คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1076/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การวินิจฉัยว่ามีเจตนาฆ่าหรือไม่นั้น ต้องพิเคราะห์ถึงการกระทำของจำเลยอาวุธที่ใช้ บาดแผลที่ผู้ตายได้รับตลอดถึงพฤติการณ์อื่น ประกอบกัน ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจำเลยที่ 1 มีโอกาสเลือกแทงที่สำคัญได้ แต่ได้แทงผู้ตายที่แขนเพียงทีเดียวแล้วเลยไปมิได้ซ้ำเติม หากแต่ด้วยความแรงเป็นเหตุให้คมมีดตัดเส้นโลหิตใหญ่ทะลุเข้าชายโครงถึงแก่ความตายเพราะโลหิตออกมาก ยังไม่พอชี้ขาดว่าจำเลยมีเจตนาฆ่า จำเลยคงมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นถึงตายโดยไม่เจตนา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1, 2, 3 ฝ่ายหนึ่งกับจำเลยที่ 4, 5, 6 และนายผล สรรพานิช ฝ่ายหนึ่งได้สมัครใจต่อสู้ทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บและถึงตาย ทั้งนี้ โดยจำเลยที่ 1 ด้วยเจตนาฆ่า ได้ใช้มีดแทงนายผลจนถึงแก่ความตาย และจำเลยที่ 4 และ 5 ได้รับบาดเจ็บ จำเลยที่ 2 ใช้มีดแทงทำร้ายจำเลยที่ 4, 6 และนายเล็ก อ่วมเกตุ ได้รับบาดเจ็บ จำเลยที่ 4 ใช้อาวุธปืนยิงจำเลยที่ 2 หนึ่งนัดโดยเจตนาฆ่าแต่ไม่บรรลุผล โดยกระสุนปืนไม่ถูกอวัยวะส่วนสำคัญ จำเลยที่ 5 ใช้มีดแทงจำเลยที่ 1, 2 และจำเลยที่ 6 ใช้ขวานฟันทำร้ายจำเลยที่ 2 ได้รับบาดเจ็บ ส่วนจำเลยที่ 3 ได้เข้าร่วมชุลมุนต่อสู้อันเป็นเหตุให้นายผลตาย และจำเลยทั้งหมดได้รับบาดเจ็บขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 294, 295, 80, 83 และริบของกลาง

จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 295, 294, 83 ให้ลงโทษตามมาตรา 288 ซึ่งเป็นกระทงหนัก โดยให้จำคุกไว้ 15 ปี คำรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ ลดให้หนึ่งในสามคงจำคุกไว้ 10 ปี ริบของกลางจำเลยที่ 2 มีความผิดตามมาตรา 295, 294, 83 ให้จำคุก 1 ปีและจำเลยที่ 4 ตามมาตรา 294 ให้จำคุก 10 เดือน ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3, 5 และ 6

จำเลยที่ 1 ผู้เดียวอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานทำร้ายนายผลถึงตายโดยไม่มีเจตนาฆ่า พิพากษาแก้ว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290, 295 แต่ให้ลงโทษตามมาตรา 290ซึ่งเป็นกระทงหนักที่สุดให้จำคุกไว้ 8 ปี คำให้การจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้ 3 ปี คงให้จำคุกไว้ 5 ปีนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานฆ่าผู้ตายโดยเจตนา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในการวินิจฉัยว่ามีเจตนาฆ่าหรือไม่นั้นต้องพิเคราะห์การกระทำของจำเลย อาวุธที่ใช้ บาดแผลที่ผู้ตายได้รับและพฤติการณ์อื่นประกอบกันเพื่อหยั่งถึงเจตนาดังกล่าว ตามข้อเท็จจริงที่ฟังได้ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 แทงด้วยมีดปลายแหลมยาวคืบเศษที่แขนผู้ตายเพียงทีเดียว แล้วเลยไปมิได้ซ้ำเติม ซึ่งจำเลยมีโอกาสเลือกแทงผู้ตายในที่สำคัญได้ การแทงที่แขนตามปกติไม่น่าจะกระทำให้ถึงตาย หากเป็นเพราะจำเลยแทงโดยแรงจนมีดตัดเส้นโลหิตใหญ่ทะลุเข้าชายโครง ถึงแก่ความตายเพราะโลหิตออกมากข้อเท็จจริงเหล่านี้ยังไม่พอชี้ขาดว่าจำเลยมีเจตนาฆ่า

พิพากษายืน

Share