แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานพยายามฆ่า โดยใช้อาวุธปืนยิงทำร้ายซึ่งกันและกันและกระสุนปืนที่จำเลยที่ 2 ยิงไม่ถูกจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ได้รับอันตรายแก่กายอย่างไร และทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนตีศีรษะของจำเลยที่ 1 จนได้รับอันตรายแก่กาย แต่การกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นรวมการกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายด้วย และเป็นความผิดได้ในตัวเอง ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘, ๘๐ , ๖๐, ๓๗๑, ๓๗๖, ๙๑, ๓๓, ๓๒ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๗๒, ๗๒ ทวิ ริบปลอกกระสุนปืนขนาด ๖.๓๕ มิลลิเมตร จำนวน ๓ ปลอก กระสุนปืนขนาด ๙ มิลลิเมตร จำนวน ๑ ปลอก ซองพกหนังขนาด ๙ มิลลิเมตร จำนวน ๑ ซอง หัวกระสุนปืน ๑ หัว และคืนอาวุธปืนพกสั้นหมายเลขทะเบียน มก. ๖/๑๖๑๒๔ แก่เจ้าของ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ประกอบมาตรา ๘๐, ๒๘๘ ประกอบมาตรา ๘๐, ๖๐ อีกสองบท ซึ่งมีอัตราโทษเท่ากัน จึงลงโทษเพียงบทเดียว มาตรา ๓๗๑, ๓๗๖ จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ประกอบมาตรา ๘๐, ๓๗๑, ๓๗๖ และจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ วรรคหนึ่ง, ๗๒ วรรคสาม, ๗๒ ทวิ วรรคสอง เรียงกระทงลงโทษฐานพยายามฆ่าผู้อื่นและฐานยิงปืนในที่ชุมนุมชนโดยใช่เหตุ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุกคนละ ๑๕ ปี ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่น จำคุกคนละ ๖ เดือน ฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองโดยฝ่าฝืนกฎหมายลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกคนละ ๖ เดือน รวมจำคุกคนละ ๑๕ ปี ๑๒ เดือน ทางนำสืบของจำเลยที่ ๑ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยที่ ๑ กำหนด ๑๐ ปี ๘ เดือน ริบปลอกกระสุนปืนขนาด ๖.๓๕ มิลลิเมตร ๓ ปลอก ปลอกกระสุนปืนขนาด ๙ มิลลิเมตร ๑ ปลอก ซองพกหนังและหัวกระสุนปืนของกลาง และคืนอาวุธปืนหมายเลขทะเบียน มก. ๖/๑๖๑๒๔ แก่เจ้าของ ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ ๑๒ ปี รวมกับโทษฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่น และฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองโดยฝ่าฝืนกฎหมายเป็นจำคุกคนละ ๑๒ ปี ๑๒ เดือน ลดโทษให้จำเลยที่ ๑ หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๘ ปี ๘ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ ๑ กับพวกของจำเลยที่ ๒ ได้ก่อเหตุทะเลาะวิวาทกันจำเลยที่ ๒ เข้าไปใช้อาวุธปืนสั้นตีศีรษะของจำเลยที่ ๑ ทรุดลง แล้วเล็งปืนไปที่จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ จึงเข้าแย่งอาวุธปืนจากจำเลยที่ ๒ อาวุธปืนของจำเลยที่ ๒ จึงลั่นขึ้น ๑ นัด แล้วจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้กอดปล้ำต่อสู้กัน จึงมีเสียงปืนดังขึ้นอีก ๓ นัด ซึ่งจากทางนำสืบของโจทก์ไม่มีพยานโจทก์คนใดเห็นจำเลยที่ ๒ ยิงปืนไปทางจำเลยที่ ๑ วิถีกระสุนปืนของจำเลยที่ ๒ ไม่มีผู้ใดทราบว่าพุ่งไปทิศทางใด ทั้งได้ความว่าเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นได้ปลอกกระสุนปืนขนาด ๙ มิลลิเมตร ซึ่งเป็นขนาดเดียวกับอาวุธปืนของจำเลยที่ ๒ เพียง ๑ ปลอก ดังนี้อาวุธปืนของจำเลยที่ ๒ จึงอาจลั่นขึ้นเพราะจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กอดปล้ำแย่งอาวุธปืนกันก็เป็นได้ เมื่อพิจารณาประกอบกับพฤติการณ์ของจำเลยที่ ๒ ตั้งแต่แรกที่มีโอกาสยิงจำเลยที่ ๑ ได้ในทันทีแต่หาได้กระทำไม่ คงเพียงแต่ใช้ด้ามปืนตีศีรษะของจำเลยที่ ๑ จนได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่และจิตใจ ตามใบความเห็นแพทย์เอกสารหมายล.๓ เท่านั้น การที่จำเลยที่ ๒ เล็งปืนไปที่จำเลยที่ ๑ โดยยังไม่ได้ยิง ก็อาจเป็นเพียงข่มขู่เท่านั้น ไม่อาจสันนิษฐานให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ ๒ ได้ ข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๒ ใช้อาวุธปืนยิงและมีเจตนาฆ่าจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ จึงไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นและยิงปืนในที่ชุมนุมชนโดยใช่เหตุ คงฟังได้แต่เพียงว่าจำเลยที่ ๒ มีเจตนาทำร้ายร่างกายจำเลยที่ ๑ จนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจเท่านั้น ซึ่งศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า แม้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานพยายามฆ่า โดยใช้อาวุธปืนยิงทำร้ายซึ่งกันและกันและกระสุนปืนที่จำเลยที่ ๒ ยิงไม่ถูกจำเลยที่ ๑ โดยไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ได้รับอันตรายแก่กายอย่างไร และทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่ ๒ ใช้อาวุธปืนตีศีรษะของจำเลยที่ ๑ จนได้รับอันตรายแก่กายแต่การกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นรวมการกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายด้วย และเป็นความผิดได้ในตัวเอง ดังนี้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ ๒ ในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคท้าย พยานหลักฐานจำเลยที่ ๒ ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยที่ ๒ มีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ ๒ ฟังขึ้นเป็นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ วางโทษจำคุก ๒ ปี เมื่อรวมกับโทษความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ที่ศาลอุทธณณ์ภาค ๗ พิพากษาจำคุก ๑๒ เดือน แล้ว รวมจำคุกมีกำหนด ๒ ปี ๑๒ เดือน ยกฟ้องข้อหาพยายามฆ่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ประกอบกับมาตรา ๘๐ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๗
นายสมยศ เข็มทอง ผู้ช่วยฯ
นายเจษฎา ชุมเปีย ย่อ
นายไพโรจน์ โรจน์อภิรักษ์กุล ตรวจ
นายชัยวัฒน์ เวียงธีรวัฒน์ ผู้ช่วยฯ/ตรวจ