แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การทำนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอันเป็นตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 นั้น คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องร่วมรู้หรือมีความมุ่งหมายในการนั้น การทำสัญญาประกันอัคคีภัย ผู้ร้องไม่ทราบว่าสินค้าที่เอาประกันภัยเป็นสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์หรือละเมิดเครื่องหมายการค้าซึ่งถือเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย ตัวแทนของผู้ร้องเพียงแต่ถ่ายภาพสินค้าในตู้โชว์สินค้าไว้เพียงภาพเดียว ผู้คัดค้านไม่เคยแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าวให้ทราบว่าเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายหรือไม่และผู้ร้องไม่เคยทราบหรือล่วงรู้ว่าสินค้าที่เอาประกันภัยไว้เป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายเช่นนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องรู้รายละเอียดยี่ห้อนาฬิกาข้อมือ ระดับราคาหรือแหล่งที่มาของนาฬิกาที่ผู้คัดค้านนำมาขายย่อมเห็นได้ว่าผู้ร้องคงมีเจตนารับประกันภัยสินค้านาฬิกาข้อมือที่ผู้คัดค้านมีไว้เพื่อขายโดยทั่วไปเท่านั้น สำหรับข้อเท็จจริงที่ว่านาฬิกาข้อมือดังกล่าวอาจจะมีลักษณะเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายหรือไม่นั้นผู้ร้องมิได้รู้เห็นด้วย สัญญาประกันอัคคีภัยในส่วนสต็อกสินค้านาฬิกาข้อมือจึงทำขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองแก่ทรัพย์สินของผู้คัดค้านกรณีเกิดอัคคีภัยหรือภัยเพิ่มเติมที่ตกลงทำประกันภัย ซึ่งเมื่อผู้คัดค้านเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองสินค้านาฬิกาข้อมือที่มีไว้เพื่อขาย หากนาฬิกาข้อมือได้รับความเสียหายจากอัคคีภัยหรือภัยที่ระบุไว้ ย่อมทำให้ผู้คัดค้านสูญเสียตัวทรัพย์หรือผลประโยชน์ที่จะได้จากทรัพย์สินนั้น ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัย สัญญาประกันภัยระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านหาได้มีวัตถุประสงค์ที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 ผู้ร้องและผู้คัดค้านจึงมีความผูกพันกันตามเงื่อนไขข้อตกลงและความรับผิดในการรับประกันอัคคีภัยที่มีผลบังคับโดยสมบูรณ์
ผู้ร้องอ้างว่า นาฬิกาข้อมือที่ผู้คัดค้านเอาประกันอัคคีภัยสต็อกสินค้าไว้กับผู้ร้องเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย มีเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้อื่นนั้น ก็เป็นข้อเท็จจริงอีกส่วนหนึ่งที่อาจทำให้ผู้คัดค้านถูกดำเนินคดีอาญาฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้อื่น ซึ่งหากศาลในคดีอาญาลงโทษผู้คัดค้านโดยให้ริบสินค้านาฬิกาข้อมือปลอม ผู้คัดค้านก็จะไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินส่วนนั้นอีกต่อไป แต่ตราบใดที่ผู้คัดค้านยังคงยึดถือและครอบครองสินค้านาฬิกาข้อมือที่มีไว้เพื่อขายในฐานะเจ้าของสินค้าเหล่านั้นโดยผู้คัดค้านไม่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับสินค้านาฬิกาข้อมือดังกล่าว ต้องถือว่าไม่มีบุคคลใดมีสิทธิในทรัพย์สินนั้นดีกว่าผู้คัดค้าน หากถือตามที่ผู้ร้องอ้างว่า สัญญาประกันอัคคีภัยกรณีนี้ไม่ให้ความคุ้มครองสินค้านาฬิกาข้อมือที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้อื่น และผู้ร้องไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนสต็อกสินค้านาฬิกาข้อมือที่ผิดกฎหมาย ก็จะเป็นการระงับสิทธิในทางทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งที่ไม่มีการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้คัดค้านในความผิดตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง จึงเสมือนกับผู้ร้องสามารถอ้างเอาว่าการกระทำใดๆ ของผู้คัดค้านเป็นความผิดในทางอาญาก็ได้ ซึ่งไม่น่าจะชอบด้วยเหตุผล การที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระค่าสินไหมทดแทนในส่วนสต็อกสินค้านาฬิกาข้อมือให้แก่ผู้คัดค้าน ก็เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาประกันอัคคีภัยซึ่งมีผลผูกพันคู่สัญญาโดยชอบ คำชี้ขาดในส่วนนี้เป็นการบังคับตามสัญญาเพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเท่านั้น มิได้มีผลกระทบต่อประชาชนโดยส่วนรวมแต่อย่างใด การบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้ผู้ร้องชำระค่าสินไหมทดแทนสต็อกสินค้านาฬิกาข้อมือ 2,012,446.75 บาท จึงหาได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 40 (2) (ข) แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545
