คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 675/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาตรา 10 วรรคห้ากำหนดให้โจทก์จะต้องโต้แย้งหรือแจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนส่งมอบสินค้าว่าจะยื่นคำเรียกร้องขอคืนอากรได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ชำระค่าอากรเพิ่มตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเรียกให้ชำระเพิ่มในวันนำเข้านั้นเอง แต่คดีนี้โจทก์ได้วางหนังสือค้ำประกันของธนาคารเป็นประกันค่าอากรอันเป็นการดำเนินการเพื่อให้สินค้าออกจากอารักขาของจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาตรา 112 และต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ประเมินราคาเพิ่มและแจ้งการประเมินให้โจทก์ชำระอากรขาเข้า และโจทก์ได้ชำระหลังจากที่ได้รับมอบสินค้าแล้ว กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 10 วรรคห้า โจทก์จึงไม่สิ้นสิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากร แม้โจทก์จะมิได้ฟ้องคดีภายใน 2 ปีนับแต่วันนำเข้า แต่พระราชบัญญัติศุลกากรฯ ก็มิได้บัญญัติเกี่ยวกับกำหนดอายุความเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดได้มอบอำนาจให้นายชาญชัย กากแก้ว เป็นผู้ดำเนินคดีแทน เมื่อวันที่ 1กรกฎาคม 2533 โจทก์นำเข้าสินค้าเคมีภัณฑ์ประเภทสไตรีน โมโนเมอร์จำนวน 1,459.665 เมตริกตัน ราคาเมตริกตันละ 935.15 ดอลลาร์สหรัฐซึ่งเป็นราคา ซี.ไอ.เอฟ. ที่โจทก์สำแดงเพื่อเสียภาษีอากร แต่เจ้าหน้าที่ประเมินของจำเลยไม่พอใจในราคา โจทก์จึงใช้หนังสือของธนาคารวางไว้เป็นประกันเพื่อออกของไปก่อน ต่อมาจำเลยมีหนังสือแจ้งการประเมินให้โจทก์ไปชำระค่าภาษีและเงินเพิ่ม โดยประเมินราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นเป็นเมตริกตันละ 1,031.767 ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์นำเงินไปชำระเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2535 การประเมินราคาเพิ่มไม่ชอบ เพราะมิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดในขณะนำเข้าสินค้าของโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียภาษีอากรขาเข้าเกินไปกว่าที่โจทก์พึงต้องเสียจริงเป็นเงินจำนวน 995,827.47 บาท การประเมินเรียกเก็บอากรขาเข้าของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 2 วรรคสิบสอง มาตรา 112 ทวิ และมาตรา 14 จำเลยต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวซึ่งโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ชำระเงิน ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 578,824.70 บาทขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานเกี่ยวกับการประเมินราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 073-22157 ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 1,574,652.17 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 995,827.45 (ที่ถูกน่าจะเป็น 995,827.47) บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ไม่สมบูรณ์นายชาญชัยจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม2533 โจทก์สั่งซื้อและนำสินค้าเข้ามาโดยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเพื่อขอคืนอากรเมื่อส่งออกสินค้าตามมาตรา 19 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482โดยวิธีค้ำประกัน เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยตรวจสอบราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าโดยพิจารณาเทียบกับประกาศราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ของกองวิเคราะห์ราคาสำหรับการนำเข้าในเดือนกรกฎาคม 2533 ซึ่งกำหนดว่ามีราคา ซี.ไอ.เอฟ. เมตริกตันละ1,031.9678 ดอลลาร์สหรัฐ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่พอใจในราคา กรณีมีปัญหาค่าอากร ราคาสินค้าของโจทก์ที่สำแดงไว้มิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด กับไม่อาจเชื่อถือได้ว่าเป็นราคาที่ซื้อขายกันตามปกติวิสัยในทางการค้า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงสั่งให้โจทก์วางประกันค่าอากรตามราคาประกาศและชักตัวอย่างของสินค้าไว้เพื่อตรวจสอบแล้วปล่อยสินค้าให้โจทก์รับไปเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม2533 โดยตรวจพบว่าปริมาณสินค้าที่นำเข้ามีจำนวน 1,478.909เมตริกตัน ต่อมาวันที่ 5 มิถุนายน 2534 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยตรวจพบว่าสินค้าคงเหลืออยู่เต็มจำนวนที่นำเข้า โจทก์มิได้นำสินค้าที่นำเข้าไปผลิตเป็นสินค้าเพื่อส่งออกตามเงื่อนไขมาตรา 19 ทวิแห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 โจทก์ต้องชำระภาษีอากรตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินรวมทั้งเงินเพิ่มการประเมินราคาสินค้าเพิ่มขึ้นของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทำให้โจทก์ต้องเสียอากรขาเข้าและเงินเพิ่มตามฟ้อง โจทก์นำมาชำระค่าภาษีอากรโดยมิได้โต้แย้งคัดค้านการประเมินและไม่เคยแจ้งความไว้ก่อนส่งมอบสินค้าว่าโจทก์จะยื่นคำเรียกร้องขอคืนอากร