คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1089/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ไปยึดทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ฯ จำเลยที่ 1 ในคดีเดิม แล้วมอบให้จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ในคดีเดิมเป็นผู้รักษาทรัพย์ เมื่อศาลมีคำสั่งให้ขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึด ปรากฏว่าทรัพย์บางรายมีสภาพชำรุด ทำให้เสื่อมราคา ดังนี้ หากจำเลยที่ 1 กระทำการใด ๆ แก่ทรัพย์ที่ยึดใช้เสียหาย ผู้ที่เสียหายย่อมได้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีและโจทก์ในคดีเดิม โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีเดิมในฐานะผู้ค้ำประกันและเป็นผู้นำยึดทรัพย์จะต้องรับผิดใช้หนี้มากน้อยเพียงใด ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอากับจำเลยที่ 1 ในคดีเดิมได้ตามกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ผู้รักษาทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 187

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่า คดีนี้สืบเนื่องมาจากธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ จำกัด ได้เป็นโจทก์ฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดหนองคายเซอร์วิสเป็นจำเลยที่ ๑ และโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลยที่ ๒ ต่อมามีการบังคับคดีโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ยึดทรัพย์จำเลยที่ ๑ เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ในคดีเดิม โดยโจทก์เป็นผู้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์ และให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ในคดีนี้เป็นผู้ดูแลรักษาทรัพย์ที่ยึด ต่อมาจำเลยร่วมกันทำลายตู้เย็นและเครื่องรับโทรทัศน์ซึ่งเป็นทรัพย์ที่ถูกยึด ทำให้เสื่อมราคาและไร่ประโยชน์ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้การเป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันและเป็นผู้นำยึดทรัพย์ได้รับความเสียหาย โดยขายทอดตลาดตู้เย็นได้ในราคาต่ำกว่าราคาที่แท้จริง ส่วนเครื่องรับโทรทัศน์ขายไม่ได้ เป็นเหตุให้โจทก์ต้องรับชำระหนี้ให้แก่โจทก์ในคดีเดิมเพิ่มขึ้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๓, ๘๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา
จำเลยให้การและแก้คำให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิด และความผิดตามมาตรา ๑๘๗ เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานยึดทรัพย์จะฟ้องร้องเอากับผู้รักษาทรัพย์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๗ ให้จำคุก ๒ เดือน ปรับ ๒,๐๐๐ บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด ๑ ปี ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ โดยไม่รอการลงโทษ
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๑ นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาว่าโจทก์เป็นผู้เสียมีอำนาจฟ้อง
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ จำกัด สาขาหนองคาย เป็นโจทก์ฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดหนองคายเซอร์วิส โดยจำเลยที่ ๑ ในคดีนี้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นจำเลยที่ ๑ และโจทก์ในคดีนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันเป็นจำเลยที่ ๒ ให้พ้นผิดชำระเงินกู้ตามสัญญากู้เงินเบิกเกินบัญชี แล้วโจทก์กับจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า จำเลยที่ ๑ ยอมชำระเงินให้แก่ธนาคาร โจทก์ในคดีนี้ยอมเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ ๑ ต่อธนาคาร ต่อมาจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระเงินตามสัญญา โจทก์ในคดีเดิมขอบังคับคดียึดทรัพย์จำเลยที่ ๒ โจทก์ในคดีนี้จึงขอให้ยึดทรัพย์ของจำเลยที่ ๑ ก่อน ศาลอนุญาต และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ไปยึดทรัพย์จำเลยที่ ๑ แล้ว และให้จำเลยที่ ๑ ในคดีนี้เป็นผู้รักษาทรัพย์ เมื่อศาลมีคำสั่งให้ขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดปรากฏว่าตู้เย็นและเครื่องรับโทรทัศน์มีสภาพชำรุดหลายประการ ทำให้เสื่อมราคา
ปัญหามีว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์ของจำเลยที่ ๑ ในคดีก่อนไว้แล้ว และได้มอบให้จำเลยที่ ๑ ในคดีนี้เป็นผู้รักษาทรัพย์ที่ยึด หากจำเลยที่ ๑ กระทำการใด ๆ แก่ทรัพย์ที่ยึดให้เสียหายตามฟ้อง ผู้ที่เสียหายย่อมได้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีและธนาคาร ฯ โจทก์เจ้าหนี้ในคดีเดิม หากโจทก์จะต้องรับผิดใช้หนี้มากน้อยเพียงใด โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันก็ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอากับห้างหุ้นส่วนจำกัดหนองคายเซอร์วิสได้ตามกฎหมาย กรณีดังกล่าวฟังได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำของจำเลยผู้รักษาทรัพย์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๔) จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ผู้รักษาทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๗
พิพากษายืน

Share