การชี้ขาดข้อพิพาทของอนุญาโตตุลาการต้องเป็นไปตามหลักกฎหมาย การกำหนดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้ส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น เมื่อตามสัญญาประกันอัคคีภัยมิได้กำหนดให้ผู้ร้องต้องรับผิดในดอกเบี้ยในกรณีที่ผู้ร้องผิดนัดชำระค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อไปได้ ผู้คัดค้านก็ไม่มีเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมายที่จะเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ได้ทั้งการที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นั้น เห็นว่า เป็นกรณีที่อนุญาโตตุลาการใช้อำนาจกำหนดให้ผู้ร้องชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นกว่าที่ผู้คัดค้านมีสิทธิได้รับตามกฎหมาย แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องหรือวันอื่นหลังจากนั้นโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (6) เมื่อข้อต่อสู้ที่ผู้ร้องยกขึ้นต่อสู้ว่าสินค้าที่นำมาเอาประกันภัยเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย สัญญาประกันภัยไม่คุ้มครอง ซึ่งล้วนแต่เป็นประเด็นโดยตรงและเป็นสาระแก่คดี กรณีจึงไม่มีเหตุให้อนุญาโตตุลาการที่จะกำหนดให้ผู้ร้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ดังนี้ การที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและเข้าเกณฑ์เป็นกรณีที่การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลจึงมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในส่วนที่ให้ผู้ร้องชำระดอกเบี้ยผิดนัดเกินกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีได้ตามมาตรา 40 (2) (ข) แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเฉพาะส่วนที่ให้ผู้ร้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในสต็อกสินค้านาฬิกาข้อมือเป็นเงิน 2,012,446.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินค่าเสียหายของเฟอร์นิเจอร์ 116,800 บาท นับแต่วันยื่นคำเสนอข้อพิพาทเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้คัคค้านยื่นคำคัดค้านและคำร้องขอให้ยกคำร้องและบังคับให้ผู้ร้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 116,800 บาท นับแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2552 เป็นต้นไปจนถึงวันที่เช็คเรียกเก็บเงินได้ และให้ผู้ร้องชำระค่าสินไหมทดแทนในส่วนสต็อกสินค้านาฬิกาข้อมือเป็นเงิน 2,012,446.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้อง และให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยให้ผู้ร้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 116,800 บาท นับแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2552 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2553 แต่ไม่ให้เกิน 13,431 บาท ตามที่ผู้คัดค้านเรียกร้อง และให้ผู้ร้องชำระค่าสินไหมทดแทนในส่วนสต็อกสินค้านาฬิกาข้อมือเป็นเงิน 2,012,446.75 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้คัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องข้อแรกว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้ผู้ร้องชำระค่าสินไหมทดแทนในส่วนสต็อกสินค้านาฬิกาข้อมือ เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อันเป็นเหตุให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือไม่ เห็นว่า การทำนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอันเป็นตามประมวลแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 นั้น คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องร่วมรู้หรือมีความมุ่งหมายในการนั้น การทำสัญญาประกันอัคคีภัยคดีนี้เริ่มจากผู้คัดค้านทำแบบคำขอประกันอัคคีภัยไปยังผู้ร้อง ซึ่งตามเอกสารดังกล่าวระบุว่า ที่ตั้งทรัพย์สิน ร้านที-เลเตอร์ ช็อป เลขที่ 86 ถนนทวีวงศ์ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต เฟอร์นิเจอร์ ทุนประกันภัย 300,000 บาท สต็อกสินค้าทุนประกันภัย 5,700,000 บาท เมื่อผู้ร้องตกลงรับประกันภัยก็ได้ออกกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยให้ ซึ่งมีรายละเอียดตรงกับแบบคำขอประกันอัคคีภัยและผู้ร้องนำสืบอยู่เองว่า ขณะที่ตกลงรับประกันภัย ผู้ร้องไม่ทราบว่าสินค้าที่เอาประกันภัยเป็นสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์หรือละเมิดเครื่องหมายการค้าซึ่งถือเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย ตัวแทนของผู้ร้องเพียงแต่ถ่ายภาพสินค้าในตู้โชว์สินค้าไว้เพียงภาพเดียว ผู้คัดค้านไม่เคยแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าวให้ทราบว่าเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายหรือไม่และผู้ร้องไม่เคยทราบหรือล่วงรู้ว่าสินค้าที่เอาประกันภัยไว้เป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายเช่นนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องรู้รายละเอียดยี่ห้อนาฬิกาข้อมือ ระดับราคาหรือแหล่งที่มาของนาฬิกาที่ผู้คัดค้านนำมาขายย่อมเห็นได้ว่าผู้ร้องคงมีเจตนารับประกันภัยสินค้านาฬิกาข้อมือที่ผู้คัดค้านมีไว้เพื่อขายโดยทั่วไปเท่านั้น สำหรับข้อเท็จจริงที่ว่านาฬิกาข้อมือดังกล่าวอาจจะมีลักษณะเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายหรือไม่นั้นผู้ร้องมิได้รู้เห็นด้วย สัญญาประกันอัคคีภัยในส่วนสต็อกสินค้านาฬิกาข้อมือจึงทำขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองแก่ทรัพย์สินของผู้คัดค้านกรณีเกิดอัคคีภัยหรือภัยเพิ่มเติมที่ตกลงทำประกันภัย ซึ่งเมื่อผู้คัดค้านเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองสินค้านาฬิกาข้อมือที่มีไว้เพื่อขาย