คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2313/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ที่จะถูกเพิ่มโทษได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 จะต้องเป็นผู้ที่ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกและได้กระทำความผิดขึ้นอีกภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษ ซึ่งวันพ้นโทษก็คือพ้นโทษจำคุกในคดีก่อนนั่นเอง ดังนั้น เมื่อคดีก่อนศาลลงโทษจำคุกจำเลยแต่ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี จึงไม่มีวันพ้นโทษที่จะถือเป็นเกณฑ์ในการเพิ่มโทษได้ แม้ว่าจำเลยจะมาทำความผิดขึ้นอีกภายใน 5 ปี นับแต่วันครบกำหนดรอการลงโทษก็ตาม ก็เพิ่มโทษมิได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 92, 276, 277 ทวิ, 297 และเพิ่มโทษตามกฎหมาย

จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 วรรคแรก ให้จำคุก 6 ปี ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตามมาตรา 297(8) ให้จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 9 ปี จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 1 ปี ฐานเสพยาเสพติดให้โทษมาแล้ว ภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษ จำเลยได้มากระทำความผิดในคดีนี้อีก จึงให้เพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 หนึ่งในสาม คงจำคุก 12 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย

จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและไม่เพิ่มโทษ

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงข้อเดียวว่า ศาลเพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ได้หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 นั้น ผู้ที่จะถูกเพิ่มโทษได้จะต้องเป็นผู้ที่ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกและได้กระทำความผิดขึ้นอีกภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษ ซึ่งวันพ้นโทษก็คือพ้นโทษจำคุกในคดีก่อนนั่นเอง ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าคดีก่อนศาลลงโทษจำคุกจำเลยแต่ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามสำเนาภาพถ่ายคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ท้ายฎีกา ซึ่งโจทก์ได้รับสำเนาแล้ว ก็มิได้แก้ฎีกาคัดค้านประการใด กรณีเช่นนี้จึงไม่มีวันพ้นโทษที่จะถือเป็นเกณฑ์ในการเพิ่มโทษได้ แม้ว่าจำเลยจะมาทำความผิดขึ้นอีกภายใน 5 ปี นับแต่วันครบกำหนดรอการลงโทษก็ตาม ก็เพิ่มโทษมิได้ ฉะนั้นที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้เพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 มานั้น จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เพิ่มโทษจำเลย จำเลยต้องโทษจำคุกรวม 9 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 4 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

Share