คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1275-1278/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เอกสารที่จำเลยยื่นส่งต่อศาลแรงงานกลางเพื่อประกอบการแถลงรับข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าวของคู่ความและศาลแรงงานกลางได้บันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณานั้นมิใช่เอกสารที่จำเลยอ้างประกอบการสืบพยานของจำเลยแต่อย่างใดจึงไม่จำต้องส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่โจทก์ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 90 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมาตรา 31 ทั้งการแถลงรับข้อเท็จจริงของคู่ความดังกล่าวก็เป็นกรณีที่ทำให้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในเอกสารรับฟังเป็นยุติโดยไม่จำต้องนำพยานบุคคลมาสืบเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงอีก เมื่อไม่มีการสืบพยานก็ย่อมไม่มีการสาบานตนของพยานตลอดถึงการซักถามพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 112 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมาตรา 31,45 วรรคสอง

ย่อยาว

คดีทั้งสี่สำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 4

โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องทำนองเดียวกันว่า นายสมศักดิ์ นันชนกผู้ตายเป็นลูกจ้างของจำเลยในตำแหน่งพนักงานประจำสำนักงานอาวุโสโจทก์ที่ 1 เป็นภริยาโจทก์ที่ 2 เป็นบิดา และโจทก์ที่ 3 กับที่ 4 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายตามลำดับ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2541ผู้ตายทำงานตามปกติติดต่อกันเป็นเวลานานหลายชั่วโมงด้วยความเหน็ดเหนื่อยและรีบเร่ง ประกอบกับสภาพแวดล้อมจากการทำงานไม่เหมาะสมเป็นเหตุให้ผู้ตายเป็นลมล้มลงจนถึงแก่ความตาย หลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วโจทก์ทั้งสี่ยื่นคำร้องเรียกเงินทดแทนจากจำเลยเนื่องจากผู้ตายประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่จำเลย แต่จำเลยปฏิเสธการจ่ายเงินทดแทนอ้างว่ามิได้ถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้จำเลย แต่เป็นเพราะโรคประจำตัว จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินทดแทนให้โจทก์ทั้งสี่เป็นจำนวนเงินร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน มีกำหนด 8 ปี นับแต่วันที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสี่ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินทดแทนจำนวน 216,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนกว่าจะจ่ายเงินแก่โจทก์ทั้งสี่เสร็จสิ้น