หากนาฬิกาข้อมือได้รับความเสียหายจากอัคคีภัยหรือภัยที่ระบุไว้ ย่อมทำให้ผู้คัดค้านสูญเสียตัวทรัพย์หรือผลประโยชน์ที่จะได้จากทรัพย์สินนั้น ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัย สัญญาประกันภัยระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านหาได้มีวัตถุประสงค์ที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 ผู้ร้องและผู้คัดค้านจึงมีความผูกพันกันตามเงื่อนไขข้อตกลงและความรับผิดในการรับประกันอัคคีภัยที่มีผลบังคับโดยสมบูรณ์ ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่า นาฬิกาข้อมือที่ผู้คัดค้านเอาประกันอัคคีภัยสต็อกสินค้าไว้กับผู้ร้องเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย มีเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้อื่นนั้น ก็เป็นข้อเท็จจริงอีกส่วนหนึ่งที่อาจทำให้ผู้คัดค้านถูกดำเนินคดีอาญาฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้อื่น ซึ่งหากศาลในคดีอาญาลงโทษผู้คัดค้านโดยให้ริบสินค้านาฬิกาข้อมือปลอม ผู้คัดค้านก็จะไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินส่วนนั้นอีกต่อไป แต่ตราบใดที่ผู้คัดค้านยังคงยึดถือและครอบครองสินค้านาฬิกาข้อมือที่มีไว้เพื่อขายในฐานะเจ้าของสินค้าเหล่านั้นโดยผู้คัดค้านไม่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับสินค้านาฬิกาข้อมือดังกล่าว ต้องถือว่าไม่มีบุคคลใดมีสิทธิในทรัพย์สินนั้นดีกว่าผู้คัดค้าน หากถือตามที่ผู้ร้องอ้างว่า สัญญาประกันอัคคีภัยกรณีนี้ไม่ให้ความคุ้มครองสินค้านาฬิกาข้อมือที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้อื่น และผู้ร้องไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนสต็อกสินค้านาฬิกาข้อมือที่ผิดกฎหมาย ก็จะเป็นการระงับสิทธิในทางทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งที่ไม่มีการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้คัดค้านในความผิดตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง จึงเสมือนกับผู้ร้องสามารถอ้างเอาว่าการกระทำใดๆ ของผู้คัดค้านเป็นความผิดในทางอาญาก็ได้ ซึ่งไม่น่าจะชอบด้วยเหตุผล การที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระค่าสินไหมทดแทนในส่วนสต็อกสินค้านาฬิกาข้อมือให้แก่ผู้คัดค้าน ก็เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาประกันอัคคีภัยซึ่งมีผลผูกพันคู่สัญญาโดยชอบ คำชี้ขาดในส่วนนี้เป็นการบังคับตามสัญญาเพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเท่านั้น มิได้มีผลกระทบต่อประชาชนโดยส่วนรวมแต่อย่างใด การบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้ผู้ร้องชำระค่าสินไหมทดแทนสต็อกสินค้านาฬิกาข้อมือ 2,012,446.75 บาท จึงหาได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 40 (2) (ข) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในข้อนี้มาจึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องในข้อต่อไปว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้ผู้ร้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ เห็นว่าการชี้ขาดข้อพิพาทของอนุญาโตตุลาการต้องเป็นไปตามหลักกฎหมาย การกำหนดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้ส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น เมื่อตามสัญญาประกันอัคคีภัยมิได้กำหนดให้ผู้ร้องต้องรับผิดในดอกเบี้ยในกรณีที่ผู้ร้องผิดนัดชำระค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อไปได้ ผู้คัดค้านก็ไม่มีเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมายที่จะเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ได้ทั้งการที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นั้น เห็นว่า เป็นกรณีที่อนุญาโตตุลาการใช้อำนาจกำหนดให้ผู้ร้องชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นกว่าที่ผู้คัดค้านมีสิทธิได้รับตามกฎหมาย แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องหรือวันอื่นหลังจากนั้นโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (6) เมื่อข้อต่อสู้ที่ผู้ร้องยกขึ้นต่อสู้ว่าสินค้าที่นำมาเอาประกันภัยเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย สัญญาประกันภัยไม่คุ้มครอง ซึ่งล้วนแต่เป็นประเด็นโดยตรงและเป็นสาระแก่คดี กรณีจึงไม่มีเหตุให้อนุญาโตตุลาการที่จะกำหนดให้ผู้ร้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ดังนี้ การที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและเข้าเกณฑ์เป็นกรณีที่การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลจึงมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในส่วนที่ให้ผู้ร้องชำระดอกเบี้ยผิดนัดเกินกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีได้ตามมาตรา 40 (2) (ข) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคำวินิจฉัยในส่วนนี้ของอนุญาโตตุลาการไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้ผู้ร้องชำระดอกเบี้ยของต้นเงิน 116,800 บาท และ 2,012,446.75 บาท เฉพาะในส่วนดอกเบี้ยที่สูงเกินกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