คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3280/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังยุติแล้วว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำรถยนต์ไปรับจำเลยที่ 1 ที่จังหวัดพะเยา โดยจำเลยที่ 2 เป็นคนขับ ส่วนจำเลยที่ 3 น้องชายของจำเลยที่ 1 นั่งโดยสารไปด้วย นับแต่รับจำเลยที่ 1 ที่จังหวัดพะเยาแล้วทั้งสองอยู่กับจำเลยที่ 1 ตลอดเวลาจนถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมที่จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 รู้อยู่ว่าจำเลยที่ 1 รับจ้างลำเลียงเมทแอมเฟตามีนไปส่งลูกค้าโดยได้รับเงินค่าจ้างเป็นผลประโยชน์ตอบแทนแล้วยังร่วมมือช่วยเหลือ การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการลำเลียงเมทแอมเฟตามีนของกลางไปส่งลูกค้าให้สำเร็จ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย มิใช่เป็นเพียงผู้สนับสนุน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเก้าตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 97, 100/1, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7, 8, 14 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 58, 83, 91 ริบของกลาง บวกโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1636/2552 ของศาลจังหวัดเชียงรายเข้ากับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2631/2550 ของศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นับโทษจำเลยที่ 4 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3033/2549 ของศาลจังหวัดสงขลา และนับโทษจำเลยที่ 9 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อย. 1444/2553 ของศาลชั้นต้น เพิ่มโทษจำเลยที่ 3 ตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 9 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ และจำเลยที่ 3 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (2) (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคสาม (2)), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 46 ปี และปรับ 1,600,000 บาท ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 จำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 ตลอดชีวิต และปรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 2,000,000 บาท เมื่อลงโทษจำเลยที่ 3 จำคุกตลอดชีวิตแล้วจึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 3 ได้อีก คงเพิ่มเฉพาะโทษปรับกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 คงปรับ 3,000,000 บาท ปรับจำเลยที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 คนละ 1,000,000 บาท จำเลยที่ 9 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม (2) (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคสาม (2)), 66 วรรคสาม พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 วรรคหนึ่งและวรรคสอง (ที่ถูก ไม่ต้องระบุวรรคหนึ่ง) การกระทำของจำเลยที่ 9 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 2,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 23 ปี และปรับ 800,000 บาท บวกโทษจำคุก 4 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1636/2552 ของศาลจังหวัดเชียงรายเข้ากับโทษในคดีนี้ รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 23 ปี 4 เดือน และปรับ 800,000 บาท นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2631/2550 ของศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นับโทษจำเลยที่ 4 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3033/2549 ของศาลจังหวัดสงขลา ส่วนคดีที่ขอให้นับโทษจำเลยที่ 9 ต่อนั้น ไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกแล้ว จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ หากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังได้เกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 5 คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 8 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และมาตรา 53 จำคุกคนละ 33 ปี 4 เดือน และปรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 1,333,333.33 บาท ปรับจำเลยที่ 8 เป็นเงิน 666,666.66 บาท เพิ่มโทษจำเลยที่ 3 กึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 เป็นจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 49 ปี 12 เดือน และปรับ 2,000,000 บาท ลดโทษให้จำเลยที่ 4 และที่ 8 คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน และปรับ 666,666.66 บาท จำคุกจำเลยที่ 8 มีกำหนด 22 ปี 2 เดือน 20 วัน และปรับ 444,444.44 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 6 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 9 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2553 เวลาประมาณ 6 นาฬิกา จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ ยี่ห้อเชฟโรเล็ต สีดำ หมายเลขทะเบียน ฎก 9240 กรุงเทพมหานคร มีจำเลยที่ 1 และที่ 3 นายอนุศักดิ์ นางสาวอรณี นางอะธิตา ภริยาจำเลยที่ 2 กับเด็ก 2 คน นั่งโดยสารมาด้วย เจ้าพนักงานตำรวจกองบังคับการปราบปรามยาเสพติด 3 ประจำด่านตรวจพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ตรวจค้นรถยนต์คันดังกล่าว พบเมทแอมเฟตามีนของกลาง 13,200 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 198.460 กรัม ซุกซ่อนอยู่ในกระเป๋าคาดเอววางอยู่ที่คอนโซลระหว่างเบาะหลังกับกระจกด้านหลัง และเมทแอมเฟตามีน 245 เม็ด ซุกซ่อนอยู่ในเสื้อชั้นในของนางสาวอรณี โดยจำเลยที่ 1 รับจ้างลำเลียงเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจากภาคเหนือเพื่อไปส่งให้แก่ลูกค้า เจ้าพนักงานตำรวจทำการจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 เกี่ยวข้องนำรถไปรับจำเลยที่ 1 พร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นเยาวชนจึงแยกไปดำเนินคดีต่างหาก จำเลยที่ 1 แจ้งรายละเอียดลูกค้าให้เจ้าพนักงานตำรวจทราบและตกลงนำเมทแอมเฟตามีนไปส่งให้จำเลยที่ 4 จำนวน 6,000 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 91.943 กรัม และส่งให้จำเลยที่ 8 จำนวน 4,000 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 57.283 กรัม ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เจ้าพนักงานตำรวจทำการจับกุมจำเลยที่ 4 ขณะมารับเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวพร้อมจำเลยที่ 5 คนขับรถแท็กซี่ให้จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 6 ภริยาจำเลยที่ 4 กับทำการจับกุมจำเลยที่ 7 และที่ 8 โดยจำเลยที่ 7 เป็นภริยาจำเลยที่ 8 และไปรับเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวแทนจำเลยที่ 8 คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน 13,200 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยที่ 4 กระทำความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน 6,000 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยที่ 7 กระทำความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน 4,000 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยที่ 8 กระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 และที่ 6
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีน 13,200 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังยุติแล้วว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำรถยนต์ ยี่ห้อเชฟโรเล็ต สีดำ หมายเลขทะเบียน ฎก 9240 กรุงเทพมหานคร ไปรับจำเลยที่ 1 ที่จังหวัดพะเยาโดยจำเลยที่ 2 เป็นคนขับ ส่วนจำเลยที่ 3 น้องชายของจำเลยที่ 1 นั่งโดยสารไปด้วย นับแต่รับจำเลยที่ 1 ที่จังหวัดพะเยาแล้วทั้งสองอยู่กับจำเลยที่ 1 ตลอดเวลาจนถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมที่จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 รู้อยู่ว่าจำเลยที่ 1 รับจ้างลำเลียงเมทแอมเฟตามีนไปส่งลูกค้าโดยได้รับเงินค่าจ้างเป็นผลประโยชน์ตอบแทนแล้วยังร่วมมือช่วยเหลือ การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการลำเลียงเมทแอมเฟตามีนของกลางไปส่งลูกค้าให้สำเร็จ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย มิใช่เป็นเพียงผู้สนับสนุนดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 9 ว่า จำเลยที่ 9 ร่วมสมคบกับจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีน 13,200 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจ่าสิบตำรวจ พิชัย เจ้าพนักงานตำรวจชุดปราบปรามยาเสพติด ประจำด่านตรวจพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ พยานโจทก์ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์จากสายลับในวันที่ 2 ธันวาคม 2552 ว่ามีกลุ่มของนางอัมพร ยังไม่ทราบชื่อสกุลผู้ค้ายาเสพติดในจังหวัดเชียงรายจะลักลอบขนเมทแอมเฟตามีนจากจังหวัดเชียงรายไปยังภาคใต้ จึงรายงานให้พันตำรวจตรี สมโภช หัวหน้าด่านตรวจพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ และร้อยตำรวจโท เทียนชัย ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและเป็นพยานโจทก์ทราบ ซึ่งพันตำรวจตรี สมโภชได้ประสานไปยังหน่วยปราบปรามยาเสพติดเชียงใหม่ขอข้อมูล ปรากฏว่านางอัมพรที่ได้รับข้อมูลจากสายลับมีตัวตนจริง คือนางอัมพร จำเลยที่ 9 เมื่อพยานโจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานตามหน้าที่ราชการและไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 9 มาก่อน คำเบิกความจึงมีน้ำหนักเชื่อถือได้ ในชั้นจับกุมจำเลยที่ 1 ยังเขียนบันทึกคำรับสารภาพด้วยลายมือตนเองว่ารับจ้างขนเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 9 และรุ่งขึ้นจากวันที่ถูกจับกุมจำเลยที่ 1 ได้รับรองภาพถ่ายจากข้อมูลทะเบียนราษฎรว่าเป็นภาพถ่ายจำเลยที่ 9 ที่จ้างจำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนไปส่งให้ลูกค้า ประกอบกับโจทก์มีบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ซึ่งให้การว่า ก่อนเกิดเหตุเคยรับจ้างจำเลยที่ 9 ขนเมทแอมเฟตามีนไปส่งลูกค้า 2 ถึง 3 ครั้งแล้ว ระหว่างวันที่ 7 ถึงวันที่ 8 มกราคม 2553 จำเลยที่ 9 โทรศัพท์บอกให้จำเลยที่ 1 ขนเมทแอมเฟตามีนไปส่งลูกค้า วันที่ 9 มกราคม 2553 จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกของนายจ้างที่จังหวัดพะเยาไปรับเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 9 บริเวณริมถนนสายป่าแดด – อำเภอจุน จำเลยที่ 9 ขับรถยนต์ ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีโก้ นำเมทแอมเฟตามีนมาส่งให้ โดยรถยนต์คันดังกล่าวเป็นยี่ห้อและรุ่นเดียวกับที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดจากจำเลยที่ 9 ในภายหลัง ต่อมาวันที่ 10 มกราคม 2553 จำเลยที่ 1 โทรศัพท์บอกน้องชายคือจำเลยที่ 3 ให้หารถยนต์ไปรับจำเลยที่ 1 ที่จังหวัดพะเยา จำเลยที่ 1 ยอมรับสารภาพต่อพนักงานสอบสวนว่ารับจ้างจากจำเลยที่ 9 ขนเมทแอมเฟตามีนไปส่งให้จำเลยที่ 4 และที่ 8 ทั้งอธิบายรูปพรรณสัณฐานของจำเลยที่ 9 ให้พนักงานสอบสวนทราบ โดยให้การไว้ต่อหน้านายนครินทร์ ทนายความที่ร่วมฟังการสอบปากคำด้วย แม้คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจะเป็นคำซัดทอดถึงจำเลยที่ 9 ที่เป็นผู้กระทำความผิดด้วยกันก็ตาม แต่มิใช่เป็นเรื่องจำเลยที่ 1 ปัดความรับผิดให้เป็นความผิดของจำเลยที่ 9 เพียงลำพัง จึงรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ที่ซัดทอดว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นของจำเลยที่ 9 ที่ว่าจ้างจำเลยที่ 1 นำไปส่งให้แก่ลูกค้าประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ ตามทางนำสืบของโจทก์ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจตรี สมโภช ร้อยตำรวจโท เทียนชัย และจ่าสิบตำรวจ พิชัย ทำนองเดียวกันว่า เมื่อตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนในรถยนต์หมายเลขทะเบียน ฎก 9240 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 ยอมร่วมมือขยายผลการจับกุมโดยให้รายละเอียดว่า จำเลยที่ 9 ให้นำเมทแอมเฟตามีนไปส่งให้แก่จำเลยที่ 4 จำนวน 6,000 เม็ด จำเลยที่ 8 จำนวน 4,000 เม็ด ที่เหลืออีก 3,200 เม็ด ส่งให้แก่นายสมุทร ไม่ทราบชื่อสกุล จำเลยที่ 1 ให้การว่าติดต่อกับจำเลยที่ 9 ที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08 5721 xxxx หมายเลขดังกล่าวตรงกับที่สายลับติดต่อล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 9 ในอีกคดีหนึ่ง ครั้นจำเลยที่ 9 ถูกจับกุมในอีกคดีเจ้าพนักงานตำรวจยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 9 ได้อีก 1 เครื่อง คือหมายเลข 08 5722 xxxx ซึ่งโทรศัพท์ทั้งสองหมายเลขของจำเลยที่ 9 ดังกล่าวนั้น จำเลยที่ 4 จดบันทึกไว้ในสมุดโน้ตของจำเลยที่ 4 ว่าเป็นหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยที่ 9 เจ้าพนักงานตำรวจยังทำการตรวจสอบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 1 หมายเลข 08 9755 xxxx มีรายละเอียดปรากฏว่า วันที่ 9 มกราคม 2553 มีการติดต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 9 หมายเลข 08 5722 xxxx ตรวจสอบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 4 หมายเลข 08 7994 xxxx มีรายละเอียดปรากฏว่า วันที่ 11 มกราคม 2553 มีการพยายามติดต่อกับหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยที่ 9 ทั้งสองหมายเลขดังกล่าว และตรวจสอบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 8 หมายเลข 08 2243 xxxx มีรายละเอียดปรากฏว่า วันที่ 5, 8 และ 10 มกราคม 2553 มีการติดต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 9 หมายเลข 08 5721 xxxx แสดงว่านอกจากมีการติดต่อกันระหว่างจำเลยที่ 9 กับจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 9 ยังมีการติดต่อทางโทรศัพท์เคลื่อนที่กับจำเลยที่ 4 และที่ 8 ด้วย ดังนี้การติดต่อทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่างจำเลยที่ 9 กับจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 8 สนับสนุนคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ให้มีน้ำหนักเชื่อถือได้ กอปรกับไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ให้การไปโดยไม่สมัครใจแต่อย่างใด โดยในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 1 ยังคงให้การรับสารภาพเช่นเดียวกับในชั้นสอบสวน พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาจึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากความสงสัยว่า จำเลยที่ 9 จ้างจำเลยที่ 1 ไปส่งเมทแอมเฟตามีน 13,200 เม็ด ให้ลูกค้า คือ จำเลยที่ 4 ที่ 8 และนายสมุทร การกระทำของจำเลยที่ 9 เป็นการร่วมสมคบกับจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีน 13,200 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา ที่จำเลยที่ 9 อ้างว่า จำเลยที่ 9 ติดต่อกับจำเลยที่ 1 ที่มีอาชีพรับจ้างขับรถบรรทุกไปส่งของทางภาคใต้ จำเลยที่ 9 ได้ฝากจำเลยที่ 1 ซื้อกล้ายางจากทางภาคใต้มาปลูกที่จังหวัดเชียงรายจึงมีการติดต่อกับจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 9 ยกขึ้นอ้างลอย ๆ ไม่มีพยานอื่นมาสนับสนุน พยานหลักฐานของจำเลยที่ 9 ไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ สำหรับฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 9 เป็นปัญหาปลีกย่อย แม้วินิจฉัยไปก็ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share