แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ในระหว่างการพิจารณาคดีโจทก์จำเลย ตกลงกันให้จำเลยใช้หนี้เพียงบางส่วน โดยส่วนหนึ่งจำเลยต้อง ชำระเป็นเงินสด 100,000 บาท แต่จำเลยกลับชำระเงินสดเพียง40,000 บาท กับออกเช็คเป็นเงิน 60,000 บาท ให้โจทก์และเช็คฉบับนี้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ดังนี้ แม้โจทก์ได้นำเช็คฉบับนี้ มาฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาอีกคดีหนึ่งก็ตาม ก็ไม่เป็นเหตุทำให้สิทธิ ในการฟ้องคดีแรกของโจทก์ระงับไปเพราะโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้สำหรับเช็ค 60,000 บาท ตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน มูลหนี้ตามเช็คในคดีแรกยังคงมีอยู่
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ให้เรียงกระทงลงโทษ กระทงแรกจำคุก 1 ปี กระทงที่สองจำคุก 8 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 เดือน จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยฎีกาโดยมีผู้พิพากษาชั้นต้น ซึ่งในคำพิพากษาเห็นว่าข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่าจำเลยออกเช็คสองฉบับตามฟ้องสั่งจ่ายเงินรวม 436,000 บาท เพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ แม้โจทก์จำเลยจะตกลงกันให้จำเลยใช้หนี้โจทก์เป็นเงินเพียง 200,000 บาท แต่ก็ให้จำเลยชำระด้วยเงินสดเป็นเงิน 100,000 บาท ภายในเวลาที่กำหนดส่วนที่เหลืออีก 100,000 บาท เป็นการออกเช็คชำระหนี้ลงวันที่สั่งจ่ายล่วงหน้า จำเลยชำระหนี้ด้วยเงินสดตามข้อตกลงให้โจทก์เป็นเงินเพียง 40,000 บาทเท่านั้นไม่เป็นไปตามข้อตกลง ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจในการลงโทษจำเลยเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข
ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยได้ออกเช็คชำระหนี้ที่จำเลยต้องชำระด้วยเงินสดส่วนที่เหลือเป็นเงิน 60,000 บาท ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโจทก์ได้นำเช็คดังกล่าวฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาอีกคดีหนึ่ง หลังจากจำเลยยื่นอุทธรณ์คดีนี้แล้ว ความผิดคดีนี้ย่อมระงับไป ขอให้ยกฟ้องนั้นเห็นว่าข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยไม่เป็นเหตุทำให้สิทธิในการฟ้องคดีนี้ระงับไปเพราะเช็คที่สั่งจ่ายเงิน 60,000บาทนั้น ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ตามเช็คพิพาทตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน มูลหนี้ตามเช็คพิพาทในคดีนี้ยังคงมีอยู่โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน