แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 42 เป็นกระบวนพิจารณาหนึ่งเพื่อให้ทราบถึงกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ เหตุผลที่ทำให้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ตลอดจนความประพฤติของลูกหนี้ว่าได้กระทำหรือละเว้นกระทำการใด ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 หรือตามกฎหมายอื่นเกี่ยวกับการล้มละลาย จำเลยจึงต้องให้การตามความเป็นจริง เมื่อจำเลยทราบดีว่าตนเองเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของเจ้ามรดกและศาลแพ่งยังมีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับทายาทอื่นอีกด้วย จำเลยมีหน้าที่ต้องแจ้งแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตั้งแต่ชั้นชี้แจงกิจการและทรัพย์สินถึงสิทธิของจำเลยในทรัพย์มรดกแม้จะยังไม่มีการแบ่งหรือการจัดการและแม้จำเลยจะได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับทายาทอื่นเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์มรดกรวม 2 ฉบับ ก็ตาม จำเลยไม่อาจอ้างได้ว่า จำเลยไม่น่าจะได้รับทรัพย์มรดกเนื่องจากเมื่อคำนวณทรัพย์มรดกและหนี้ของกองมรดกแล้ว จำเลยคิดว่าไม่มีทรัพย์มรดกเหลือ จึงไม่แจ้งเรื่องดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ดังนั้น การที่จำเลยเบิกความในการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยต่อศาลโดยไม่แจ้งว่าจำเลยมีสิทธิที่จะได้รับทรัพย์มรดกดังกล่าว ทั้งที่มีหน้าที่ต้องตอบคำถามของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เกี่ยวกับทรัพย์สินที่จำเลยมีอยู่ และมีสิทธิที่จะได้รับมาทั้งหมดโดยละเอียด จึงเป็นการละเว้นไม่แจ้งข้อความอันเป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนเองต่อศาล จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 163 (2) ประกอบมาตรา 42
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 163 (2) ประกอบมาตรา 42
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลล้มละลายกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 163 (2) ประกอบมาตรา 42 จำคุก 8 เดือน
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติได้ว่า วันที่ 14 ธันวาคม 2536 นายบุญวงศ์ บิดาของจำเลยถึงแก่ความตาย โดยมีจำเลยเป็นทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดกตามพินัยกรรมร่วมกับทายาทอื่น วันที่ 16 มีนาคม 2537 ศาลแพ่งมีคำสั่งตั้ง พันโทอนุวงศ์ นางสาววรศิริ นายเชิดชาย นางวรงค์ศิริ และจำเลยร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญวงศ์ จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับทายาทอื่นเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์มรดกรวม 2 ฉบับ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดในคดีหมายเลขแดงที่ ล. 984/2544 จำเลยทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว วันที่ 29 พฤศจิกายน 2544 จำเลยให้การสอบสวนเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาให้จำเลยล้มละลายและกำหนดนัดไต่สวนจำเลยในฐานะลูกหนี้โดยเปิดเผยในวันที่ 25 มิถุนายน 2545 เมื่อถึงวันนัดศาลล้มละลายกลางไต่สวนลูกหนี้โดย วันที่ 14 มกราคม 2546 พันเอกอนุวงศ์ ยื่นคำร้องขอคัดสำเนาเอกสารต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อนำไปใช้ในการยื่นคำร้องขอถอดถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกร่วมของนายบุญวงศ์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีคำสั่งให้พันเอกอนุวงศ์แถลงเพิ่มเติมเกี่ยวกับทรัพย์มรดกที่จำเลยมีสิทธิได้รับต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และมีหมายเรียกจำเลยมาให้การสอบสวนเกี่ยวกับทรัพย์มรดกที่มีสิทธิจะได้ดังกล่าว วันที่ 14 มีนาคม 2546 ศาลแพ่งมีคำสั่งถอนจำเลย นางวรงค์ศิริ และนายเชิดชาย ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกร่วมของนายบุญวงศ์ วันที่ 22 เมษายน 2546 จำเลยมาให้การสอบสวนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และวันที่ 21 พฤษภาคม 2551 ให้การเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์มรดกต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ วันที่ 21 พฤษภาคม 2551 พันเอกอนุวงศ์ ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 จากการที่จำเลยปกปิดไม่แจ้งแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และหรือที่ประชุมเจ้าหนี้ว่าตนเองมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดก เพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการสอบสวนแล้วเห็นควรดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงดำเนินการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ วันที่ 22 เมษายน 2552 พันเอกอนุวงศ์ในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมของนายบุญวงศ์ ส่งมอบเงินจำนวน 5,300,868.50 บาท ที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากกองมรดกแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 42 เป็นกระบวนพิจารณาหนึ่งเพื่อให้ทราบถึงกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ เหตุผลที่ทำให้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ตลอดจนความประพฤติของลูกหนี้ ว่าได้กระทำหรือละเว้นกระทำการใด ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 หรือตามกฎหมายอื่นเกี่ยวกับการล้มละลาย จำเลยจึงต้องให้การตามความเป็นจริง ทั้งนี้ เมื่อได้ความว่า จำเลยทราบดีว่าตนเองเป็นทายาทซึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนายบุญวงศ์ ทั้งวันที่ 16 มีนาคม 2537 ศาลแพ่งมีคำสั่งตั้ง พันโทอนุวงศ์ นางสาววรศิริ นายเชิดชาย นางวรงค์ศิริ และจำเลยร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญวงศ์ จำเลยมีหน้าที่จะต้องแจ้งแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตั้งแต่ชั้นชี้แจงกิจการและทรัพย์สินถึงสิทธิของจำเลยในทรัพย์มรดก แม้ทรัพย์มรดกยังไม่มีการแบ่งหรือการจัดการ และจำเลยจะทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับทายาทอื่นเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์มรดกรวม 2 ฉบับ ในวันที่ 2 เมษายน 2544 ก็ตาม จำเลยไม่อาจอ้างได้ว่า จำเลยไม่น่าจะได้รับทรัพย์มรดกเนื่องจากเมื่อคำนวณทรัพย์มรดกและหนี้ของกองมรดกแล้วจำเลยคิดว่าไม่มีทรัพย์มรดกเหลือ จึงไม่แจ้งเรื่องดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ดังนั้น การที่จำเลยเบิกความในการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยต่อศาลโดยไม่แจ้งว่าจำเลยมีสิทธิที่จะได้รับทรัพย์มรดกดังกล่าว ทั้งที่จำเลยมีหน้าที่ต้องตอบคำถามของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เกี่ยวกับทรัพย์สินที่จำเลยมีอยู่และมีสิทธิที่จะได้รับมาทั้งหมดโดยละเอียด จึงเป็นการละเว้นไม่แจ้งข้อความอันเป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนเองต่อศาล พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง การที่ศาลล้มละลายกลางกำหนดโทษให้จำคุกจำเลย 8 เดือน นับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน และกองทรัพย์สินได้รับเงินจากทรัพย์มรดกในส่วนของจำเลยแล้ว จึงสมควรรอการลงโทษแก่จำเลยเพื่อให้โอกาสกลับตัวประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไป ที่ศาลล้มละลายกลางไม่รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลล้มละลายกลาง