คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1615/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์มิได้ลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องฉบับลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2542 แต่โจทก์ลงลายมือชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าวในภายหลังก่อนที่จำเลยจะยื่นข้อเรียกร้องต่อลูกจ้าง ซึ่งต่อมาก็ได้มีการเจรจาและตกลงกันได้ ทั้งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มิได้ห้ามลูกจ้างลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องเพิ่มเติม จึงถือว่าโจทก์เป็นผู้ลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้อง ดังนั้นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งเกิดจากการยื่นข้อเรียกร้องย่อมมีผลผูกพันโจทก์ตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการยื่นข้อเรียกร้องของทั้งนายจ้างและลูกจ้างย่อมมีทั้งการขอให้เพิ่มและลดเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์อันเกี่ยวกับการจ้างและทำงานซึ่งนายจ้างและลูกจ้างต่างก็มีสิทธิกระทำได้ตามเงื่อนไขและขั้นตอนในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เมื่อต่างฝ่ายต่างได้ยื่นข้อเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเช่นนี้ แต่ละฝ่ายอาจจะได้สิทธิเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตามที่เจรจาต่อรองกันมิใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะได้สิทธิเพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียวโดยลดลงไม่ได้การกระทำของผู้แทนลูกจ้างที่ได้ร่วมเจรจากับนายจ้างตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าว จึงอยู่ภายในขอบอำนาจและผูกพันลูกจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน2541 สังกัดหน่วยตกแต่งเคลือบสีผิว ได้ค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ178 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และ 30 ของเดือน จำเลยมีข้อตกลงการจ่ายเงินโบนัสทำงานครบ 1 ปี ได้รับ 40 วัน ของค่าจ้างโจทก์ทำงานครบ 1 ปี ในปี 2542 จึงมีสิทธิได้รับเงินโบนัส 40 วันของค่าจ้างคิดเป็นเงิน 6,960 บาท กำหนดจ่ายเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม2542 แต่จำเลยไม่ยอมจ่ายให้โจทก์ จำเลยกำหนดวันทำงานสัปดาห์ละ5 วัน หยุดวันเสาร์และวันอาทิตย์ จำเลยได้ให้โจทก์ทำงานในวันเสาร์ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2543 ถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2543 โจทก์มีสิทธิได้ค่าทำงานในวันเสาร์ไม่น้อยกว่า 2 เท่าของค่าจ้าง แต่จำเลยจ่ายให้โจทก์เพียงเท่าเดียว จำเลยจึงจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้โจทก์ขาดไปเป็นเงิน5,968 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินโบนัสแก่โจทก์ 6,960 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ และจ่ายค่าทำงานในวันหยุด 5,968 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2542 ลูกจ้างของจำเลยยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อจำเลย โดยมีโจทก์รวมอยู่ด้วย ทั้งสองฝ่ายตั้งตัวแทนเข้าเจรจา แต่ตกลงกันไม่ได้ต่อมาจำเลยยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อพนักงานที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทแรงงานเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2542 ได้เจรจาแต่ตกลงกันไม่ได้ จำเลยจึงแจ้งข้อพิพาทแรงงานให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทราบตามกฎหมาย พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานไกล่เกลี่ย ในที่สุดตกลงกันได้และทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2543 ซึ่งจำเลยนำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไปจดทะเบียนต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานีแล้ว ตามข้อตกลงข้อ 2 กำหนดให้มีวันทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน เช่นเดียวกับระเบียบข้อบังคับของจำเลย การทำงานในวันเสาร์เป็นการทำงานตามปกติ ข้อตกลงข้อ 4 ระบุเรื่องโบนัสว่าโจทก์ไม่ได้รับเงินโบนัสที่จำเลยจะจ่ายในวันที่ 24 ธันวาคม 2542 ขอให้ยกฟ้อง

โจทก์จำเลยไม่ติดใจสืบพยานบุคคล