ซึ่งเป็นกรณีการใช้สิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากรเพราะเหตุอันเกี่ยวกับราคาแห่งของสินค้านั้น โจทก์มิได้ใช้สิทธิฟ้องเรียกร้องขอคืนเงินค่าอากรภายในกำหนดอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่นำสินค้าเข้าแล้วโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่โจทก์จำเลยมิได้โต้แย้งกันฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2533 โจทก์สั่งซื้อสินค้าเคมีภัณฑ์สไตรีน โมโนเมอร์ จากประเทศญี่ปุ่นนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยทางเรือโจทก์ได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยโดยสำแดงราคา ซี.ไอ.เอฟ. เมตริกตันละ 935.15ดอลลาร์สหรัฐ จำนวน 1,459.665 เมตริกตัน ตามที่โจทก์ได้ซื้อมาเพื่อผลิตเป็นสินค้าส่งออก แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่พอใจราคาสินค้าที่โจทก์สำแดง โดยเห็นว่าเป็นราคาต่ำไปและสินค้ามีปริมาณ 1,478.909 เมตริกตัน จึงกำหนดวงเงินให้โจทก์นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารวางเป็นประกันเพื่อออกของไปก่อน ต่อมาจำเลยมีหนังสือแจ้งการประเมินให้โจทก์ไปชำระค่าอากรขาเข้าและเงินเพิ่มโดยประเมินราคาเพิ่มตามประกาศของกองวิเคราะห์ราคากำหนดคือราคา ซี.ไอ.เอฟ. เมตริกตันละ 1,031.9678 ดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากตรวจพบว่าสินค้าที่โจทก์นำเข้ามาในราชอาณาจักร ยังมิได้นำไปผลิตสินค้าเพื่อส่งออกภายในระยะเวลาที่ทางการกำหนดยังคงเหลืออยู่เต็มจำนวน โจทก์ได้นำเงินไปชำระค่าอากรขาเข้าและเงินเพิ่มตามที่จำเลยประเมินเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 30 มกราคม2535 โดยมิได้โต้แย้งคัดค้านการประเมินต่อจำเลย และไม่เคยแจ้งความไว้ต่อจำเลยก่อนว่าจะยื่นคำเรียกร้องขอคืนเงินอากรแต่โจทก์เห็นว่าราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดแล้วจึงยื่นฟ้องเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2542ขอคืนเงินอากรขาเข้าส่วนที่เกินจากราคาสินค้าตามที่โจทก์สำแดงไว้เป็นเงิน 995,827.47 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันชำระเงินไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขอคืนอากรขาเข้าหรือไม่ และคดีขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่าตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้ากรณีที่โจทก์จะต้องโต้แย้งหรือแจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งมอบสินค้าว่าจะยื่นคำเรียกร้องขอคืนอากรก็ต่อเมื่อโจทก์ชำระค่าอากรเพิ่มตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเรียกให้ชำระเพิ่มในวันนำเข้านั้นเอง แต่คดีนี้โจทก์ได้วางหนังสือค้ำประกันของธนาคารเป็นประกันค่าอากรโดยมิได้ชำระค่าอากรอันเป็นการดำเนินการเพื่อให้สินค้าออกจากอารักขาของจำเลยตามที่พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 ได้บัญญัติไว้ ต่อมาเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ประเมินราคาเพิ่มและแจ้งการประเมินให้โจทก์ชำระอากรขาเข้า โจทก์จึงชำระอากรตามที่ได้รับแบบแจ้งการประเมินซึ่งเป็นการชำระหลังจากได้รับมอบสินค้าแล้ว กรณีจึงไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10วรรคห้า แม้โจทก์จะทราบดีอยู่ก่อนว่าอาจต้องถูกประเมินราคาสินค้าเพิ่มขึ้น และต้องชำระอากรเพิ่มขึ้นและมิได้โต้แย้งหรือแจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าจะเรียกร้องเงินส่วนที่อ้างว่าชำระเกินไปคืนและมิได้อุทธรณ์การประเมินดังกล่าวต่อจำเลยก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีนี้ เมื่อกรณีตามฟ้องโจทก์ไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้า ดังได้วินิจฉัยแล้วข้างต้นโจทก์ก็ไม่สิ้นสิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากร แม้โจทก์มิได้ฟ้องคดีนี้ภายใน 2 ปี นับแต่วันนำเข้า เพราะตามพระราชบัญญัติศุลกากรดังกล่าวมิได้บัญญัติเกี่ยวกับกำหนดอายุความในเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 164 เดิม และมาตรา 193/30 ใหม่ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ได้ชำระเงินอากรตามที่ได้รับแจ้งการประเมินดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2535 ยังไม่พ้นกำหนด10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ และศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นต่อไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยอีก…”

พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการประเมินเฉพาะอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 073-22157 ตามฟ้อง ให้จำเลยคืนเงินอากรขาเข้าจำนวน 995,827.47 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ .625 ต่อเดือน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 30 มกราคม 2535 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยดอกเบี้ยถึงวันฟ้องให้ชำระไม่เกิน578,824.70 บาท

Share