คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6563/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 บัญญัติว่า ในการตีความการแสดงเจตนานั้นให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรนั้น หมายถึง กรณีนิติกรรมที่ทำกันไว้มีข้อความไม่ชัดแจ้ง หรือมีข้อความขัดแย้งกัน หรืออาจแปลความหมายได้เป็นหลายนัย จึงให้ตีความการแสดงเจตนาโดยเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงเป็นสำคัญ ยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร แต่ถ้าข้อความในสัญญาชัดเจนแล้วย่อมไม่มีความจำเป็นอย่างใดที่จะต้องตีความแสดงเจตนา ดังนี้ จึงนำบทบัญญัติประมวลกฎหมายและพาณิชย์ มาตรา 171 มาบังคับให้ต้องสืบพยานบุคคลประกอบ เพื่อตีความถึงเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญาหาได้ไม่ เพราะต้องห้ามมิให้นำพยานบุคคลมาสืบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ชำระเงินจำนวน ๑,๔๖๕,๒๘๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ในต้นเงิน ๑,๒๘๘,๑๖๑.๘๔ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์ที่จำนองของจำเลยที่ ๒ ออกขายทอดตลาดชำระหนี้ในวงเงิน ๗๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ ๑ เป็นหนี้โจทก์เฉพาะรายการสินค้าที่นางสาวเสาวลักษณ์ กว้างคณานุรักษ์ ลงลายมือชื่อรับมอบสินค้าเป็นเงินไม่เกิน ๗๐๐,๐๐๐ บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษา ให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินจำนวน ๑,๒๘๘,๑๖๑.๘๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๐ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน ๑๗๗,๑๒๒ บาท หากจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระหรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วน ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๙๗๙๗ พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ ๒ ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ในวงเงิน ๗๐๐,๐๐๐ บาท กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียม แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๓,๐๐๐ บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ ๒ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกา พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ ๒ เป็นกรรมการคนหนึ่ง ลงลายมือชื่อร่วมกับกรรมการอีก ๑ คน ประทับตราบริษัททำการแทนจำเลยที่ ๑ ได้ เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๓๙ จำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาซื้ออาหารกุ้งจากโจทก์โดยโจทก์ให้วงเงินสินเชื่อไม่เกิน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท จากนั้นระหว่างวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๔๐ ถึงวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๔๐ จำเลยที่ ๑ ได้สั่งซื้ออาหารกุ้งจากโจทก์ ๑๘ ครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑,๒๘๘,๑๖๑.๘๔ บาท แต่ยังไม่ได้ชำระราคาแก่โจทก์ ต่อมาวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๐ จำเลยที่ ๒ ได้นำ ที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๙๗๙๗ จดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ให้แก่โจทก์ในวงเงิน ๗๐๐,๐๐๐ บาท ตามสัญญาจำนองพร้อมข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.๕ และ จ.๖
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ ๒ จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ตามสัญญาจำนองพร้อมข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.๕ และ จ.๖ หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ตามสัญญาจำนองพร้อม ข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.๕ และ จ.๖ ซึ่งเป็นสัญญาจำนองระหว่างโจทก์ผู้รับจำนองกับจำเลยที่ ๒ ผู้จำนอง มีข้อความในสัญญาจำนองดังกล่าวแต่เพียงว่า ผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินแก่ผู้รับจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้การซื้อขายอาหารกุ้งที่นางเพ็ญศรี พิทักษธรรม มีต่อผู้รับจำนองทั้งในปัจจุบันและในภายภาคหน้าเป็นเงิน ๗๐๐,๐๐๐ บาท ข้อความในสัญญาดังกล่าวมิได้ระบุว่าเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ ๑ แต่อย่างใด แม้ว่าจำเลยที่ ๒ จะเป็นกรรมการของจำเลยที่ ๑ ก็ตาม แต่ก็มีฐานะแยกเป็นบุคคลหนึ่งต่างหากจากจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด และที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์กับจำเลยที่ ๒ ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน ไม่เคยมีหนังสือถึงกัน การตีความสำคัญจำนองต้องตีตามเจตนาของคู่สัญญาว่าจำนองดังกล่าวเป็นการจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ ๑ ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๑ นั้น เห็นว่า ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๑ บัญญัติว่า ในการตีความการแสดงเจตนานั้น ให้เพ็งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรนั้น หมายถึง กรณีนิติกรรมที่ทำกันไว้มีข้อความไม่ชัดแจ้ง หรือมีข้อความขัดแย้งกัน หรืออาจแปลความหมายได้หลายนัย จึงให้ตีความการแสดงเจตนาโดยเพ็งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงเป็นสำคัญ ยิ่งกว่าถ้วยคำสำนวนหรือตัวอักษรแต่ถ้า ข้อความในสัญญาชัดเจนแล้วย่อมไม่มีความจำเป็นอย่างใดที่จะต้องตีความการแสดงเจตนาซึ่งตามสัญญาจำนองพร้อมข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.๕ และ จ.๖ มีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่าทำสัญญาจำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ ๒ ที่มีต่อโจทก์ ดังนี้ จึงนำบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๑ มาบังคับให้ต้อง สืบพยานบุคคลประกอบ เพื่อตีความถึงเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญาหาได้ไม่ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๔ (ข) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา ๒,๕๐๐ บาท แทนจำเลยที่ ๒

Share