คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3266/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ช.ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 2 ได้ทำบันทึกการตกลงชดใช้ค่าเสียหายกับผู้เสียหายทุกคน แล้วรับข้อเสนอของผู้เสียหายแต่ละคนที่ได้เรียกร้องค่าเสียหายตามจำนวนที่ระบุไว้ในบันทึกเพื่อนำไปเสนอจำเลยที่ 2 พิจารณาจำนวนเงินที่ผู้เสียหายแต่ละคนเรียกร้องอีกครั้งหนึ่ง ประกอบกับตามบันทึกเกี่ยวกับการชดใช้ค่าเสียหาย ช. ได้แจ้งให้พนักงานสอบสวนทราบว่า จำเลยที่ 2 จะรับผิดชอบค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายตามความเป็นจริงเท่านั้น จากบันทึกทั้งสองฉบับมีความหมายว่า ช. ได้ตกลงยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหายทุกคนตามที่ได้รับมอบหมายอำนาจจากจำเลยที่ 2 แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้กำหนดจำนวนเงินแน่นอนที่จะจ่ายให้แก่ผู้เสียหายแต่ละคนเท่านั้น ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) แล้ว จึงทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนับแต่วันทำบันทึกตกลงชดใช้ค่าเสียหาย ต่อมาโจทก์ทราบจากพนักงานสอบสวนว่า จำเลยที่ 2 ปฏิเสธไม่ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ เมื่อนับแต่วันทราบดังกล่าวถึงวันฟ้องฟังไม่เกิน 1 ปี ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ม. ลูกจ้างของจำเลยทั้งสอง ขับรถยนต์โดยสารไปในทางการที่จ้างของจำเลยทั้งสอง โดยมีโจทก์โดยสารมาด้วย และด้วยความประมาทเลินเล่อของ ม. เป็นเหตุให้รถคันดังกล่าวเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนกับรถยนต์ และรถบรรทุก เป็นเหตุให้ ม. ถึงแก่ความตายและโจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัสและได้รับความเสียหายเป็นเงิน 161,300 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นการส่วนตัวเนื่องจากเป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 2 เหตุที่เกิดขึ้นมิได้เป็นความประมาทเลินเล่อของ ม. แต่เกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัย จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินความเป็นจริง และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เพราะเหตุเกิดเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2540 โจทก์นำคดีมาฟ้องเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาในประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์เสียหายเพียงใด แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมี คำพิพากษาใหม่
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า เกิดเหตุวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2540 ต่อมาวันที่ 20 มีนาคม 2540 นาย ช. ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 2 ให้มีอำนาจเจรจาตกลงค่าเสียหายกับผู้เสียหายทุกคน ได้ทำบันทึกการตกลงชดใช้ค่าเสียหายคดี จร.ที่ 11/2540 เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งบันทึกดังกล่าวข้อ 3.18 ระบุว่า นาย ช. ตกลงกับผู้เสียหายทุกคน แล้วรับข้อเสนอของผู้เสียหายแต่ละคนที่ได้ เรียกร้องค่าเสียหายตามจำนวนที่ระบุในข้อ 3.1 ถึงข้อ 3.17 เพื่อนำไปเสนอจำเลยที่ 2 พิจารณาจำนวนเงินที่ผู้เสียหาย แต่ละคนเรียกร้องอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากเงินที่ผู้เสียหายแต่ละคนเรียกร้องมีจำนวนมาก อีกทั้งจะได้ตรวจสอบจาก หลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดความเสียหายที่จะต้องรับผิดชอบชดใช้เงินตามความเหมาะสมต่อไป ประกอบกับ ตามบันทึกเกี่ยวกับการชดใช้ค่าเสียหายเอกสารหมาย จ.2 นาย ช. ได้แจ้งให้พนักงานสอบสวนทราบว่า จำเลยที่ 2 จะรับผิดชอบค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายที่ได้รับบาดเจ็บตามหลักฐานหรือใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลที่แท้จริงเท่านั้น สำหรับผู้ตายให้ศพละ 50,000 บาท ความเสียหายต่อทรัพย์สินให้ประเมินความเสียหายตามความเป็นจริง จากบันทึก ทั้งสองฉบับมีความหมายว่า นาย ช. ได้ตกลงยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหายทุกคนตามที่ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 2 แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้กำหนดจำนวนเงินแน่นอนที่จะจ่ายให้แก่ผู้เสียหายแต่ละคนเท่านั้น เพราะนาย ช. ประสงค์จะให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้พิจารณาจำนวนค่าเสียหายเอง ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำการใด ๆ อันปราศจาก ข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) แล้ว จึงทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2540 ซึ่งเป็นวันทำบันทึกการตกลง ชดใช้ค่าเสียหาย คดี จร.ที่ 11/2540 เอกสารหมาย จ.1 จนถึงวันที่ 16 มิถุนายน 2540 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ทราบจากพนักงานสอบสวนว่าจำเลยที่ 2 ปฏิเสธไม่ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ เนื่องจากคู่กรณีฝ่ายที่ได้รับความเสียหายเรียกร้องมีจำนวนเงินสูงกว่าความเป็นจริงตามบันทึกเกี่ยวกับการชดใช้ค่าเสียหายเอกสารหมาย จ.2 เมื่อนับแต่วันทราบดังกล่าวถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 1 ปี ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนปัญหาว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใดนั้น ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ยังไม่ได้วินิจฉัยมา ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไป โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยก่อน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 70,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 31 มีนาคม 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียม ทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยให้ใช้ค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 6,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ.

Share