จำเลยทั้งสี่สำนวนให้การว่า ในวันเกิดเหตุผู้ตายออกไปปฏิบัติงานตามปกติ ขณะที่กำลังเก็บอุปกรณ์ชำรุดอยู่ที่ลานจอดอากาศยานผู้ตายเป็นลมล้มลง ต่อมาจำเลยได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว โดยแพทย์ระบุเหตุแห่งการตายว่าระบบการทำงานของหัวใจล้มเหลว ซึ่งจำเลยเห็นว่ามิได้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำงานให้จำเลยติดต่อกันเป็นเวลานานหลายชั่วโมง แต่เป็นการปฏิบัติงานตามปกติและลักษณะงานของผู้ตายก็มิใช่งานหนักหรือเร่งรีบแต่อย่างใดทั้งผู้ตายมีประวัติเจ็บป่วยเป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวานและไขมันในเลือดสูง ซึ่งโรคดังกล่าวเป็นสาเหตุของการตายของผู้ตายจำเลยจึงไม่จำต้องจ่ายค่าทดแทนตามกฎหมายให้โจทก์ทั้งสี่ จำเลยแจ้งให้โจทก์ทั้งสี่ทราบแล้ว นอกจากนี้โจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการดำเนินการเรียกร้องเงินทดแทน โดยมิได้ยื่นคำร้องหรือยื่นอุทธรณ์ไปยังคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์หรือคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ก่อน เมื่อคณะกรรมการดังกล่าวมีคำวินิจฉัยประการใดแล้วหากโจทก์ทั้งสี่ไม่พอใจจึงมีอำนาจนำคดีขึ้นสู่ศาล นอกจากนี้โจทก์ที่ 3 มีอายุครบ 18 ปีแล้ว และไม่ได้กำลังศึกษาอยู่จึงไม่มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเงินทดแทน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า นายสมศักดิ์ นันชนก ผู้ตายเป็นลูกจ้างของจำเลยในตำแหน่งพนักงานประจำสำนักงานอาวุโสมีหน้าที่ควบคุมดูแลอุปกรณ์สนับสนุนการระวางบรรทุกในลานจอดอากาศยาน ท่าอากาศยานดอนเมืองให้อยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งานก่อนถึงแก่ความตายผู้ตายมีประวัติเจ็บป่วยและเข้ารับการรักษาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2536 ครั้งสุดท้ายตั้งแต่ต้นปี 2541 ถึงวันที่ 13สิงหาคม 2541 ผู้ตายได้รับยารักษาโรคเบาหวาน หลอดเลือดหัวใจตีบยาลดไขมันในเลือดและยาควบคุมการเต้นของหัวใจมาโดยตลอดซึ่งแพทย์มีความเห็นว่าผู้ตายมีอาการโรคเรื้อรังสามารถทำให้ตายโดยฉับพลันได้ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2541 เวลา 9 นาฬิกา ถึง 10 นาฬิกา ผู้ตายออกไปปฏิบัติงานที่ลานจอดอากาศยานแล้วเข้ามาพักผ่อนที่สำนักงานในบริเวณท่าอากาศยาน เวลาประมาณ 10.30นาฬิกา ผู้ตายออกไปปฏิบัติงานที่ลานจอดอากาศยานอีกครั้งหนึ่งใช้เวลาปฏิบัติงานตามหน้าที่ประมาณ 2 นาที ก็ล้มลงและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา แพทย์ให้ความเห็นว่าผู้ตายตายเนื่องจากระบบการทำงานของหัวใจล้มเหลว วินิจฉัยว่า ก่อนตายผู้ตายไม่ได้ทำงานหนักตรากตรำเป็นเวลาหลายชั่วโมงหรือใช้กำลังอย่างมาก ผู้ตายถึงแก่ความตายเนื่องจากระบบการทำงานของหัวใจล้มเหลวมิใช่เป็นการถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน พิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ที่ว่าโจทก์ทั้งสี่ได้ตรวจสอบประวัติการเจ็บป่วยของนายสมศักดิ์นันชนก ผู้ตายตามที่จำเลยอ้างแล้ว ปรากฏว่าตั้งแต่ปี 2536เป็นต้นมาจนถึงวันที่ผู้ตายถึงแก่ความตายพบว่าผู้ตายมีโรคประจำตัวหลายโรค แต่แพทย์ผู้รักษามิได้ให้ความเห็นว่าโรคอะไรเป็นโรคเรื้อรังสามารถทำให้ตายโดยพลันได้ ความเห็นของแพทย์หญิงอรวรรณสุวจิตตานนท์ ที่ว่าผู้ตายมีอาการของโรคเรื้อรังสามารถทำให้ตายโดยฉับพลันได้จึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ และอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ข้อ 2.2 ที่ว่า เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายมิได้มีการชันสูตรพลิกศพหาสาเหตุแห่งการตายที่แท้จริงหรือมิได้มีการพิสูจน์ถึงสาเหตุการตายอย่างแจ้งชัด ก่อนเกิดเหตุมีฝนตกที่ลานจอดอากาศยาน ผู้ตายออกไปปฏิบัติงานที่ลานจอดอากาศยานก้มลงจับรถคาร์โก้คาร์ทเข้าต่อพ่วงล็อก เมื่อผู้ตายยึดตัวเงยหน้าขึ้นจึงล้มลงศีรษะฟาดพื้นสาเหตุดังกล่าวเป็นสาเหตุการตายที่แท้จริงจึงต้องถือว่าผู้ตายถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ก่อนถึงแก่ความตายผู้ตายมีประวัติเจ็บป่วยและเข้ารับการรักษาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2536 ครั้งสุดท้ายแพทย์ตรวจพบว่าผู้ตายป่วยเป็นโรคหัวใจ เบาหวานและไขมันในเลือดสูง ซึ่งแพทย์มีความเห็นว่าเป็นโรคเรื้อรังสามารถทำให้ตายโดยฉับพลันได้ วันที่ผู้ตายถึงแก่ความตายไม่ได้ทำงานตรากตรำเป็นเวลานานหลายชั่วโมงหรือใช้กำลังกายมากกว่าปกติ ผู้ตายถึงแก่ความตายโดยฉับพลันเนื่องจากระบบการทำงานของหัวใจล้มเหลวตามความเห็นของแพทย์ผู้ตรวจรักษาอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ดังกล่าวข้างต้นเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลแรงงานกลางในการรับฟังพยานหลักฐานจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ ซึ่งมีใจความว่าผู้ตายมีโรคประจำตัวซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่ผู้ตายอาจเจ็บป่วยได้ง่ายและจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างทราบดีอยู่แล้ว การที่จำเลยให้ผู้ตายปฏิบัติหน้าที่ประจำลานจอดอากาศยานซึ่งมีเนื้อที่หลายร้อยไร่ผู้ตายต้องทำงานอยู่กับสภาพอากาศที่ไม่คงที่และสภาพของงานต้องถือว่าเป็นงานหนักที่มีความเสี่ยงสูง จึงต้องถือว่าผู้ตายเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานตามประกาศคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง กำหนดชนิดของโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงาน (ฉบับที่ 2)ข้อ 32 ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2538 นั้น เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ดังกล่าวเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงาน ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นเดียวกัน

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ข้อต่อไปว่าจำเลยอ้างเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.3 โดยมิได้ส่งสำเนาให้แก่โจทก์ทั้งสี่ตรวจสอบความถูกต้องก่อน และพยานจำเลยมิได้สาบานตนเบิกความต่อศาล โจทก์ทั้งสี่ไม่มีโอกาสซักค้านพยานจึงรับฟังข้อความตามเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.3 และพยานบุคคลของจำเลยเป็นพยานหลักฐานไม่ได้นั้น เห็นว่า เอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.3 เป็นเพียงเอกสารที่จำเลยยื่นส่งต่อศาลแรงงานกลางเพื่อประกอบการแถลงรับข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าวของคู่ความตามที่ศาลแรงงานกลางบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2544 เท่านั้นมิใช่เป็นเอกสารที่จำเลยอ้างประกอบการสืบพยานของจำเลยแต่อย่างใดจำเลยจึงไม่จำต้องส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่โจทก์ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90บัญญัติไว้ ซึ่งศาลแรงงานกลางต้องนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้ในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31และการแถลงรับข้อเท็จจริงของคู่ความดังกล่าวเป็นกรณีที่ทำให้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.3 รับฟังยุติได้โดยไม่จำต้องนำพยานบุคคลมาสืบเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงอีก เมื่อไม่มีการสืบพยานก็ย่อมไม่มีการสาบานตนของพยานตลอดถึงการซักถามพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 112 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31,45 วรรคสอง ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสี่ อ้างว่าเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.3รับฟังไม่ได้เพราะจำเลยมิได้นำพยานบุคคลตามเอกสารดังกล่าวมาสาบานตนเบิกความต่อศาลทำให้โจทก์ทั้งสี่ไม่มีโอกาสซักค้านพยานจึงฟังไม่ขึ้น อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ข้อสุดท้ายว่าตามสำเนาเอกสารท้ายคำให้การของจำเลยหมายเลข 5 ไม่ปรากฏว่าตั้งแต่ปี 2541 ถึงวันที่ 3 กันยายน 2541 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ตายถึงแก่ความตายนั้นผู้ตายมีประวัติเข้ารับการรักษาพยาบาลแต่อย่างใดแต่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ตั้งแต่ต้นปี 2541 ถึงวันที่ 13สิงหาคม 2541 ผู้ตายได้รับยารักษาโรคเบาหวาน หลอดเลือดหัวใจตีบยาลดไขมันในเส้นเลือด และยาควบคุมการเต้นของหัวใจมาโดยตลอดซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าวไม่มีปรากฏในคำฟ้องและคำให้การ จึงเป็นหลักฐานที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า แม้หนังสือของจำเลยเรื่องการจ่ายเงินทดแทนตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 5 จะไม่ปรากฏว่าตั้งแต่ต้นปี 2541 จนกระทั่งถึงวันที่ 3 กันยายน 2541ซึ่งผู้ตายถึงแก่ความตายผู้ตายได้มีประวัติเข้ารับการรักษาพยาบาลก็ตามแต่คู่ความได้แถลงรับข้อเท็จจริงกันว่าในปี 2541 ถึงวันที่ 13 สิงหาคม(2541) ผู้ตายได้รับยารักษาโรคเบาหวาน หลอดเลือดหัวใจตีบ ยาลดไขมันในเส้นเลือด และยาควบคุมการเต้นของหัวใจมาโดยตลอดตามที่ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางฉบับลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2544 ข้อเท็จจริงจึงเป็นข้อที่ยุติตามคำแถลงรับของคู่ความแล้ว การที่ศาลแรงงานกลางยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัยจึงมิใช่เป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ไม่ปรากฏในสำนวนตามที่โจทก์ทั้งสี่กล่าวอ้าง อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นเดียวกัน”

พิพากษายืน

Share