คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1057/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อพิจารณา พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239)ฯ มาตรา 3 (6) ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.ฎ. ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 321)ฯ ประกอบกับเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.ฎ. ฉบับนี้แล้ว จะเห็นได้ว่ารัฐต้องการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มในการขายทรัพย์สินที่ดำเนินการโดยองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเพื่อสนับสนุนและลดภาระให้แก่องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินในอันที่จะแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงินให้ได้ผลสำเร็จในอันที่จะแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงินให้ได้ผลสำเร็จโดยเร็วและเนื่องจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินจัดตั้งขึ้นโดย พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงินฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขฟื้นฟูฐานะของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการและชำระบัญชีบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการในกรณีที่บริษัทดังกล่าวไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ ดังนี้ การขายสินทรัพย์ขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หมายความว่า การขายทรัพย์สินของสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการโดยองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หาใช่หมายความว่า ทรัพย์สินที่ขายเป็นกรรมสิทธิ์ขององค์การเพื่อปฏิรูประบบสถาบันการเงินไม่ ฉะนั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินได้จัดการแก้ไขฟื้นฟูฐานะของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ต. ที่ถูกระงับการดำเนินกิจการแล้วนำสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนหนึ่งของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ต. ออกขายทอดตลาด แม้จะเป็นการว่าจ้างโจทก์ ให้เป็นผู้ดำเนินการขายทอดตลาดแทนก็ต้องถือว่าเป็นการดำเนินการขายโดยองค์การ เพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินนั้นเอง การขายเช่นนี้มีผลให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ต. มิต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 3 (6) ดังนี้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจ้างดำเนินการขายทอดตลาดสิทธิการเช่าพื้นที่พิพาทแทนองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินจึงไม่ต้องรับผิดชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/5 แห่งป.รัษฎากรฯ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 580,093.42 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 555,778.13 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 472,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์รับจ้างองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ให้ดำเนินการขายอสังหาริมทรัพย์โดยวิธีขายทอดตลาดและหรือวิธีแข่งขันราคาแบบอื่น เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2542 จำเลยชนะการประมูลสิทธิการเช่าสำนักงานชั้น 3 และชั้น 4 อาคารเดอะแกรนไชน่าเทรดทาวเวอร์แอนด์โฮเต็ล รวม 10 ยูนิต อันเป็นทรัพย์สินของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ตะวันออกฟายแนนซ์ (1991) จำกัด (มหาชน) โดยโจทก์เป็นผู้ขายทอดตลาดภายใต้การดำเนินการของ ปรส. ในราคา 6,750,000 บาท จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายสิทธิการเช่าทรัพย์ดังกล่าวและลงลายมือชื่อเป็นผู้จะซื้อ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ตะวันออกฟายแนนซ์ (1991) จำกัด (มหาชน) โดยบริษัทโจทก์ผู้รับมอบอำนาจและโดยนายสุรศักดิ์ สรรพิทักษ์เสรี ผู้รับมอบอำนาจช่วงลงลายมือชื่อเป็นผู้จะขาย ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 3 ถึงที่ 7 มีเงื่อนไขสำคัญว่าผู้จะขายเป็นผู้รับผิดชอบในการชำระภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีเงินได้นิติบุคคลส่วนผู้จะซื้อเป็นผู้รับผิดชอบในการชำระภาษีท้องถิ่น ภาษีบำรุงท้องที่ (ที่ถูกภาษีส่วนท้องถิ่น) ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีอื่นๆ (ถ้ามี) การชำระเงินตามสัญญาแบ่งออกเป็น 4 งวด โดยจำเลยจะต้องชำระโดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของผู้จะขายหรือด้วยแคชเชียร์เช็คหรือดราฟต์ที่สามารถเรียกเก็บเงินได้ในเขตหักบัญชีกรุงเทพมหานครเท่านั้น โดยเช็คหรือดราฟต์ดังกล่าวจะต้องขีดคร่อมเฉพาะสั่งจ่าย “บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ตะวันออกฟายแนนซ์ (1991) จำกัด (มหาชน) (ปรส.2)” ซึ่งจำเลยได้ชำระราคาครบถ้วนแล้วแต่โจทก์มิได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากจำเลยซึ่งต่อมาวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2544 โจทก์ในฐานะผู้ขายทอดตลาดได้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มและเงินเพิ่มรวมจำนวน 555,778.13 บาท แก่กรมสรรพากรแล้ว
