คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13965/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์กล่าวอ้างข้อเท็จจริงในเรื่องของเหตุหย่า จำเลยให้การปฏิเสธ โจทก์ผู้มีภาระการพิสูจน์จึงมีหน้าที่จะต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบสนับสนุนข้ออ้างของตนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 แต่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้มีการไต่สวนพยานโจทก์จำเลยโดยศาลชั้นต้นเป็นผู้สอบถามโจทก์จำเลยเองทั้งหมด ไม่ได้ให้ทนายโจทก์หรือทนายจำเลยซักถามหรือถามค้านพยาน แล้วก็มีคำสั่งว่า คดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย จากนั้นก็วินิจฉัยคดีตามประเด็นข้อพิพาท สำหรับประเด็นเรื่องฟ้องหย่าก็วินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานเหมือนคดีที่มีการสืบพยานทั่วไป เพียงแต่เป็นพยานหลักฐานที่เกิดจากศาลเป็นผู้ไต่สวนเองและฟังเป็นข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่อุปการะเลี้ยงดูโจทก์เท่าที่ควร แต่เมื่อคดีนี้เป็นคดีมีข้อพิพาท ซึ่งใน ป.วิ.พ. ไม่ได้ให้อำนาจศาลเรียกพยานมาไต่สวนเอง แม้ศาลจะมีอำนาจซักถามพยาน แต่ก็ต้องเป็นพยานที่คู่ความอ้างเข้ามาและศาลต้องให้คู่ความซักถามต่อจากศาล ทั้งข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นไต่สวนก็มิได้สอดคล้องและครบถ้วนตามข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องและประเด็นข้อพิพาท การที่ศาลชั้นต้นไต่สวนพยานโจทก์และพยานจำเลยเองทั้งหมดจึงเป็นการพิจารณาคดีที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
คดีที่ผู้เยาว์มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียอยู่ด้วยในการพิจารณาพิพากษาคดีครอบครัวต้องมีผู้พิพากษาสมทบอีกสองคนซึ่งอย่างน้อยคนหนึ่งต้องเป็นสตรีเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 23 ประกอบมาตรา 147 การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาคดีโดยมีเพียงผู้พิพากษาสองคนเป็นองค์คณะ ไม่มีผู้พิพากษาสมทบอีกสองคนซึ่งอย่างน้อยคนหนึ่งต้องเป็นสตรีเป็นองค์คณะร่วมอยู่ด้วยจึงเป็นการพิจารณาคดีที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ หากไม่ไปให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาการหย่า
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยโดยบรรยายคำฟ้องถึงข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยสร้างหนี้สินในครอบครัว กอบโกยเอาผลประโยชน์ในทรัพย์สินของโจทก์และเบิกถอนเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ไปจนหมดสิ้น มิได้นำเงินดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ในครัวเรือน และมิได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตามสมควร อันเป็นการปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง จำเลยให้การปฏิเสธ ดังนั้น คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า มีเหตุหย่าตามข้ออ้างของโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (6) หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์กล่าวอ้างข้อเท็จจริงในเรื่องของเหตุหย่า จำเลยให้การปฏิเสธ โจทก์ผู้มีภาระการพิสูจน์จึงมีหน้าที่จะต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบสนับสนุนข้ออ้างของตน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84/1 แต่ปรากฏว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้มีการไต่สวนพยานโจทก์จำเลย โดยศาลชั้นต้นเป็นผู้สอบถามโจทก์จำเลยเองทั้งหมด ไม่ได้ให้ทนายโจทก์หรือทนายจำเลยซักถามหรือถามค้านพยาน แล้วก็มีคำสั่งว่า คดีพอวินิจฉัยได้จึงให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย จากนั้นก็วินิจฉัยคดีที่ประเด็นข้อพิพาทรวม 3 ประเด็น สำหรับประเด็นเรื่องฟ้องหย่าก็วินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานเหมือนคดีที่มีการสืบพยานทั่วไป เพียงแต่เป็นพยานหลักฐานที่เกิดจากศาลเป็นผู้ไต่สวนเองและฟังเป็นข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่อุปการะเลี้ยงดูโจทก์เท่าที่ควร เมื่อคดีนี้เป็นคดีมีข้อพิพาท ซึ่งในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไม่ได้ให้อำนาจศาลเรียกพยานมาไต่สวนเองโดยไม่จำต้องให้คู่ความนำพยานหลักฐานเข้าสืบเลยได้ เพราะมีผลเปรียบเสมือนศาลดำเนินการสืบพยานโจทก์จำเลยเองทั้งหมด แม้ศาลจะมีอำนาจซักถามพยาน แต่ก็ต้องเป็นพยานที่คู่ความอ้างเข้ามาและศาลต้องให้คู่ความซักถามต่อจากศาล ทั้งข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นไต่สวนก็มิได้สอดคล้องและครบถ้วนตามข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องและประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี อีกทั้งได้ความจากจำเลยเบิกความตอบศาลถามว่า เมื่อจำเลยจดทะเบียนสมรสกับโจทก์แล้วได้พักอาศัยอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี โดยอยู่กับโจทก์และบุตรอีก 4 คน บุตร 2 คนแรกเป็นบุตรที่ติดจำเลยมา อายุ 23 ปี และ 22 ปี ส่วนบุตรอีก 2 คนเป็นบุตรที่เกิดจากโจทก์ อายุ 18 ปี และ 10 ปี ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นคดีที่ผู้เยาว์มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียอยู่ด้วย ในการพิจารณาพิพากษาคดีครอบครัวจึงต้องมีผู้พิพากษาสมทบอีกสองคนซึ่งอย่างน้อยคนหนึ่งต้องเป็นสตรีเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 23 ประกอบมาตรา 147 การที่ศาลชั้นต้นไต่สวนพยานโจทก์และพยานจำเลยเองทั้งหมด และดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาคดีโดยมีเพียงผู้พิพากษาสองคนเป็นองค์คณะ ไม่มีผู้พิพากษาสมทบอีกสองคนซึ่งอย่างน้อยคนหนึ่งต้องเป็นสตรีเป็นองค์คณะร่วมอยู่ด้วยจึงเป็นการพิจารณาคดีที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 อันเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ จึงเห็นสมควรเพิกถอนกระบวนพิจารณาไต่สวนพยานของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นทำการสืบพยานโจทก์จำเลยใหม่ให้สิ้นกระแสความโดยให้มีผู้พิพากษาสมทบอีกสองคนซึ่งอย่างน้อยคนหนึ่งต้องเป็นสตรีเป็นองค์คณะร่วมพิจารณา แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์อีกต่อไป
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 และคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยใหม่ให้สิ้นกระแสความโดยให้มีผู้พิพากษาสมทบอีกสองคนซึ่งอย่างน้อยคนหนึ่งต้องเป็นสตรีเป็นองค์คณะร่วมพิจารณา แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมให้ศาลชั้นต้นสั่งเมื่อมีคำพิพากษา

Share