คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 559/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

น. เป็นผู้ซื้อที่ดิน และต่อมา น. ตกลงยินยอมให้ ม. และ ว. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมโดยได้รับค่าตอบแทน ต้องถือว่าเป็นการขายตามความในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากรฯ น. จึงเป็นผู้มีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 40(8) และเป็นเงินได้ในปีนั้น ซึ่งขณะนั้นโจทก์ยังเป็นสามี น. และอยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี เงินได้ดังกล่าวของ น. ก็ต้องถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ตามมาตรา 57 ตรี ไม่ว่าเงินนั้นจะเป็นสินส่วนตัวหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์สมรสกับนางนพวรรณ เศรษฐสมภพ เมื่อวันที่ 3 เมษายน2529 และได้จดทะเบียนหย่ากันเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2536 ต่อมาเมื่อปี 2543 เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ทำการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อโจทก์สำหรับเงินได้ของปี 2533 โดยอ้างว่าโจทก์มิได้นำเงินได้ที่นางนพวรรณได้รับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ในทางการค้าหรือหากำไรไปยื่นแบบรายการภาษี เป็นการยื่นแบบรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้อง โจทก์ต้องเสียภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม โจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินภาษีดังกล่าว แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ลดเบี้ยปรับ การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์

จำเลยให้การว่า การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เนื่องจากระหว่างวันที่ 3 เมษายน 2529 ถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2536 โจทก์และนางนพวรรณเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2532 นางนพวรรณได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 1502 จากนางมาลัย ชูเพชร์ นาวาตรีวิโรจน์ ชูเพชร์ นาวาอากาศตรีกำพลชูเพชร์ นายอนันต์ ชูเพชร์ และพันจ่าอากาศเอกสถาพร ชูเพชร์ ในราคา 4,200,000บาท และซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 125917 จากนางสาววรรณี เลศะวณิช ในราคา 2,100,000บาท และได้ครอบครองที่ดินทั้งสองโฉนดตลอดมาโดยไม่ปรากฏว่าถือกรรมสิทธิ์แทนผู้ใด ต่อมาวันที่ 17 เมษายน 2533 นางนพวรรณได้ทำนิติกรรมให้นายชาตรี นายมณเฑียรและนายวิชาถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว โดยนางนพวรรณได้รับค่าตอบแทนรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,738,750 บาท เมื่อโจทก์เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางนพวรรณและอยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี 2533 เงินได้พึงประเมินของนางนพวรรณดังกล่าวจึงถือเป็นเงินได้ของโจทก์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี โจทก์มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษี การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 1 ว่า นางนพวรรณมีเงินได้จากการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1502 และ 125917หรือไม่ ได้ความจากโจทก์ นางสรินญา (นางนพวรรณ) และนายวิชา พยานโจทก์เบิกความว่า เมื่อปลายปี 2528 นางนพวรรณได้จองซื้อที่ดินไว้ 2 แปลง แปลงที่ 1เนื้อที่ 1 ไร่ แปลงที่ 2 เนื้อที่ 2 ไร่ จากกลุ่มนายหน้าโดยนางนพวรรณผ่อนชำระค่าซื้อที่ดินให้แก่กลุ่มนายหน้าจนถึงวันที่ 12 ธันวาคม 2532 กลุ่มนายหน้าให้นางนพวรรณรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงไว้ทั้งหมดซึ่งมีเนื้อที่ 4 ไร่เศษ เหตุที่นางนพวรรณยอมถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแทนเนื่องจากกลุ่มนายหน้าบอกว่าลูกค้ามีปัญหานางนพวรรณเห็นว่าตนไม่เสียหายแต่อย่างใด ต่อมาวันที่ 5 เมษายน 2533 กลุ่มนายหน้าได้ทำหนังสือขึ้นฉบับหนึ่งเพื่อเป็นการยืนยันว่านางนพวรรณได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแทนนายชาตรี นายมณเฑียรและนายวิชา ซึ่งนางนพวรรณก็ได้ลงนามไว้ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 10 ครั้นวันที่ 17 เมษายน 2533 นางนพวรรณจึงโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่ถือแทนไว้คืนแก่นายชาตรี นายมณเฑียรและนายวิชาโดยมีการทำบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมไว้ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 