คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1505/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาประนีประนอมยอมความนั้น กฎหมายมิได้บังคับให้ต้องทำตามแบบ. เพียงแต่บัญญัติว่า ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ. จะฟ้องร้องให้บังคับคดีมิได้.
โจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน แต่แยกลงลายมือชื่อในเอกสารคนละฉบับ. โจทก์ย่อมอาศัยเอกสารที่จำเลยลงลายมือชื่อฟ้องร้องบังคับจำเลยได้. แม้โจทก์จะมิได้ลงลายมือชื่อร่วมในเอกสารนั้นด้วย.
ปัญหาข้อกฎหมายซึ่งมิได้ยกขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์. ทั้งไม่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน.ต้องห้ามมิให้ฎีกา. แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกามา.ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์แต่งงานเป็นภริยานายแคล้ว อยู่กินด้วยกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส จนกระทั่งนายแคล้วตาย โจทก์ในฐานะภริยาและจำเลยในฐานะทายาท มีสิทธิได้รับเงินจากทางราชการ 4 ประเภท รวม64,175 บาท แต่มีข้อพิพาทแย่งกันขอรับเงินจึงได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยโจทก์จำเลยจะไปรับเงินร่วมกันและแบ่งให้โจทก์ 20,000บาท เพื่อโจทก์จะได้เก็บไว้จัดการฌาปนกิจศพนายแคล้ว ส่วนเงินที่เหลือให้จำเลยเก็บไว้แต่ผู้เดียว หลังจากทำสัญญาแล้ว จำเลยไปรับเงินแต่ผู้เดียว และไม่ยอมแบ่งให้โจทก์ จึงขอให้บังคับ หากจำเลยไม่ปฏิบัติ ให้ศาลมีคำสั่งให้ศึกษาธิการจังหวัดแบ่งเงินบำเหน็จตกทอดของนายแคล้วซึ่งทางราชการจะจ่ายแก่ทายาทให้โจทก์ 20,000 บาท จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์ไม่ใช่ทายาท ไม่มีสิทธิรับเงินจากทางราชการ จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความ เพราะความสำคัญผิดในสารสำคัญและตัดฟ้องว่าโจทก์จะฟ้องร้องเกี่ยวกับเงิน ช.พ.ค.ไม่ได้ ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยเป็นฝ่ายนำสืบก่อน จำเลยแถลงโต้แย้ง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์จำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความด้วยความสมัครใจ ข้อตัดฟ้องฟังไม่ได้ พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 20,000 บาทแก่โจทก์ ที่โจทก์ขอให้สั่งให้ศึกษาธิการจังหวัดแบ่งเงินให้โจทก์นั้น ปรากฏว่าจำเลยได้รับเงินไปหมดแล้วไม่อาจบังคับได้ ให้ยกคำขอข้อนี้ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกาต่อมาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย จำเลยฎีกาข้อแรกว่า สัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นสัญญาฝ่ายเดียว ไม่มีฝ่ายที่ต้องรับผิดลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญโดยจำเลยอ้างว่าเอกสารสัญญาทั้งสองฉบับ มีโจทก์และจำเลยลงชื่อคนละฉบับ ไม่ได้ลงชื่อร่วมกัน จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอม ศาลฎีกาเห็นว่า การประนีประนอมยอมความนั้น กฎหมายมิได้บังคับให้ต้องทำตามแบบแต่อย่างใด เพียงบัญญัติไว้ว่า ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดแล้ว จะฟ้องบังคับคดีไม่ได้เท่านั้น การประนีประนอมยอมความในคดีนี้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายจะต้องรับผิดตามเอกสารหมาย จ.1แล้ว แม้โจทก์จะมิได้ลงลายมือชื่อในเอกสารฉบับนี้ด้วย โจทก์ก็ฟ้องร้องบังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 851 จำเลยฎีกาต่อไปว่า ข้อความที่ตกลงกันมีความหมายเพียงว่า โจทก์เก็บเงินไว้ทำศพนายแคล้ว และต้องทำศพจนหมดเงิน 20,000 บาท เงินจำนวนนี้เท่ากับโจทก์รับฝากค่าทำศพไว้ มิใช่กรรมสิทธิ์ของโจทก์จำเลยจะไม่ฝากเงินให้โจทก์เก็บก็ได้ เพราะไม่มีกฎหมายบังคับ ศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหาข้อนี้จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เพิ่งจะมายกในชั้นฎีกา ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 จึงไม่รับวินิจฉัย ฎีกาของจำเลยในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาฟังว่าจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยความสมัครใจ พิพากษายืน.

Share