิใด ๆ เหนือรั้วกำแพงพิพาทได้ การกระทำของจำเลยทั้งสามที่ทุบทำลายรั้วกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กพิพาทเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รั้วกำแพงพิพาท แม้เป็นภารยทรัพย์ แต่เมื่อถูกทุบทำลายไปโดยผู้ไม่มีสิทธิ โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธินำแท่งปูนวางแทนรั้วกำแพงพิพาทเพื่อยังประโยชน์การใช้รั้วกำแพงพิพาทให้คงอยู่ดังเดิม การกระทำของโจทก์ทั้งสองส่วนนี้จึงไม่เป็นการละเมิดต่อจำเลยทั้งสาม อย่างไรก็ดี พื้นที่ส่วนที่เป็นทางสาธารณประโยชน์ ผู้ซื้อบ้านในโครงการรวมทั้งจำเลยทั้งสามมีสิทธิใช้สัญจร โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธินำรถบรรทุกและแท่งปูนมาปิดกั้น การกระทำของโจทก์ทั้งสองเฉพาะส่วนนี้เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามส่วนนี้ฟังขึ้นบางส่วน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยทั้งสามต้องก่อสร้างรั้วกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กให้กลับคืนสู่สภาพเดิมหรือไม่ เห็นว่า จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดทุบทำลายรั้วกำแพงพิพาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสอง จึงต้องคืนทรัพย์สินอันโจทก์ทั้งสองต้องเสียไปเพราะละเมิดนั้น หรือชดใช้ราคาทรัพย์สิน โจทก์ทั้งสองชอบที่จะขอให้บังคับจำเลยทั้งสามก่อสร้างรั้วกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กส่วนที่ถูกทุบทำลายไปให้กลับคืนสู่สภาพเดิม หากจำเลยทั้งสามไม่ดำเนินการก็จะต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าก่อสร้างรั้วกำแพงดังกล่าว ซึ่งโจทก์เรียกร้องมา 60,000 บาท นั้น เห็นว่า เป็นค่าเสียหายตามสมควรแก่สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดค่าเสียหายเพียง 15,000 บาท ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ทั้งสองส่วนนี้ฟังขึ้น สำหรับค่าเสียหายเนื่องจากถนนทรุดตัวแตกร้าวนั้น โจทก์ทั้งสองไม่ฎีกาปัญหาดังกล่าว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามต่อไปว่า โจทก์ทั้งสองต้องชดใช้ความเสียหายต่อจำเลยทั้งสามเพียงใด เห็นว่า แม้โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธินำรถบรรทุกและแท่งปูนมาปิดกั้นถนนอันเป็นทางสาธารณประโยชน์ ซึ่งจำเลยทั้งสามอ้างว่าทำให้ไม่สามารถนำรถบรรทุกวัสดุอุปกรณ์เข้าไปยังที่ดินของจำเลยทั้งสามส่วนที่อยู่นอกโครงการได้ อย่างไรก็ดี จำเลยทั้งสามไม่มีสิทธิทุบทำลายรั้วกำแพงพิพาท หากรั้วกำแพงพิพาทไม่ถูกทุบทำลาย จำเลยทั้งสามก็ไม่สามารถนำวัสดุอุปกรณ์ผ่านรั้วกำแพงพิพาทนั่นเอง การกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสามไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ อันจะอ้างต่อโจทก์ทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า การที่จำเลยทั้งสามไม่สามารถนำรถบรรทุกวัสดุอุปกรณ์เข้าไปยังที่ดินของจำเลยทั้งสาม ไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของโจทก์ทั้งสองนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการสุดท้ายว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาห้ามจำเลยทั้งสามใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 3368 เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 229966 และ 229967 ของจำเลยทั้งสามนั้น เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือไม่ เห็นว่า คำฟ้องโจทก์ทั้งสองมีคำขอด้วยว่าห้ามจำเลยทั้งสามและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวในที่ดินโฉนดเลขที่ 3368 คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงมิได้เกินกว่าคำขอท้ายฟ้อง ฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามก่อสร้างรั้วกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กส่วนที่ถูกทุบทำลายให้กลับคืนสู่สภาพเดิม หากไม่ดำเนินการ ให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 กันยายน 2556) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ห้ามจำเลยทั้งสามและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับรั้วกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กที่จะก่อสร้างกลับคืนสู่สภาพเดิมนั้นอีก ห้ามโจทก์ทั้งสองปิดกั้นถนนภายในหมู่บ้านพิบูลย์การ์เด้นวิลล์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 คำขออื่นตามฟ้องและตามฟ้องแย้งนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีการะหว่างโจทก์ทั้งสองและของจำเลยทั้งสามให้เป็นพับ

Share