7เห็นว่า นางนพวรรณกับกลุ่มนายหน้า นายชาตรี นายมณเฑียรและนายวิชาต่างไม่เคยรู้จักกันมาก่อนย่อมไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็นแต่ประการใดที่เจ้าของที่ดินหรือกลุ่มนายหน้าจะยอมโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินใส่ชื่อนางนพวรรณเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวทั้ง ๆ ที่ยังอ้างว่านายชาตรี นายมณเฑียรและนายวิชา ผู้ซื้ออีก 3 คน ยังมีปัญหาเรื่องการเงินคือยังชำระเงินค่าซื้อที่ดินไม่ครบตามที่ตกลงกัน ซึ่งนายวิชาพยานโจทก์เบิกความว่า พยานจะต้องจ่ายเงินงวดสุดท้ายอีกประมาณสี่ล้านถึงห้าล้านบาท แต่ยังไม่มีเงินพอขอผัดผ่อนไปชำระต้นปี 2533 ดังนี้ เมื่อเจ้าของที่ดินหรือนายหน้าเห็นแล้วว่านายชาตรี นายมณเฑียรและนายวิชาชำระราคาไม่ครบถ้วน จึงไม่ยอมจดทะเบียนโอนขายเพราะถ้าหากจดทะเบียนโอนขายแก่นายชาตรี นายมณเฑียรและนายวิชาไปแล้ว อาจมีปัญหาไม่ได้รับชำระราคาครบถ้วน เมื่อกลุ่มนายหน้าเกรงว่าจะไม่ได้รับชำระราคาจากนายชาตรี นายมณเฑียรและนายวิชาเช่นนี้แล้ว ก็ควรที่กลุ่มนายหน้าจะรับโอนกรรมสิทธิไว้เสียเอง มิใช่เสี่ยงให้เจ้าของที่ดินโอนกรรมสิทธิ์ใส่ชื่อนางนพวรรณเป็นผู้ซื้อแต่เพียงผู้เดียว กรณีเช่นนี้ย่อมเป็นการผิดปกติวิสัยของกลุ่มนายหน้าที่จะกระทำการให้ตนเองเสียเปรียบ และเมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ที่นางนพวรรณทำบันทึกข้อตกลงกรรมสิทธิ์รวมที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางเขนในวันที่ 17 เมษายน 2533 โดยให้นายชาตรี นายมณเฑียรและนายวิชาถือกรรมสิทธิ์รวมคนละ 449.25 ส่วนใน 1,797 ส่วน ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 7ก็ปรากฏว่านางนพวรรณเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินการในการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์รวมและต่อมาวันที่ 24 ตุลาคม 2533 นางนพวรรณ นายชาตรี นายมณเฑียรและนายวิชาได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่บริษัทการบินไทย จำกัด ในราคา118,602,000 บาท ก็ปรากฏว่านางนพวรรณเป็นคนหนึ่งที่ได้รับมอบอำนาจจากนายชาตรีนายมณเฑียร และนายวิชาให้เป็นผู้ดำเนินการจดทะเบียนโอนขาย ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 8 จากพฤติการณ์การกระทำของนางนพวรรณดังกล่าวจะเห็นได้ว่านางนพวรรณเป็นผู้ดำเนินการและเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ดินทั้งสองแปลงมาตั้งแต่แรกจนกระทั่งขายให้แก่บริษัทการบินไทย จำกัด ดังนั้น การที่ผู้ขายจดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1502 และ 125917 ทั้งสองแปลงแก่นางนพวรรณในลักษณะเช่นนี้แสดงให้เห็นชัดว่านางนพวรรณเป็นผู้ซื้อ หาใช่ว่านางนพวรรณเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์บางส่วนแทนนายชาตรี นายมณเฑียรและนายวิชา ดังที่โจทก์อ้างไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านางนพวรรณเป็นผู้ซื้อที่ดินในวันที่ 12 ธันวาคม 2532 ต่อมาวันที่ 17 เมษายน2533 นางนพวรรณได้ตกลงยินยอมให้นายชาตรี นายมณเฑียรและนายวิชาเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมจำนวนคนละ 449.25 ส่วน ราคาตารางวาละ 5,000 บาท ในจำนวน1,797 ส่วน นายชาตรี นายมณเฑียรและนายวิชาให้ค่าตอบแทนแก่นางนพวรรณเป็นจำนวนเงิน 6,738,750 บาท ตามบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม เอกสารหมาย จ.1แผ่นที่ 7 ครั้นวันที่ 24 ตุลาคม 2533 นางนพวรรณ นายชาตรี นายมณเฑียรและนายวิชาได้ขายที่ดินดังกล่าวทั้งหมดแก่บริษัทการบินไทย จำกัด ในราคาสูงถึง 118,602,000 บาทฉะนั้น การที่นางนพวรรณจดทะเบียนกรรมสิทธิ์รวมให้นายชาตรี นายมณเฑียรและนายวิชาเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมคนละ 449.25 ส่วนใน 1,797 ส่วน โดยได้รับค่าตอบแทนจำนวน 6,738,750 บาท ต้องถือว่าเป็นการขายตามความในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว นางนพวรรณจึงเป็นผู้มีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นเงินได้ในปี 2533 ซึ่งขณะนั้นโจทก์ยังเป็นสามีนางนพวรรณและอยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี เงินได้ดังกล่าวของนางนพวรรณก็ต้องถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ตามมาตรา 57 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรไม่ว่าเงินนั้นจะเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรส

