คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2392/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อห้ามตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 31 ที่ห้ามมิให้นายจ้างโยกย้ายหน้าที่การงานลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้างหรือกรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพแรงงานหรือกรรมการ หรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงานซึ่งเกี่ยวกับข้อเรียกร้องในระหว่างที่ข้อเรียกร้องอยู่ในระหว่างการเจรจานั้น หมายถึงการโยกย้ายสับเปลี่ยนหน้าที่การงานตามปกติ มิได้หมายถึงกรณีการเลื่อนตำแหน่งหน้าที่การงานของบุคคลดังกล่าวด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยและเป็นกรรมการสหภาพแรงงานธนาคารออมสิน เดิมมีตำแหน่งเสมียนกองส่งเสริมการออมทรัพย์ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๒๕ สหภาพแรงงานธนาคารออมสินได้แจ้งข้อเรียกร้องต่อจำเลยและข้อเรียกร้องยังอยู่ในระหว่างการเจรจา วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๒๕ จำเลยมีคำสั่งโยกย้ายหน้าที่การงานโจทก์จากหน่วยงานเดิมไปอยู่ในหน่วยงานใหม่ คือหน้าที่ในตำแหน่งพนักงานเงินชั้น ๒ ธนาคารออมสิน สาขาดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นตำแหน่งปัจจุบัน สหภาพแรงงานธนาคารออมสินมีหนังสือลงวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๕ ขอให้จำเลยโยกย้ายหน้าที่การงานโจทก์กลับหน่วยงานเดิม แต่จำเลยปฏิเสธ การกระทำของจำเลยเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ขอให้บังคับจำเลยย้ายโจทก์กลับหน่วยงานเดิมภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่มีคำพิพากษาเป็นต้นไป
จำเลยให้การว่า การที่จำเลยแต่งตั้งโยกย้ายโจทก์เป็นการโยกย้ายให้ตามสิทธิและความเหมาะสมโดยให้โจทก์ไปดำรงตำแหน่งการงานสูงขึ้นด้วยเจตนาดีและเป็นไปตามความประสงค์ของโจทก์ จึงไม่อยู่ในข่ายต้องห้ามตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยสั่งย้ายและแต่งตั้งโจทก์ไปดำรงตำแหน่งพนักงานเงินชั้น ๒ ธนาคารออมสิน สาขาดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เป็นการเลื่อนตำแหน่งตามวาระปกติ ไม่มีพฤติการณ์ส่อไปในทางกลั่นแกล้งแต่ประการใด จำเลยมีอำนาจกระทำได้ไม่เป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓๑ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓๑ บัญญัติว่า “เมื่อได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องตามมาตรา ๓๑ แล้ว ถ้าข้อเรียกร้องนั้นยังอยู่ในระหว่างการเจรจา การไกล่เกลี่ย หรือการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามมาตรา ๑๓ ถึงมาตรา ๒๙ ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงานลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการหรือสมาชิกสหภาพแรงงานหรือกรรมการ หรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงานซึ่งเกี่ยวกับข้อเรียกร้องเว้นแต่…….” ข้อเท็จจริงได้ความว่า เดิมโจทก์เป็นพนักงานของจำเลยตำแหน่งเสมียน กองส่งเสริมการออมทรัพย์ กรุงเทพมหานครและเป็นกรรมการสหภาพแรงงานธนาคารออมสิน ต่อมาโจทก์สมัครสอบแข่งขันเพื่อเลื่อนตำแหน่งจากระดับเสมียนประจำแผนก และโจทก์สอบเลื่อนตำแหน่งได้ วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๒๕ ซึ่งเป็นขณะที่ข้อเรียกร้องอยู่ในระหว่างการเจรจา จำเลยได้มีคำสั่งแต่งตั้งและย้ายโจทก์ไปดำรงตำแหน่งพนักงานเงินชั้น ๒ธนาคารออมสิน สาขาดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เห็นได้ว่าการที่จำเลยให้โจทก์ไปรับตำแหน่งพนักงานเงินชั้น ๒ นั้น เป็นการเลื่อนตำแหน่งฐานะของโจทก์ให้สูงขึ้นตามที่โจทก์สอบแข่งขันได้มิใช่เป็นการโยกย้ายสับเปลี่ยนหน้าที่การปฏิบัติงานตามปกติ ข้อห้ามตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓๑ ที่มิให้นายจ้างโยกย้ายหน้าที่การงานลูกจ้างผู้แทนลูกจ้างหรือกรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพแรงงานหรือกรรมการหรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงานซึ่งเกี่ยวกับข้อเรียกร้องในระหว่างที่ข้อเรียกร้องอยู่ในระหว่างการเจรจานั้น หมายถึงการโยกย้ายสับเปลี่ยนหน้าที่การงานตามปกติ มิได้หมายความถึงกรณีการเลื่อนตำแหน่งหน้าที่การงานของลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการหรือสมาชิกสหภาพแรงงานหรือกรรมการหรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงานตามระเบียบแบบแผนของการจ้างงานแต่อย่างใด ฉะนั้นที่จำเลยมีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์และให้ไปรับตำแหน่งพนักงานเงินชั้น ๒ ธนาคารออมสิน สาขาดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี จึงมิใช่เป็นการโยกย้ายหน้าที่การงานตามความหมายในมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘
พิพากษายืน

Share