แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ลูกหนี้ที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจะบังคับตามสิทธิเรียกร้องให้บุคคลภายนอกชำระหนี้หรือส่งมอบทรัพย์สินแก่ตนเพื่อรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องนั้นเกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ และบุคคลภายนอกนั้นไม่ได้รับว่าเป็นหนี้ลูกหนี้หรือมีทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ในครอบครอง ย่อมเป็นหน้าที่ของผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนที่ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อดำเนินการบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้น ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/39 แต่หากสิทธิเรียกร้องนั้นเกิดขึ้นภายหลังศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ซึ่งอาจเกิดจากการกระทำของผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนแล้วแต่กรณี ก็เป็นเรื่องที่ผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนจะต้องไปใช้วิธีการฟ้องร้องต่อศาลเป็นคดีแพ่งต่างหาก ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (9), 90/25 และ 90/59 คดีนี้สิทธิเรียกร้องที่มีต่อบุคคลภายนอกของโจทก์ ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของโจทก์ ผู้ทำแผนจึงต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อดำเนินการทวงหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/39 ดังกล่าว โจทก์โดยผู้ทำแผนไม่มีอำนาจฟ้องคดีเอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 107,435.72 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้นจำนวน 72,310.60 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองไม่แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความให้
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นลูกหนี้ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ การที่โจทก์จะบังคับตามสิทธิเรียกร้องให้บุคคลภายนอกชำระหนี้แก่ตนเพื่อรวบรวมทรัพย์สินของโจทก์นั้น ถ้าสิทธิเรียกร้องนั้นเกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ จะต้องใช้วิธีการทวงหนี้ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/39 ซึ่งบัญญัติ ว่า “เมื่อปรากฏว่าลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดชำระหนี้หรือส่งมอบทรัพย์สินแก่ลูกหนี้ และบุคคลนั้นไม่ได้รับว่าเป็นหนี้ลูกหนี้หรือมีทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ในครอบครอง ให้ผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนแจ้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อดำเนินการ” แต่หากสิทธิเรียกร้องนั้นเกิดขึ้นภายหลังศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ซึ่งอาจเกิดจากการกระทำของผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนแล้วแต่กรณี ก็เป็นเรื่องที่ผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนจะต้องไปใช้วิธีการฟ้องร้องต่อศาลเป็นคดีแพ่งต่างหาก ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (9), 90/25 และ 90/59 ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าโจทก์ขายปูนซีเมนต์ให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2536 และออกใบกำกับสินค้าเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2536 ต่อมาวันที่ 21 สิงหาคม 2543 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของโจทก์โดยมีบริษัททีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ทำแผน แล้วในวันที่ 28 ธันวาคม 2543 โจทก์โดยผู้ทำแผนได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระราคาสินค้าที่ซื้อไปจากโจทก์ เมื่อสิทธิเรียกร้องของโจทก์เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของโจทก์ ผู้ทำแผนจึงต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อดำเนินการทวงหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/39 โจทก์โดยผู้ทำแผนจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีเอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโดยเหตุโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