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อต่อไปว่า จำเลยมีอำนาจออกหมายเรียกและประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปยังโจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ได้ยื่นแบบรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.91) เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2534 โดยไม่ได้นำเงินได้จำนวน 6,738,750 บาท ของนางนพวรรณที่ได้จากการขายที่ดินดังกล่าวมาแสดงไว้ในแบบรายการภาษี ทั้ง ๆ ที่โจทก์มีหน้าที่ต้องยื่นตามมาตรา 57 ตรีแห่งประมวลรัษฎากร เมื่อโจทก์ไม่ยื่นรายการภาษีตามแบบให้ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยมีอำนาจออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนได้ภายใน 2 ปีได้ แต่ต้องไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร นางสาวกิ่งกาญจน์คุณสุทธิ์ พยานจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี 6 ของจำเลยเบิกความว่า ได้มีการขออนุมัติให้ขยายเวลาออกหมายเรียกจากอธิบดีตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 122ซึ่งอธิบดีได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการกองบริหารงานตรวจภาษีอากรเป็นผู้อนุมัติ ตามคำสั่งกรมสรรพากร เอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 114 และผู้ที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีก็ได้อนุมัติให้ขยายเวลาออกหมายเรียกได้ตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 118 ในวันที่ 26มกราคม 2538 เจ้าพนักงานประเมินได้ส่งหมายเรียกตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 120ส่งให้โจทก์ ซึ่งโจทก์ได้รับหมายเรียกดังกล่าวแล้วตามไปรษณีย์ตอบรับเอกสารหมาย ล.2แผ่นที่ 116 ส่วนโจทก์เบิกความว่า ได้รับหมายเรียกตามประมวลรัษฎากรดังกล่าวเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2538 โดยมิได้นำสืบว่าอธิบดีมิได้อนุมัติให้ออกหมายเรียกแต่ประการใด ฉะนั้น เมื่อจำเลยมีทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารประกอบ ส่วนโจทก์มิได้นำสืบปฏิเสธในส่วนนี้ ทำให้พยานจำเลยมีน้ำหนักและเหตุผลเพียงพอที่จะให้รับฟังได้ว่าเจ้าพนักงานประเมินได้ขออนุมัติอธิบดีออกหมายเรียกโจทก์ซึ่งอธิบดีก็ได้อนุมัติแล้วเจ้าพนักงานจึงออกหมายเรียกโจทก์เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2538 จึงยังไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันที่ 28 มีนาคม 2534 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้ยื่นรายกาตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร ฉะนั้น การออกหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงเป็นการออกหมายเรียกที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อเจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบพยานหลักฐานต่าง ๆ แล้วเห็นว่านางนพวรรณภริยาโจทก์มีเงินได้จากการขายที่ดินจำนวน 6,738,750 บาท ซึ่งเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากรแต่โจทก์มิได้นำเงินได้ส่วนนี้ของนางนพวรรณมายื่นแบบรายการเพื่อเสียภาษีให้ถูกต้องทั้งไม่ปรากฏว่ามีการประเมินเรียกเก็บภาษีสำหรับเงินได้ดังกล่าวจากโจทก์หรือนางนพวรรณมาก่อน เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2533 จากโจทก์ในส่วนที่นางนพวรรณมีเงินได้จากการขายที่ดินดังกล่าวได้ ไม่ถือว่าเป็นการประเมินภาษีซ้ำซ้อน ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า คำสั่งกรมสรรพากรที่ 572/2537 จำเลยจะขยายเวลาการออกหมายเรียกได้จะต้องเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี แต่โจทก์ไม่เคยมีพฤติการณ์ดังกล่าวโดยปรากฏหลักฐาน ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร แล้วว่าโจทก์มิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอีกทั้งจำเลยได้รับอนุมัติให้ขยายเวลาการออกหมายเรียกโจทก์จาก 2 ปี เป็น 5 ปีภายหลังจากครบระยะเวลา 2 ปีแล้ว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า โจทก์อ้างในคำฟ้องแต่เพียงว่าเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยประเมินภาษีย้อนหลังไปเกินกว่า 2 ปีโดยมิได้รับอนุมัติจากอธิบดีเท่านั้น โดยโจทก์มิได้อ้างเหตุตามข้ออุทธรณ์ดังกล่าวไว้ในคำฟ้อง ปัญหาที่โจทก์ยกขึ้นอุทธรณ์ว่าไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีก็ดี มีการขยายเวลาหลังครบ 2 ปีก็ดี เป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลางตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 มาตรา 29 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share