คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6509/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายทั้งสองซึ่งเป็นหญิงออกจากงานเลี้ยงจะกลับบ้านให้จำเลยขับรถไปส่งบ้าน จำเลยตกลงรับไปส่งแต่จำเลยกลับขับรถพาผู้เสียหายทั้งสองไปกระทำอนาจารที่กระท่อมกลางทุ่งนา แม้จะพาไปในคราวเดียวกันแต่ก็เป็นการกระทำต่อผู้เสียหายแต่ละคนโดยเฉพาะโดยเจตนาจะให้เกิดผลต่างกรรมกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน แม้คู่ความมิได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้แต่การปรับบทลงโทษจำเลยเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาพิพากษาแก้ไขให้ถูกต้องโดยลงโทษเท่าเดิมได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม 2532 เวลากลางคืนหลังเที่ยงถึงวันที่ 28 ตุลาคม 2532 เวลากลางวันต่อเนื่องติดต่อกันทั้งเวลากลางวันและกลางคืน จำเลยกับพวกอีก 1 คนร่วมกันพรากนางสาวนิตยา รัตนพล ผู้เสียหายที่ 1 อายุ 15 ปีเศษและเด็กหญิงปราณี ทองศรีนุช อายุ 14 ปีเศษ ผู้เสียหายที่ 2ซึ่งเป็นผู้เยาว์อายุกว่า 13 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ไปเสียจากนายสวัสดิ์ นางละเมียด รัตนพล บิดามารดาผู้เสียหายที่ 1และนางบุญเกื้อ รัตนพันธ์ มารดาผู้เสียหายที่ 2 โดยผู้เสียหายทั้งสองไม่เต็มใจไปด้วยเพื่อการอนาจารแล้วจำเลยใช้กำลังประทุษร้ายกอดปล้ำกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 1 โดยผู้เสียหายที่ 1ไม่ยินยอมและอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้และจำเลยกับพวกร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังโดยร่วมกันพาผู้เสียหายทั้งสองไปเพื่อการอนาจารและกระทำอนาจารเพื่อให้ผู้เสียหายทั้งสองปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 278, 310, 318, 319
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 317 วรรคสาม ให้จำคุก 4 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคแรก, 83 ให้จำคุก 2 ปีนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ผู้เสียหายทั้งสองออกจากงานเลี้ยงจะกลับบ้าน ให้จำเลยขับรถไปส่งบ้าน จำเลยตกลงรับไปส่งแต่จำเลยกับพวกกลับขับรถพาผู้เสียหายทั้งสองไปกระทำอนาจารที่กระท่อมกลางทุ่งนา ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นหญิงสาว พฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยไม่สมควรที่จะรอการลงโทษ และการที่จำเลยกับพวกพาผู้เสียหายทั้งสองไปกระทำอนาจารนั้นแม้จะพาไปในคราวเดียวกันแต่ก็เป็นการกระทำต่อผู้เสียหายแต่ละคนโดยเฉพาะโดยเจตนาจะให้เกิดผลต่างกรรมกันการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน แม้คู่ความมิได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ แต่การปรับบทลงโทษจำเลยเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องโดยลงโทษเท่าเดิมได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 319 วรรคแรก, 83 รวม 2 กระทง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share