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ร่วมลงลายมือชื่อเป็นผู้สนับสนุนข้อเรียกร้องโดยยื่นเพิ่มเติมตามเอกสารหมาย จ.9 แผ่นที่ 5 จึงเป็นผู้เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง ต้องผูกพันตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย ล.3 ซึ่งข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวข้อ 2 กำหนดให้มีวันทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ วันเสาร์จึงเป็นวันทำงานตามปกติ หาใช่เป็นวันหยุดที่นายจ้างต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดจำนวนสองเท่าของค่าจ้างปกติจำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เท่ากับค่าจ้างปกติในวันเสาร์จึงชอบแล้ว และข้อ 4 กำหนดว่าลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องจะขาดสิทธิรับเงินโบนัส โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินโบนัสจากจำเลย พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อแรกของโจทก์ว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย ล.3 มีผลผูกพันโจทก์หรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มิได้มีรายชื่อและลายมือชื่อสนับสนุนในการยื่นข้อเรียกร้องฉบับลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2542 อีกทั้งโจทก์มิได้มีส่วนในการเลือกตั้งผู้แทนเป็นผู้เข้าร่วมในการเจรจาข้อเรียกร้องโจทก์จึงไม่เป็นผู้เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง แม้โจทก์จะลงลายมือชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องภายหลัง ก็ไม่ทำให้โจทก์เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย ล.3 จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ เห็นว่า พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 19 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลผูกพันนายจ้างและลูกจ้างซึ่งลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องนั้น ตลอดจนลูกจ้างซึ่งมีส่วนในการเลือกตั้งผู้แทนเป็นผู้เข้าร่วมในการเจรจาทุกคน” แม้โจทก์จะมิได้ลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องฉบับลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2542เอกสารหมาย ล.8 แต่โจทก์ก็ลงลายมือชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าวในภายหลังเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2542 ตามเอกสารหมาย จ.9 ก่อนที่จำเลยจะยื่นข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างเช่นกัน ซึ่งต่อมาก็ได้มีการเจรจาและตกลงกันได้ตามเอกสารหมาย ล.3 ทั้งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ก็มิได้ห้ามลูกจ้างลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องเพิ่มเติม จึงถือว่าโจทก์เป็นผู้ลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้อง ดังนั้นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมายล.3 ซึ่งเกิดจากการยื่นข้อเรียกร้องย่อมมีผลผูกพันโจทก์ตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อสองของโจทก์มีว่า ตัวแทนของลูกจ้างที่เข้าร่วมเจรจาได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องที่นอกเหนือจากข้อเรียกร้องหรือไม่ได้เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง เป็นการกระทำนอกเหนือจากการที่ได้รับมอบหมายให้เข้าเจรจาตกลงตามข้อเรียกร้องหรือไม่ พิเคราะห์ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย ล.3 แล้ว เห็นว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวเกิดจากการยื่นข้อเรียกร้องของทั้งนายจ้างและลูกจ้างซึ่งมีทั้งการขอให้เพิ่มและลดเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์อันเกี่ยวกับการจ้างและทำงานซึ่งนายจ้างและลูกจ้างต่างก็มีสิทธิกระทำได้ตามเงื่อนไขและขั้นตอนในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เมื่อต่างฝ่ายต่างก็ยื่นข้อเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเช่นนี้แต่ละฝ่ายอาจจะได้สิทธิเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตามที่เจรจาต่อรองกัน มิใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะได้สิทธิเพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียวโดยลดลงไม่ได้ตามที่โจทก์อุทธรณ์ อีกทั้งจำเลยได้ยื่นข้อเรียกร้องฉบับลงวันที่ 16 ธันวาคม 2542 เอกสารหมาย จ.8แผ่นที่ 2 ข้อ 2 ให้มีวันทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ และข้อ 4 ไม่จ่ายผลตอบแทนตามที่จำเลยประกาศไว้ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2542แก่ลูกจ้างที่ไม่ยินยอมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ซึ่งประกาศดังกล่าวปรากฏในเอกสารหมาย จ.7 แผ่นที่ 9 เป็นการปรับลูกจ้างรายวันเป็นลูกจ้างรายเดือน(โจทก์เป็นลูกจ้างรายวัน) และผลตอบแทนในประกาศได้ระบุถึงเงินโบนัสไว้ด้วย ดังนั้นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย ล.3 ข้อ 2 และข้อ 4 จึงเป็นเรื่องที่ปรากฏอยู่ในข้อเรียกร้องของจำเลย ผู้แทนลูกจ้างในคดีนี้ได้รับเลือกตั้งให้เข้าร่วมในการเจรจาต่อรองเกี่ยวกับการยื่นข้อเรียกร้องและได้ร่วมเจรจากับฝ่ายจำเลยต่อเจ้าพนักงานที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี จนในที่สุดทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้และทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย ล.3และทั้งสองฝ่ายลงลายมือชื่อไว้ การกระทำของผู้แทนลูกจ้างจึงเป็นการกระทำภายในขอบอำนาจแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีผลผูกพันโจทก์ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share