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยชำระภาษีมูลค่าเพิ่มและเงินเพิ่มพร้อมดอกเบี้ยที่โจทก์ชำระให้แก่กรมสรรพากรหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์อ้างว่า การขายสิทธิการเช่าทรัพย์พิพาทนี้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239) พ.ศ.2534 มาตรา 3 (6) ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 321) พ.ศ.2541 ปัญหานี้ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว มาตรา 3 บัญญัติว่า “ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการขายสินค้าดังต่อไปนี้…” (6) การขายทรัพย์สินขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน” ซึ่งตามท้ายพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 321) นี้ได้ให้เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้คือ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินในอันที่จะแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงินและฟื้นฟูฐานะของบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ รวมทั้งลดภาระขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินในการดำเนินการด้านภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการขายทรัพย์สินหรือการให้บริการขององค์การ สมควรยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายทรัพย์สินหรือการให้บริการดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ ดังนี้ เมื่อพิจารณามาตรา 3 (6) ประกอบกับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้แล้วจะเห็นได้ว่ารัฐต้องการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มในการขายทรัพย์สินที่ดำเนินการโดยองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเพื่อสนับสนุนและลดภาระให้แก่องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินในอันที่จะแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงินให้ได้ผลสำเร็จโดยเร็ว และเนื่องจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินจัดตั้งขึ้นโดยพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขฟื้นฟูฐานะของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการและชำระบัญชีบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการในกรณีที่บริษัทดังกล่าวไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ เมื่อนำเอาวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินขึ้นมาพิจารณาประกอบด้วยแล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่า การขายทรัพย์สินขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หมายความว่า การขายทรัพย์สินของสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการโดยองค์การเพื่อการปฏิรูปสถาบันการเงิน หาใช่หมายความว่าทรัพย์สินที่ขายเป็นกรรมสิทธิ์ขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินไม่ ฉะนั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินได้จัดการแก้ไขฟื้นฟูฐานะของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ตะวันออกฟายแนนซ์ (1991) จำกัด (มหาชน) ที่ถูกระงับการดำเนินกิจการแล้วนำสิทธิการเช่าที่พิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนหนึ่งของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ตะวันออกฟายแนนซ์ (1991) จำกัด (มหาชน) ออกขายทอดตลาดแม้จะเป็นการว่าจ้างโจทก์ให้เป็นผู้ดำเนินการขายทอดตลาดแทนก็ต้องถือว่าเป็นการดำเนินการขายโดยองค์การเพื่อการปฏิรูปสถาบันการเงินนั้นเองการขายเช่นนี้ย่อมมีผลให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ตะวันออกไฟแนนซ์ (1991) จำกัด (มหาชน) มิต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 3 (6) แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ฉะนั้น โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจ้างดำเนินการขายทอดตลาดสิทธิการเช่าพื้นที่พิพาทแทนองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินจึงไม่ต้องรับผิดชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/5 แห่งประมวลรัษฎากร และแม้จำเลยจะมีข้อตกลงกับโจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายสิทธิการเช่าเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 3 ถึง 7 ข้อ 10 ว่าจำเลยจะเป็นผู้รับผิดชอบในการชำระภาษีต่างๆ แทนโจทก์ ซึ่งหมายความว่า จำเลยจะต้องรับผิดชอบภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยก็ตาม แต่เมื่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ตะวันออกฟายแนนซ์ (1991) จำกัด (มหาชน) ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจึงไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะต้องให้จำเลยรับผิดชอบแทน โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกให้จำเลยชำระภาษีมูลค่าเพิ่มและเงินเพิ่มพร้อมดอกเบี้ยที่โจทก์ชำระให้แก่กรมสรรพากรที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share