แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 หากโจทก์เห็นว่าการงดสืบพยานไม่ถูกต้อง โจทก์จะต้องโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้เมื่อโต้แย้งแล้วจึงจะอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ภายในหนึ่งเดือนนับแต่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี ตามที่บัญญัติไว้ ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) เมื่อนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งดังกล่าวจนถึงวันนัดฟังคำพิพากษานานประมาณ 45 วันเวลาที่โจทก์จะโต้แย้งได้ ก็หาโต้แย้งไม่ และที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์โจทก์ไว้ซึ่งมีประเด็นที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์รวมอยู่ด้วยก็ไม่ทำให้ประเด็นที่ไม่มีสิทธิอุทธรณ์กลับเป็นสิทธิอุทธรณ์ขึ้นได้ โจทก์จึงฎีกาปัญหาข้อนี้ไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 242(1) และมาตรา 247 โจทก์เคยเบิกความเกี่ยวกับเรื่องทางพิพาทในคดีอื่น ยอมรับว่าถ้าจะใช้ทางพิพาทจะต้องขออนุญาตจาก ส.เจ้าของที่ดินเดิมก่อนเป็นการยอมรับในสิทธิของทางพิพาทว่าเป็นของ ส.และในวันชี้สองสถานโจทก์ยอมรับว่าโจทก์ได้เบิกความไว้จริงโจทก์ ก็มิได้กล่าวอ้างว่าคำเบิกความของตนไม่ถูกต้อง ทั้งมิได้คัดค้านการที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานเพื่อขอนำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น คำเบิกความของโจทก์ในคดีดังกล่าวจึงนำมารับฟังในคดี นี้ได้ว่า โจทก์ต้องขออนุญาตใช้ทางพิพาทจากบุคคลอื่นเมื่อทางพิพาท เปลี่ยนกรรมสิทธิ์มาเป็นของจำเลย จำเลยย่อมได้รับประโยชน์นั้นด้วยแม้โจทก์จะใช้ทางพิพาทนานเท่าใด ก็อ้างสิทธิเป็นทางภาระจำยอมหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 35234ตามฟ้องเป็นที่ดินภารจำยอม ให้จำเลยรื้อถอนเพิงออกจากที่ดินดังกล่าวให้จดทะเบียนเป็นทางภารจำยอม ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย จำเลยให้การต่อสู้หลายประการและว่าจำเลยซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 35234 โดยสุจริตแล้วเสียค่าตอบแทนไม่ได้อยู่ใต้ภารจำยอมของที่ดินโจทก์หรือบุคคลอื่นโจทก์จึงไม่มีสิทธิใช้ที่ดินโฉนดแปลงพิพาทของจำเลยเป็นทางผ่านเข้าออกตามฟ้องโจทก์ได้
วันชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นสอบคู่ความและแถลงรับข้อเท็จจริงว่าโจทก์เคยเบิกความเป็นพยานในคดีของศาลแพ่งหมายเลขดำที่ 396/2525 คดีหมายเลขแดงที่ 13011/2526 ปรากฏตามสำเนาคำเบิกความโจทก์ ลงวันที่ 27 กันยายน 2525 และคดีนั้นศาลพิพากษายกฟ้องปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาท้ายคำให้การจำเลยจริงศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ให้งดสืบพยาน และพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาว่า ศาลชั้นต้นสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยเป็นการชอบหรือไม่ และทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ปัญหาข้อแรกได้ความว่าโจทก์ยอมรับในวันชี้สองสถานตามรายงานกระบวนพิจารณาศาลชั้นต้นลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2527 ว่า นายไสว อยู่เกิด เคยเป็นโจทก์ฟ้องนางสง่า เลาหะกาญจน์ กับพวก ในคดีของศาลแพ่งหมายเลขแดงที่ 13011/2526 คดีนั้นโจทก์ได้เบิกความเป็นพยานไว้ด้วยตามสำเนาคำเบิกความโจทก์กับสำเนาคำพิพากษาคดีดังกล่าว ที่จำเลยแนบมาพร้อมคำให้การจริง และโจทก์มิได้กล่าวอ้างว่า คำเบิกความของตนไม่ถูกต้อง ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยคู่ความไม่ต้องสืบพยานและนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 10 เมษายน 2527คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 หากโจทก์เห็นว่าการงดสืบพยานไม่ถูกต้องควรดำเนินการพิจารณาต่อไป โจทก์จะต้องโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้ เมื่อโต้แย้งแล้วจึงจะอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ภายในหนึ่งเดือนนับแต่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) แต่ปรากฏว่านับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งดังกล่าวจนถึงวันนัดฟังคำพิพากษานานประมาณ 45 วัน มีเวลาที่โจทก์จะโต้แย้งได้ ก็หาโต้แย้งไม่ และที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์โจทก์ไว้ซึ่งมีประเด็นที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์รวมอยู่ด้วย ก็ไม่ทำให้ประเด็นที่ไม่มีสิทธิอุทธรณ์กลับเป็นมีสิทธิอุทธรณ์ขึ้นได้ โจทก์จึงฎีกาปัญหาข้อนี้ไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 242(1) และมาตรา 247 ส่วนปัญหาที่โจทก์ฎีกาว่า ทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมหรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์รับว่าโจทก์ได้เบิกความเกี่ยวกับเรื่องทางพิพาทมาก่อนในสำนวนของศาลแพ่งหมายเลขแดงที่ 13011/2528ตามเอกสารหมาย ล.2 และคำเบิกความดังกล่าวโจทก์ยอมรับว่า ถ้าจะใช้ทางพิพาทจะต้องขออนุญาตจากนายไสว อยู่เกิด เจ้าของที่ดินเสียก่อนแล้ว เป็นการยอมรับในสิทธิของทางพิพาทว่าเป็นของนายไสว อยู่เกิด และในวันชี้สองสถานที่โจทก์ยอมรับว่าโจทก์ได้เบิกความไว้จริงโจทก์ก็มิได้กล่าวอ้างว่าคำเบิกความของตนไม่ถูกต้อง ทั้งมิได้คัดค้านการที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานเพื่อขอนำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น คำเบิกความของโจทก์ในคดีดังกล่าวจึงนำมารับฟังในคดีนี้ได้ว่า โจทก์ต้องขออนุญาตใช้ทางพิพาทจากบุคคลอื่น เมื่อทางพิพาทเปลี่ยนกรรมสิทธิ์มาเป็นของจำเลยจำเลยย่อมได้รับประโยชน์นั้นด้วย แม้โจทก์จะใช้ทางพิพาทนานเท่าใดก็อ้างสิทธิเป็นทางภารจำยอมหาได้ไม่ ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน