คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10757/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญากู้ยืมเงินเป็นแบบฟอร์มหนังสือสัญญากู้ยืมเงินของสมาคมกลุ่มออมทรัพย์ และโจทก์ลงลายมือชื่อในช่องประธานคณะกรรมการอำนวยการ (ผู้ให้กู้ยืม) แสดงให้เห็นว่าเงินที่กู้ยืมกันไม่ใช่เงินส่วนตัวของโจทก์ เมื่อโจทก์เป็นผู้ดูแลรักษาเงินที่สมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ฝากไว้เพราะโจทก์มีฐานะเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการหรือประธานที่ปรึกษากลุ่มออมทรัพย์ โจทก์จึงเข้าครอบครองเงินนั้นมีหน้าที่ส่งคืนเงินจำนวนเดียวกันกับที่กลุ่มออมทรัพย์รับฝากไว้แก่ผู้ฝากให้ครบจำนวน เมื่อโจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินที่รับฝากนี้แม้ไม่ใช่ของโจทก์ไป โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยผู้กู้ยืมชำระเงินคืนได้โดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากผู้ใดก่อนเพราะเป็นการฟ้องคดีโดยอาศัยสิทธิของตนเองตามสัญญากู้ยืม ถือเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โดยตรง แม้ ก. กู้ยืมเงินโจทก์นำมาใช้เพื่อกิจการของศูนย์สาธิตการตลาดของหมู่บ้านซึ่ง ก. เป็นประธานศูนย์มิใช่การกู้ยืมเงินเพื่อประโยชน์ส่วนตัวก็ตาม ศูนย์สาธิตการตลาดไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่อาจรับผิดทางแพ่งต่อผู้ใดตามกฎหมายได้ ดังนี้ ผู้กู้ยืมต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเป็นส่วนตัว โจทก์มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 121,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 59,365 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 59,365 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 มกราคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 28 ตุลาคม 2547) ไม่เกิน 62,135 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมให้โจทก์หรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า โจทก์เป็นผู้ใหญ่บ้านตำบลนาหว้า เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการหรือประธานที่ปรึกษากลุ่มออมทรัพย์บ้านประจ่า นายเกลิ้ม ประธานกลุ่มออมทรัพย์ดังกล่าวซึ่งมีสมาชิกประมาณ 400 ราย นำเงินฝากกับกลุ่มออมทรัพย์โดยโจทก์เป็นผู้ดูแลเงินฝากนายเกลิ้มยังมีตำแหน่งเป็นประธานศูนย์สาธิตเพื่อการตลาดด้วย เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2537 นายเกลิ้มขอกู้ยืมเงินจากกลุ่มออมทรัพย์ 68,015 บาท นำมาใช้จ่ายสำหรับศูนย์สาธิตเพื่อการตลาด โจทก์ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเป็นผู้ให้กู้ยืม ส่วนนายเกลิ้มลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ยืม ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 นายเกลิ้มผ่อนชำระหนี้เรื่อยมา ต่อมาจำเลยดำรงตำแหน่งประธานศูนย์สาธิตต่อจากนายเกลิ้ม จึงทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ เท่ากับยอดหนี้ที่นายเกลิ้มยังคงค้างชำระเป็นเงิน 59,365 บาท ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.2 ศาลฎีกาเห็นว่า แม้สัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ระบุว่าเป็นแบบฟอร์มหนังสือสัญญากู้ยืมเงินของสมาคมกลุ่มออมทรัพย์ และโจทก์ลงลายมือชื่อในช่องประธานคณะกรรมการอำนวยการ (ผู้ให้กู้ยืม) แสดงให้เห็นว่าเงินที่กู้ยืมกันนั้นไม่ใช่เงินส่วนตัวของโจทก์ก็ตาม เมื่อโจทก์เป็นผู้ดูแลรักษาเงินที่สมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ฝากไว้เพราะโจทก์มีฐานะเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการหรือประธานที่ปรึกษากลุ่มออมทรัพย์ โจทก์จึงเข้าครอบครองเงินนั้น โดยมีหน้าที่ส่งคืนเงินจำนวนเดียวกันกับที่กลุ่มออมทรัพย์รับฝากไว้แก่ผู้ฝากให้ครบจำนวน เมื่อโจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินที่รับฝากนี้แม้ไม่ใช่ของโจทก์ไป โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยซึ่งเป็นผู้กู้ยืมชำระเงินยืมคืนได้โดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากผู้ใดเสียก่อน เพราะเป็นการฟ้องคดีโดยอาศัยสิทธิของตนเองตามสัญญากู้ยืมซึ่งมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อผู้ฝากเงินไว้ที่กลุ่มออมทรัพย์ ที่จะบังคับให้ผู้กู้ยืมซึ่งสมัครใจเข้าทำสัญญาผูกพันกับโจทก์ให้รับผิดได้ ถือเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์เองโดยตรง แม้นายเกลิ้ม กู้ยืมเงินโจทก์นำมาใช้เพื่อกิจการของศูนย์สาธิตการตลาดของหมู่บ้านซึ่งนายเกลิ้มเป็นประธานศูนย์ มิใช่การกู้ยืมเงินเพื่อประโยชน์ส่วนตัวก็ตาม ศูนย์สาธิตการตลาดไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลจึงไม่อาจรับผิดทางแพ่งต่อผู้ใดตามกฎหมายได้ ดังนี้ผู้กู้ยืมจึงต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมที่ทำไว้ต่อโจทก์เป็นส่วนตัว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share