แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 119 วรรคแรกไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการส่งคำคู่ความหรือเอกสารไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 73 ทวิและ 76 มาใช้โดยอนุโลมตามมาตรา 153 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 ป. ลูกจ้างของผู้ร้องซึ่งอยู่ที่สำนักทำการงานของผู้ร้องมีอายุเกิน 20 ปี ได้รับหนังสือทวงหนี้จากผู้คัดค้านไว้เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2531 ตามใบไปรษณีย์ตอบรับ ซึ่งถือได้ว่ามีการส่งหนังสือทวงหนี้ให้แก่ผู้ร้องโดยชอบแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 73 ทวิ,76แต่อย่างไรก็ยังถือเป็นเด็ดขาดไม่ได้ว่าผู้ร้องได้รับหนังสือทวงหนี้จากผู้คัดค้านในวันที่ส่งนั้น ผู้ร้องอาจนำสืบความจริงว่า ตนได้รับเมื่อใด เพื่อเป็นข้อพิสูจน์ว่าตนได้ตอบปฏิเสธหนี้ผู้คัดค้านภายในกำหนด
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านได้ยื่นคำขอต่อศาลว่า ผู้ร้องเป็นหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วเงินต้องชำระเงิน พร้อมดอกเบี้ยและอ้างว่าผู้ร้องมิได้ปฏิเสธหนี้ภายในกำหนดเวลา ซึ่งข้ออ้างดังกล่าวไม่เป็นความจริง กล่าวคือผู้ร้องได้ยื่นหนังสือปฏิเสธหนี้แล้วภายในกำหนด 14 วัน นับแต่ผู้ร้องได้รับแจ้งความจากผู้คัดค้านถูกต้องตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 119 แล้วขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำบังคับและให้ผู้คัดค้านทำการสอบสวนหนี้ตามที่ผู้ร้องปฏิเสธไว้ตามมาตรา 119 ต่อปี
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านมีหนังสือทวงหนี้ไปยังผู้ร้อง ผู้ร้องได้รับหนังสือทวงหนี้ดังกล่าวทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2531 และได้มีหนังสือปฏิเสธหนี้ต่อผู้คัดค้าน เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2532 เป็นการปฏิเสธหนี้เมื่อพ้นกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่ได้รับหนังสือทวงหนี้ถือว่าผู้ร้องเป็นหนี้กองทรัพย์สินลูกหนี้ ตามจำนวนที่ผู้คัดค้านแจ้งไปเป็นการเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 119 เมื่อผู้ร้องไม่ชำระหนี้ผู้คัดค้านจึงชอบที่จะขอต่อศาลให้ออกคำบังคับให้ผู้ร้องชำระหนี้ได้ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 119 วรรคแรก ไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการส่งคำคู่ความหรือเอกสารไว้โดยเฉพาะ พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 153 ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม จึงต้องพิจารณาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 73 ทวิ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านางปรียานุชลูกจ้างของผู้ร้องซึ่งอยู่ที่สำนักทำการงานของผู้ร้อง มีอายุเกิน 20 ปี ได้รับหนังสือทวงหนี้จากผู้คัดค้านไว้เมื่อวันที่23 ธันวาคม 2531 ตามใบไปรษณีย์ตอบรับเอกสารหมาย ค.2ซึ่งถือได้ว่ามีการส่งหนังสือทวงหนี้ให้แก่ผู้ร้องโดยชอบแล้วแต่ก็ยังถือเป็นเด็ดขาดไม่ได้ว่าผู้ร้องได้รับหนังสือทวงหนี้ในวันที่ถือว่าได้มีการส่งหนังสือทวงหนี้จากผู้คัดค้านผู้ร้องอาจนำสืบความจริงว่า ตนได้รับเมื่อใดเพื่อเป็นข้อพิสูจน์ว่าตนได้ตอบปฏิเสธหนี้ต่อผู้คัดค้านภายในกำหนด ซึ่งนายพิสิษฐ์หุ้นส่วนผู้จัดการของผู้ร้องนำสืบได้ความว่า เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม2531 นายพิสิษฐ์ได้โทรศัพท์มาจากจังหวัดลำปาง และได้ทราบจากนางปรียานุชว่ามีหนังสือทวงหนี้มายังผู้ร้อง แต่นางปรียานุชกลับเบิกความว่า นางปรียานุชไม่ได้เปิดดูหนังสือทวงหนี้ที่ผู้คัดค้านส่งมาให้ผู้ร้อง เมื่อนายพิสิษฐ์กลับมาจากจังหวัดลำปางประมาณวันที่ 27 ธันวาคม 2531 จึงมอบหนังสือดังกล่าวให้นายพิสิษฐ์ไปคำเบิกความของนายพิสิษฐ์ขัดกับคำเบิกความของนางปรียานุช และมีข้อพิรุธพฤติการณ์น่าเชื่อว่านายพิสิษฐ์อยู่ ณ สำนักทำการงานของผู้ร้องในวันที่ 23 ธันวาคม 2531และทราบข้อความในหนังสือทวงหนี้ของผู้คัดค้าน ดังนี้ผู้ร้องชอบที่จะปฏิเสธหนี้ต่อผู้คัดค้านภายใน 14 วัน ซึ่งจะครบกำหนด14 วันในวันที่ 6 มกราคม 2532 เมื่อผู้ร้องทำหนังสือปฏิเสธหนี้ถึงผู้คัดค้านวันที่ 9 มกราคม 2532 จึงเกิดกำหนด 14 วันต้องถือว่าผู้ร้องเป็นหนี้กองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามจำนวนที่ผู้คัดค้านแจ้งไปเป็นการเด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 119 วรรคแรก
พิพากษายืน